ประเภทสื่อ
รีวิวสื่อสร้างสรรค์ ชุดความรู้ทีี่ท่านอาจสนใจ หรือกำลังค้นหาอยู่

สุขภาพคนไทย 2565

8 มิถุนายน 2565
โดย แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา

รายงานสุขภาพคนไทยปี 2565 ในวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมสุขภาพกาย สุขภาพจิต การศึกษา ชีวิตการทำงาน เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำในสังคมชุมชนและครอบครัวในแง่มุมต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยในระยะสั้นและระยะยาว นอกเหนือจากรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 แล้วก็ยังมีอีก 10 สถานการณ์เด่นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตสุขภาพกายของคนไทยที่เป็นทั้งเรื่องใหม่และที่ยังรอการแก้ไข เช่น การปลดล็อกกัญชา กัญชงและพืชกระท่อม การโฆษณาอาหารเสริมเกินจริง โรงงานหมิงตี้ระเบิดบทเรียนภัยพิบัติจากโรงงานสารเคมี ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและการปรับตัว อนาคตเกษตรไทยกับเกษตรอัจฉริยะ ไทยกับ RECP และ CPTPP ข้อดีและสิ่งที่ต้องระวังและสุดท้ายเรื่องการเมืองบนท้องถนนกับทางออก ซึ่งรายงานเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นต่อไป

สุขภาพคนไทย 2565

รายงานสุขภาพคนไทยปี 2565 ในวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมสุขภาพกาย สุขภาพจิต การศึกษา ชีวิตการทำงาน เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำในสังคมชุมชนและครอบครัวในแง่มุมต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยในระยะสั้นและระยะยาว นอกเหนือจากรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 แล้วก็ยังมีอีก 10 สถานการณ์เด่นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตสุขภาพกายของคนไทยที่เป็นทั้งเรื่องใหม่และที่ยังรอการแก้ไข เช่น การปลดล็อกกัญชา กัญชงและพืชกระท่อม การโฆษณาอาหารเสริมเกินจริง โรงงานหมิงตี้ระเบิดบทเรียนภัยพิบัติจากโรงงานสารเคมี ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและการปรับตัว อนาคตเกษตรไทยกับเกษตรอัจฉริยะ ไทยกับ RECP และ CPTPP ข้อดีและสิ่งที่ต้องระวังและสุดท้ายเรื่องการเมืองบนท้องถนนกับทางออก ซึ่งรายงานเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นต่อไป

รายงานสุขภาพคนไทย 2564

ขอเรียก 'รายงานสุขภาพคนไทย 2564 ฉบับ COVID-19 มหันตภัยร้ายเขย่าโลก' ว่าเป็นสื่อสร้างสรรค์ไอเท็มเด็ดประจำปีนี้ที่คนไทยทุกคนไม่ควรพลาด เพราะภายในบรรจุเนื้อหาสรุปรวบรวมประเด็นสุขภาพของคนไทยในปี 2563 ที่ผ่านมาไว้อย่างครบถ้วน แน่นครบทุกมิติและทุกประเด็น เหมาะสำหรับทั้งผู้ที่ทำงานด้านสุขภาพ สังคม นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ รวมถึงประชาชนก็อ่านได้ เนื่องจากแม้เป็นข้อมูลทางสุขภาพ แต่ด้วยการจัดวางเนื้อหาทำให้ไม่ใช่ตำราเรียนที่หนักเกินไป . โดยรวมเนื้อหาในหนังสือแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ หมวดตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่ สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ ผลงานดีๆ เพื่อสุขภาพคนไทย มาลองดูรายละเอียดแต่ละส่วนกัน . ส่วนแรก : 10 หมวดตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่ค่ะ มีตัวเลขบทสรุปดัชนีชี้วัดสุขภาพทั้งเรื่องของสุขภาพกาย ใจ อนามัย สิ่งแวดล้อม ฯลฯ แยกเป็นพื้นที่ระดับภาค ไปถึงระดับจังหวัด ตัวอย่างเช่น ผลสำรวจพบว่าคนภาคเหนือมีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่าภาคอื่นๆ หรือ คนภาคกลางมีปัญหาเรื่องของพฤติกรรมสุขภาพมากกว่าภาคอื่น เป็นต้น . ส่วนที่ 2 : 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ ส่วนนี้ก็จะช่วยรวบรวมสถานการณ์เด่นในรอบปีที่ผ่านมา ความน่าสนใจคือไม่ใช่แค่เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ แต่รวมไปถึงสุขภาวะด้านสังคม เช่น ม็อบการเมือง ความรุนแรงในเด็ก หรือกระทั่งสิ่งแวดล้อม เช่น ประเด็นคนกับช้างจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ส่วนนี้จะค่อนข้างสนุกเลย สำหรับคนที่ชอบประเด็นเชิงสุขภาพเชื่อมโยงกับสถานการณ์สังคม . ส่วนที่ 3 : ผลงานดีๆ เพื่อสุขภาพคนไทย ส่วนนี้ทำให้เราผ่อนคลายได้นิดหน่อย ให้กำลังใจเราว่า ขณะสถานการณ์แย่ๆ ช่วงนี้ ก็มีเรื่องดีๆ เหมือนกันนะ เช่น เรื่องนวดไทยได้ขึ้นบัญชีมรดกโลกทางวัฒนธรรม หรือ สสส. คว้ารางวัลองค์กรสร้างเสริมสุขภาพระดับโลก Nelson Mandela . ส่วนที่ 4 : เรื่องพิเศษประจำฉบับ นาทีนี้ไม่พูดถึงคงไม่ได้คือเรื่องของ โควิด 19 ความน่าสนใจคือการสรุปลำดับ Timeline การเกิดโควิดตั้งแต่เริ่มต้นที่ประเทศจีน ในวันที่คนยังเรียกว่า 'โรคปอดบวมลึกลับ' ไปจนถึงการถอดบทเรียนการระบาดรุนแรงในประเทศต่างๆ ทั้งจีน อิตาลี อังกฤษ มาจนถึงการคิดค้นวัคซีนและยารักษาที่มีในปัจจุบัน อ่านแล้วขอบอกว่าสนุกมากๆ ได้ความรู้ทั้งกว้างและลึกจริงๆ . ต้องขอบคุณการทำงานอย่างหนักของผู้จัดทำ ที่สามารถสรุปรวบรวมข้อมูลที่หลากหลายมานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ครบแน่นในทุกมิติเช่นนี้ จึงบอกได้เลยว่า นี่คือไอเท็มสุขภาวะเด็ดที่เราทุกคนไม่ควรพลาดจริงๆ    ขอเรียก 'รายงานสุขภาพคนไทย 2564 ฉบับ COVID-19 มหันตภัยร้ายเขย่าโลก' ว่าเป็นสื่อสร้างสรรค์ไอเท็มเด็ดประจำปีนี้ที่คนไทยทุกคนไม่ควรพลาด เพราะภายในบรรจุเนื้อหาสรุปรวบรวมประเด็นสุขภาพของคนไทยในปี 2563 ที่ผ่านมาไว้อย่างครบถ้วน แน่นครบทุกมิติและทุกประเด็น เหมาะสำหรับทั้งผู้ที่ทำงานด้านสุขภาพ สังคม นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ รวมถึงประชาชนก็อ่านได้ เนื่องจากแม้เป็นข้อมูลทางสุขภาพ แต่ด้วยการจัดวางเนื้อหาทำให้ไม่ใช่ตำราเรียนที่หนักเกินไป . โดยรวมเนื้อหาในหนังสือแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ หมวดตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่ สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ ผลงานดีๆ เพื่อสุขภาพคนไทย มาลองดูรายละเอียดแต่ละส่วนกัน . ส่วนแรก : 10 หมวดตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่ค่ะ มีตัวเลขบทสรุปดัชนีชี้วัดสุขภาพทั้งเรื่องของสุขภาพกาย ใจ อนามัย สิ่งแวดล้อม ฯลฯ แยกเป็นพื้นที่ระดับภาค ไปถึงระดับจังหวัด ตัวอย่างเช่น ผลสำรวจพบว่าคนภาคเหนือมีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่าภาคอื่นๆ หรือ คนภาคกลางมีปัญหาเรื่องของพฤติกรรมสุขภาพมากกว่าภาคอื่น เป็นต้น . ส่วนที่ 2 : 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ ส่วนนี้ก็จะช่วยรวบรวมสถานการณ์เด่นในรอบปีที่ผ่านมา ความน่าสนใจคือไม่ใช่แค่เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ แต่รวมไปถึงสุขภาวะด้านสังคม เช่น ม็อบการเมือง ความรุนแรงในเด็ก หรือกระทั่งสิ่งแวดล้อม เช่น ประเด็นคนกับช้างจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ส่วนนี้จะค่อนข้างสนุกเลย สำหรับคนที่ชอบประเด็นเชิงสุขภาพเชื่อมโยงกับสถานการณ์สังคม . ส่วนที่ 3 : ผลงานดีๆ เพื่อสุขภาพคนไทย ส่วนนี้ทำให้เราผ่อนคลายได้นิดหน่อย ให้กำลังใจเราว่า ขณะสถานการณ์แย่ๆ ช่วงนี้ ก็มีเรื่องดีๆ เหมือนกันนะ เช่น เรื่องนวดไทยได้ขึ้นบัญชีมรดกโลกทางวัฒนธรรม หรือ สสส. คว้ารางวัลองค์กรสร้างเสริมสุขภาพระดับโลก Nelson Mandela . ส่วนที่ 4 : เรื่องพิเศษประจำฉบับ นาทีนี้ไม่พูดถึงคงไม่ได้คือเรื่องของ โควิด 19 ความน่าสนใจคือการสรุปลำดับ Timeline การเกิดโควิดตั้งแต่เริ่มต้นที่ประเทศจีน ในวันที่คนยังเรียกว่า 'โรคปอดบวมลึกลับ' ไปจนถึงการถอดบทเรียนการระบาดรุนแรงในประเทศต่างๆ ทั้งจีน อิตาลี อังกฤษ มาจนถึงการคิดค้นวัคซีนและยารักษาที่มีในปัจจุบัน อ่านแล้วขอบอกว่าสนุกมากๆ ได้ความรู้ทั้งกว้างและลึกจริงๆ . ต้องขอบคุณการทำงานอย่างหนักของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (วปส.) มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้จัดทำ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่สามารถสรุปรวบรวมข้อมูลที่หลากหลายมานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ครบแน่นในทุกมิติ จนขอเรียกได้ว่านี่คือฐานข้อมูลสุขภาวะคนไทย เป็นไอเท็มสุขภาวะเด็ดที่เราทุกคนไม่ควรพลาดจริงๆ   

หลักสูตร วิชาชีวิต

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า ‘ชีวิต’ พวกเราส่วนใหญ่มักนึกถึงสัญลักษณ์แทนความหมายของการ ‘เกิด’ ความเจริญเติบโต ภาพดวงอาทิตย์ที่ทอแสง ต้นอ่อนของใบไม้ดอกไม้ที่ผลิดอกออกใบสดชื่น การออกเดินทาง รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เสียงหัวใจเต้น ฯลฯ หากใครจะเคยนึกถึงว่า ‘ชีวิต’ ย่อมมีความหมายครอบคลุมไปถึงช่วงเวลาแห่งความหม่นหมอง เจ็บปวด กัดกร่อน ผุพัง ผลไม้สุกงอมที่กำลังจะหลุดจากขั้ว ใบไม้ที่พร้อมจะปลิดปลิว ดวงอาทิตย์ที่เตรียมจะลับขอบฟ้าสู่ความมืดมนของยามค่ำคืน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของคำว่า ‘ชีวิต’ ด้วยเช่นกันมิใช่หรือ? . เมื่อมีเกิดก็ย่อมมีดับ มีพบย่อมมีจาก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นธรรมชาติเช่นเดียวกับ ‘ชีวิต’ ที่มีเริ่มต้นย่อมมีดับสลาย ทว่าปัจจุบันเทคโนโลยีและความสามารถทางการแพทย์และสาธารณสุขที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว กลับทำให้เราคิดว่า ‘ความตาย’ หรือการดับสลายกลายเป็นเรื่องไม่ธรรมชาติ เป็นความล้มเหลว เป็นเรื่องเลวร้ายที่เราควรต้องผลักไส ต่อสู้ ซึ่งหลายครั้งการดิ้นรนเพื่อให้พ้นหรือหนีห่างจากความตาย สุดท้ายกลับกลายเป็นการสร้างความทุกข์ทรมานให้กับทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลอย่างแสนสาหัส . จะดีกว่าไหมหากเราได้เตรียมตัวยอมรับว่าแท้จริงแล้ว ‘ความตาย’ เป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติของ ‘ชีวิต’ ที่เราต้องเรียนรู้และยอมรับ หากเราต้องฝึกปรือวิชาชีวิตเพื่อการอยู่อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีดังที่ยุคสมัยนี้มีหนังสือ How to มากมายออกมาในท้องตลาด อีกด้านหนึ่ง เราก็ควรให้ความสำคัญในการฝึกปรือวิชาชีวิตที่เกี่ยวพันกับ ‘การตาย’ อย่างเป็นสุข ตายดี และตายอย่างมีคุณภาพไม่แพ้กัน ไยเราจะเรียนรู้แต่การเกิดและปล่อยให้ความตายเป็นเรื่องปล่อยไปตามยถากรรมโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ หากเราทุกคนเลือกได้ที่จะ ‘ตายดี’ . หนังสือ ‘วิชาชีวิต’ เล่มนี้ เป็น 1 ในสื่อสร้างสรรค์จากโครงการสื่อสารเพื่อส่งเสริมคุณภาพการอยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข ปีที่ 2 ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเนื้อหาในเล่มมีที่มาจากคลิปวิดีโอออนไลน์ทั้งหมด 14 ตอน ครอบคลุมการเรียนรู้เรื่องความตายดีอย่างครบทุกมิติ ทั้งจากแง่มุมของแพทย์ พยาบาล จิตอาสา ผู้ดูแล ผู้ป่วย นักกฎหมาย ฯลฯ . เนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้ จะคลี่ความหมายของคำที่เราเคยได้ยิน แต่ไม่เคยแน่ชัดในความหมายที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็น การดูแลผู้ป่วยในระยะท้าย มีความหมายแตกต่างอย่างไรกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง หรือมีความหมายเดียวกับการยุติการรักษาหรือไม่ การุณฆาตกับการตายดีหรือสิทธิในการเลือกตายเป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า พินัยกรรมกับ Living Well แตกต่างกันอย่างไร . อย่างไรก็ตาม คำว่าเรียนรู้เรื่อง ‘ความตาย’ ใช่ว่าจะไร้ความหมายกับ ‘คนอยู่’ ในหนังสือเล่มนี้ยังมีเนื้อหาที่พูดถึงการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ ผู้ป่วยกับพยาบาล ผู้ดูแลและแพทย์ การหาความคิดเห็นที่สองจากแพทย์ที่ทำการรักษา หรือการเตรียมตัวเขียน Living Well ไว้เสียแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เราสามารถกำหนดและเลือกวิธีการรักษาให้กับตัวเองได้ในวันที่ยังมีสติสัมปชัญญะอย่างสมบูรณ์ . สิ่งที่น่าสนใจคือ การเรียนรู้วิชาชีวิตในระยะท้าย เพื่อนำสู่การตายดีหรือตายอย่างมีคุณภาพนั้นมิได้มองเพียงแค่มิติทางกายหรือสุขภาพ แต่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยการมองมิติของสุขภาวะทางจิตใจ จิตวิญญาณ ความสัมพันธ์ในระหว่างญาติมิตร ครอบครัว ที่ล้วนเกี่ยวโยงเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันที่จะช่วยสนับสนุนให้มนุษย์ทุกคนมีคุณภาพชีวิตตั้งแต่เกิดไปจนถึงวันสุดท้าย . ย่อหน้าสุดท้ายในบทแรกเรื่อง ‘ตายศาสตร์’ โดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีต้นทุนมากมายเพื่อสนับสนุนเรื่องของการตายดี แต่เพียงว่าเรายังไม่ได้ใช้สิ่งที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ เรามีระบบครอบครัวญาติมิตรที่ดูแลและไม่ทอดทิ้งกัน มีศาสนาที่ส่งเสริมความเชื่อเดียวกัน หากเรามีการสื่อสารในเรื่องนี้ให้มากขึ้น ก็จะทำให้เรื่องของการตายดีหรือตายอย่างมีคุณภาพเกิดขึ้นได้ในสังคมอย่างแน่นอน . ชวนกันมาเริ่มก้าวแรก เปิดใจเรียนรู้ถึง ‘ความตาย’ ว่าเป็นเรื่องราวธรรมชาติ วันใดวันหนึ่งเราต้องเผชิญหน้ากับความตาย ไม่ว่าจะเป็นความตายของคนใกล้ชิดหรือสุดท้ายของเราเอง และด้วยความจริงที่ว่าความตายไม่เคยกำหนดหรือบอกเวลาล่วงหน้าได้ การเรียนรู้วิชาชีวิตก็เหมือนการมีต้นทุนเก็บติดไว้ในกระเป๋า ถึงยามฉุกเฉิน เราจะรับมือทุกอย่างได้อย่างมีสติ และนำมาพาชีวิตทั้งตัวเราและคนรอบข้างให้มีคุณภาพไปได้ตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต . ** วิชาชีวิตทั้ง 14 ตอนนอกจากการอ่านในรูปแบบสื่อหนังสือแล้ว ยังสามารถติดตามในรูปแบบสื่อคลิปออนไลน์ใน HealthyMediaHub นี้ได้เช่นเดียวกัน **

คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

เจาะ 5 ประเด็นสำคัญ ในคู่มือเรียนรู้การเท่าทันสื่อฯ สำหรับวัยรุ่นไทยยุคดิจิทัล . ไม่ว่าเราจะอยู่ในเจเนเรชั่นไหน จะใช้เทคโนโลยีมากน้อยเท่าไรก็ตาม มาถึงวันนี้คงต้องยอมรับแล้วว่าสถานการณ์ต่างๆ ในสังคมไทยทุกระดับ กำลังถูกสื่อสารและรับรู้อย่างรวดเร็ว ผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยมเล็กๆ ในมือของทุกคน . และสิ่งที่เราจะต้องยอมรับต่อไปก็คือ สังคมไทยยังกำลังเดินหน้าสู่จุดที่ 'โลกเสมือน' อย่างโลกออนไลน์กำลังรุกเข้ามามีบทบาทต่อทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ ความสุข ความทุกข์ ความสัมพันธ์ รวมถึงการก้าวไปสู่การผลักดันประเด็นและเรื่องราวหลายอย่างให้เกิดขึ้นทั้งทางบวกและลบใน 'โลกของความเป็นจริง' ที่เราใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบัน . จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่วันนี้มีการจัดทำสื่อที่เรียกว่า 'คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ' ขึ้น โดยเล่มแรกจัดทำขึ้นสำหรับการเรียนรู้ในกลุ่มเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีสถิติการใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์สูงที่สุด . เรามา 'แกะกล่องสื่อใหม่' ชิ้นนี้กัน มาดูกันว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในคู่มือเล่มนี้ โดยจะขอสกัดประเด็นเข้มข้นออกมาเป็น 5 ประเด็นสำคัญ กับการตอบคำถามว่า 'ทำไมคู่มือเล่มนี้จึงเหมาะกับวัยรุ่นไทยในยุคดิจิทัล?' . ประเด็นที่ 1 'สร้างทักษะ ไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า' . สิ่งแรกที่น่าสนใจที่สุดในคู่มือการจัดการเรียนรู้ชิ้นนี้คือ ในคู่มือบรรจุไปด้วย 8 กิจกรรมการเรียนรู้ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างทักษะ (Skill) ให้กับเด็ก เป็นทักษะในการเคารพตัวเอง เคารพผู้อื่น เรียนรู้ทักษะทางอารมณ์ ทักษะการท่องโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย เราจะไม่พบการชี้เฉพาะของปัญหาที่ว่า ถ้าถูกกลั่นแกล้งหรือ Bully ต้องทำอย่างไร? หากมีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาหาต้องระวังอย่างไร? ตอบโต้อย่างไร? ซึ่งถ้าเปรียบกับการดูแลสุขภาพ คู่มือเล่มนี้ก็คล้ายๆ กับการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ดี ได้รับวัคซีนที่จำเป็น ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายมีภูมิต้านทานป้องกันเชื้อโรคต่างๆ ในทำนองเดียวกัน หากเด็กๆ ได้ฝึกฝนทักษะที่จำเป็นในการใช้สื่อออนไลน์ที่บรรจุอยู่ในคู่มือเล่มนี้ เขาก็จะมีภูมิรู้เท่าทันสื่อ สามารถดูแลตนเองจากภัยออนไลน์ที่พลิกแพลงมาในหลากหลายรูปแบบได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยั่งยืนกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องหรือเฉพาะหน้าให้กับเด็กๆ ของเรา . ประเด็นที่ 2 'ครบวงจรการเรียนรู้' . คู่มือการจัดการเรียนรู้ฯ เล่มนี้ คณะผู้จัดทำเป็นอาจารย์และคุณครูที่คลุกคลีอยู่กับเด็กๆ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กิจกรรมในคู่มือถูกออกแบบ ทดลองและปรับปรุงในห้องเรียนจริงๆ กับเด็กตัวจริงเสียงจริงขณะเดียวกัน ก็มีการออกแบบอย่างสอดคล้องกับหลักการจัดการเรียนรู้ทางทฤษฎีควบคู่กันไป โดยมีทั้งแนวคิดทฤษฎีหลักเพื่อทำความเข้าใจเรื่องของพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ วิธีการใช้ชุดกิจกรรม รายละเอียดของแต่ละกิจกรรมที่ละเอียดและชัดเจน ระบุทั้งสมรรถนะ แนวคิด จุดประสงค์ ตัวบ่งชี้พฤติกรรม รวมถึงการระบุสื่ออุปกรณ์ที่ใช้ ขั้นตอน การปรับประยุกต์อย่างละเอียด ท้ายกิจกรรมมีการประเมินผลการเรียนรู้ที่ชัดเจนทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เรียกได้ว่าคุณครูที่สนใจสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนได้ทันทีอย่างครบถ้วน . ประเด็นที่ 3 'เรียนรู้ คิดวิเคราะห์ ไม่ท่องจำ' . จุดเด่นที่สุดของคู่มือนี้ที่เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์เลยก็คือ แต่ละกิจกรรมในคู่มือถูกออกแบบมาให้เด็กๆ เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลาย ในระหว่างการทำกิจกรรมเด็กจะได้รับมอบหมายภารกิจต่างๆ มีการจับคู่ จับกลุ่ม ใช้ความคิด แสดงความเห็น อภิปราย รับฟัง วิเคราะห์ และสรุปร่วมกัน ตลอดทั้งคู่มือไม่มีบทเรียนของการท่องจำ ไม่มีบทสรุปด้านเดียวจากผู้สอน มีเพียงขั้นตอนและแนวทางการทำกิจกรรมที่จะช่วยนำทางการจัดการเรียนรู้ให้ไปสู่จุดสุดท้ายที่เด็กจะได้บทสรุปจากการดำเนินกิจกรรมร่วมกันทั้งชั้นเรียน ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ การได้ใช้เวลาทบทวนความคิด และกลั่นกรองออกมาเป็นข้อสรุปด้วยตนเองนั้น จะทำให้จดจำได้ยั่งยืนและยาวนานกว่าการท่องจำ และยังทำให้บรรยากาศห้องเรียนเต็มไปด้วยความสนุกและท้าทาย . ประเด็นที่ 4 'ผู้ใหญ่ เด็ก เดินไปด้วยกัน' . ต่อเนื่องมาจากประเด็นที่ 3 เมื่อคู่มือถูกออกแบบให้เป็นการเรียนรู้ ไม่ใช่การท่องจำ ดังนั้น บทสรุปและสิ่งที่ได้มาในแต่ละกิจกรรมจึงแตกต่าง แปลกใหม่ไปทุกครั้งของการเรียนรู้ แม้จะสรุปออกมาคล้ายกัน แต่สถานการณ์ที่เปลี่ยน รายละเอียดความคิดเห็นของผู้เรียนที่แตกต่างย่อมไม่มีทางซ้ำกัน กิจกรรมทั้ง 8 กิจกรรมในคู่มือเล่มนี้ สร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ไปด้วยกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อเด็กได้พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น ผู้ใหญ่จะได้มีโอกาสฟัง เปิดใจ เข้าใจเด็ก ขณะเดียวกัน เป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ใหญ่จะได้แลกเปลี่ยน นำเสนอความคิดเห็นในอีกแง่มุมหนึ่งที่เด็กอาจจะยังไม่ทันมองกลับไป เพื่อเป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน . ประเด็นที่ 5 'ประยุกต์ใช้ได้ในครอบครัว' . แม้จุดประสงค์หลักเบื้องต้นของคู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเล่มนี้ จะถูกออกแบบเพื่อนำไปใช้ในระบบการศึกษา ให้คุณครูได้นำไปใช้กับเด็กๆ ในห้องเรียนก็ตาม แต่ทั้ง 8 กิจกรรมในคู่มือ หากตัดรายละเอียดในส่วนที่มีความเป็นวิชาการมากๆ ออกไป ก็จะเห็นว่าเราสามารถหยิบยกกิจกรรมนี้ไปใช้ในเรียนรู้ในครอบครัวได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับตามในคู่มือก็ได้ . ตัวอย่างเช่น กิจกรรม 'เหตุผลหรืออารมณ์' ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ทำกิจกรรมได้เข้าใจข้อจำกัดทางการสื่อสารและรับรู้ทางอารมณ์ในโลกออนไลน์ เช่น การส่งสติ้กเกอร์หมายความว่าอย่างไร การใช้ถ้อยคำสั้นๆ ตอบรับทางไลน์ คำว่า "อืม" คำเดียวอธิบายความรู้สึกหรืออารมณ์ได้มากน้อยแค่ไหน ฯลฯ เป็นสิ่งที่กิจกรรมนี้ต้องการให้ผู้ทำกิจกรรมได้ตระหนักและมองเห็น ซึ่งกิจกรรมลักษณะนี้ ครอบครัวสามารถหยิบยกไปเปิดประเด็นเรียนรู้และพูดคุยร่วมกันได้เช่นกัน เพราะเชื่อว่าในทุกบ้าน ก็น่าจะมีประสบการณ์การต้องคาดเดาอารมณ์จากสติ้กเกอร์หรือถ้อยคำการสนทนาผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ที่คลาดเคลื่อน ตกหล่น หรือสับสนด้วยเช่นกัน   **คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จัดทำโดย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ร่วมกับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)**

Hearing Test

ทุกวันนี้เราอาจจะได้ยิน....แต่เราไม่เคยได้รับฟัง โดยเฉพาะเสียงจาก 'คนที่เรารัก' . ในแต่ละปี เมื่อวันเวลาพาเราหมุนเวียนกลับมาครบกำหนด "วันแม่แห่งชาติ" ในปฏิทินเดือนสิงหาคม นับเป็นวาระที่ทุกคนต่างเฝ้ารอว่าวันแม่ปีนี้จะมีอะไรพิเศษๆ ออกมาบ้าง? และสำหรับวันแม่ปีนี้ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แม่ เพจสายสะดือ และ สสส. ได้จับมือร่วมกันผลิตสื่อหนังโฆษณาตัวใหม่ชื่อ Hearing Test โดยฝีมือของครีเอทีฟไดเรคเตอร์มือรางวัล กิตติ ไชยพร จากทีมมานะ และผู้กำกับที่เชี่ยวชาญหนังเชิงทดลอง Social Experiment อย่าง กมลวัฒน์ ชูเตชะ จากบริษัท มีอะไร จำกัด . Hearing Test เป็นภาพยนตร์โฆษณาความยาว 7.39 นาที เกิดขึ้นจากการมองเห็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่าง 'แม่-ลูก' ในบริบทปัจจุบัน ด้วยสภาพความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ผันแปรอย่างรวดเร็ว อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้สายสัมพันธ์ความรักแบบแม่ลูกต้องพลัดหล่นหรือจางหายไปโดยไม่ตั้งใจ อย่างไรก็ตาม บนความเชื่อว่าสายสัมพันธ์ของแม่ลูกนั้น เริ่มต้นครั้งแรก ณ สายสะดือ ที่ผูกพันสองชีวิตไว้ด้วยกันตลอด 9 เดือน แม้ในวันที่สายสะดือถูกตัดขาดออกจากร่างกาย หากสายใยของความเป็นแม่ลูกที่มองไม่เห็นจะยังคงอยู่ แม้จะพร่าเลือน แต่มันไม่เคยหายไปไหน ในความสับสนวุ่นวายของโลกที่หมุนไป ยังมีโอกาสที่สายสัมพันธ์รักนี้จะกลับมาเชื่อมโยงกันได้อีกครั้งเสมอ . ซึ่งภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ หาทางออกและสร้างโอกาสของการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของแม่ลูกให้กลับมาอีกครั้ง ด้วยสิ่งที่เรียกว่า 'การรับฟัง' ที่ไม่ใช่เป็นเพียงการ 'ได้ยิน' . กิตติ ไชยพร ครีเอทีฟไดเรคเตอร์ได้กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังการผลิตหนังเรื่องนี้ไว้ว่า "ผมนึกถึงคำของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ที่ว่า เราได้ยินแต่ไม่เคยฟัง อย่างคำว่า กินข้าวยังลูก? ถ้าเราได้ยินก็จะมีความหมายแค่ แม่ชวนกินข้าว แต่ถ้าเราได้ฟังเราจะรู้ว่าแม่เป็นห่วงนะ แม่รักลูกนะ มันลึกซึ้งแตกต่างกันเยอะเลย" . เบื้องหลังหนังโฆษณาเรื่องนี้ ได้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมผ่านหลากหลายช่องทาง ด้วยโจทย์กว้างๆ ที่ว่า 'มีอะไรที่อยากจะบอกกับแม่หรือลูกของเรา อาจเป็นเรื่องราวที่เคยเข้าใจผิดหรือมีปัญหาระหว่างกันและกัน' ภายใต้คำแนะนำและการทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมนักจิตวิทยา จนสุดท้ายได้ทั้งหมด 6 คู่แม่ลูกที่ปรากฎอยู่ในหนัง โดยระหว่างการถ่ายทำ ผู้ที่ต้องมารับฟังเสียงของแม่และลูกของตัวเองนั้น ทุกคนไม่เคยรู้มาก่อน รู้เพียงแค่ว่าเป็นการมาร่วมแสดงหนังโฆษณารณรงค์การทดสอบการได้ยินเท่านั้น . "หนังเรื่องนี้ทุกอย่างเรียลหมด ดูเหมือนว่าถ้าเราเอาแม่ลูกเขามานั่งเคลียร์กัน ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นนะ แต่สุดท้ายผมกับทีมก็เชื่ออยู่ลึกๆ ว่า สายสะดือที่มองไม่เห็นนี้ ถึงแม้ว่ามันจะขาดกันไปแล้ว แต่สายสัมพันธ์ของแม่กับลูกก็ไม่มีวันที่จะเกิดผลอย่างที่เราไม่คาดฝันได้ มันเป็น Believe ของงานครั้งนี้ เป็น Believe ของมูลนิธิ พิพิธภัณฑ์แม่ เราเชื่อในความเป็นแม่ ว่าต่อให้ลูกจะไปทำอะไรที่ร้ายแรงแค่ไหน สุดท้ายมันจะกลับมาเชื่อมโยงกันได้ ผมไม่เครียดเลยว่ามันจะพัง ไม่มีเลย" กิตติ ไชยพร ให้สัมภาษณ์ไว้ตอนหนึ่ง เมื่อมีคนถามเขาว่า กังวลใจไหมว่าผลลัพธ์จะออกมาแย่ไม่เหมือนตามที่คาดไว้ . และสุดท้ายหลังการถ่ายทำ ทุกอย่างก็ออกมาเหมือนที่ กิตติ ไชยพร กล่าว แม่ลูกทั้ง 6 คู่กับปัญหาความสัมพันธ์ที่แตกต่าง...หนักเบา...ซับซ้อนไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นแม่ที่ผิดหวังจากลูกสาวที่พลาดพลั้งตั้งท้อง แม่ที่ลูกชายเวียนวนกับการเข้าออกคุกมาตลอดหลายปี แม่ที่ลูกๆ พี่น้องมีรอยร้าวผิดใจกันอย่างยากจะประสาน แม่ที่เข้าไปยุ่งกับเรื่องส่วนตัวของลูกมากจนเกินไป ฯลฯ ทุกปัญหาของความสัมพันธ์คลี่คลายและได้รับการเยียวยา อาจจะด้วยระดับที่ไม่เท่ากัน แต่อย่างน้อย หัวใจสองดวงที่เคยมีกำแพงกั้น ก็ได้รับการโอบอุ้ม ปลอบประโลม และขยับเข้ามาชิดใกล้กันมากขึ้นด้วยการรับฟังเสียงความรักของอีกฝ่าย . "หนังเรื่องนี้จะเรียกว่าเป็นหนังหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะมันไม่มีตัวแสดงอะไรเลย ทุกอย่างจริงหมด หนังไม่มีการเทิดทูนพระคุณของแม่ แถมยังจบแบบไม่รู้จะเป็นยังไงต่อไป แต่ในความไม่เคลียร์ ผมคิดว่ามันเคลียร์ไปหมดแล้วว่าหลังจากนี้เราจะต้อง ทำอะไรต่อ มันรู้แล้วเมื่อเราได้ฟังเสียงของอีกฝั่งหนึ่ง" กมลวัฒน์ ชูเตชะ ผู้กำกับที่อยู่เบื้องหลังหนังเรื่องนี้กล่าว และเขายังได้พูดถึงความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนี้ทิ้งท้ายไว้อย่างจับใจว่า . "ผมอยากให้ทุกคนดูแล้วกลับมาคิดถึงความรู้สึกของคนที่รักอีกครั้ง อยากให้คิดถึงตอนที่เราเกิดมากับแม่ เรามีสายสะดือเชื่อมโยงกันอยู่ แต่ระยะเวลาทำให้เราเจอกันน้อยลง พูดกันน้อยลง รู้สึกถึงกันน้อยลง ทำให้เกิดปัญหา อยากให้เมื่อดูจบแล้ว เรากลับมารู้สึกกับแม่หรือลูกของเราอีกครั้งเหมือนในวินาทีที่เราเกิดมา" . ชวนไปชม Hearing Test หนังโฆษณาที่คล้ายจะเข้าไปนั่ง ณ จุดเจ็บกลางความสัมพันธ์ระหว่างเรากับใครสักคน บางครั้งอาจเป็นแม่...พ่อ...หรือใครสักคนที่คุณแคร์ ไปชม...ค้นหา...เรียนรู้...เติบโต...เพื่อให้หัวใจของเราเปิดพื้นที่ด้วยการรับฟังกันและกันอีกครั้ง ให้สายสัมพันธ์ที่เคยแตกร้าว...พังทลาย...เลือนหาย...ได้ปรากฎและเชื่อมโยงเราเข้ากับคนที่เรารักอีกครั้งหนึ่ง

สารคดี The Heart Explorer เดินทางใจ Full Movie

คนรุ่นใหม่ทั้ง 5 คนที่ชีวิตเคยผ่านเรื่องราวสนุกสนาน บางคนออกเดินทางผ่านประสบการณ์ชีวิตที่ไปไกลเกินกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันมากมาย บางคนออกเดินทางผจญภัยในโลกกว้างไปมากมายหลายทวีป และบางคนออกเดินทางผจญภัยไปในการต่อสู้เรื่องราวชีวิตที่ผกผันทั้งของตัวเองและของคนรอบข้าง แต่วันนี้ทั้ง 5 คนมาเริ่มต้นในหมุดหมายเดียวกัน กับภารกิจการออก 'เดินทางใจ' ด้วยการนำทางของครูบาอาจารย์ผู้นำทางความคิดและการเดินทางภายใน ได้แก่ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์, คามิน เลิศชัยประเสริฐ, พระจิตร์ จิตตฺสํวโร, ทิชา ณ นคร และ โจน จันใด . 'การเดินทาง' พยางค์ 3 พยางค์ที่รวมกันกลายเป็นคำ 1 คำ ที่มีคุณค่าและความหมายซ่อนอยู่มากมาย . ว่ากันว่าสักครั้งหนึ่งในชีวิต เราควรออกเดินทางเพียงคนเดียว เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และเติบโตในหลายๆ ด้าน ที่ผ่านมามีกูรูด้านความคิด การเดินทางและการท่องเที่ยวจำนวนมาก ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ บทเรียน และข้อคิดดีๆ ที่การเดินทางท่องโลกได้ย้อนกลับมาทำให้หัวใจและอารมณ์ของเราได้เรียนรู้และเติบโต . แต่ในโลกใบนี้ ยังมี 'การเดินทาง' ในอีกความหมายหนึ่งที่ลึกซึ้งและเอนกอนันต์กว่าการเดินทางภายนอกที่กล่าวไปข้างต้นอีกมากมายนัก เป็นการเดินทางที่ค่อนข้างพิเศษไม่เหมือนการเดินทางครั้งไหนๆ เพราะการออกเดินทางในความหมายนี้ เป็นการออกเดินทางตามลำพังอย่างแท้จริง ไม่มีสัมภาระใดๆ ไม่มีค่าเดินทาง ไม่มีแผนที่ และที่สำคัญไม่มีโรคระบาดใดๆ แม้แต่โควิด-19 ให้ต้องระวัง :) มีแค่สิ่งเดียวที่ต้องใช้คือหัวใจที่พร้อมจะเปิดรับการเรียนรู้ในทุกท่วงทำนองของความคิด อารมณ์ ความรู้สึก เพราะเรากำลังจะชวนกันไปสู่ 'การเดินทาง' ในความหมายที่พิเศษอย่างยิ่ง คือ 'การเดินทางใจ' . "...สถานีต่อไป ราชเทวี...." คือเสียงแรกที่เราได้ยินจากหนังสารคดีชุด The Heart Explorer เดินทางใจ ที่สร้างสรรค์โดย New Heart New World สนับสนุนโดย สสส. ก่อนที่หนังจะค่อยๆ เปิดม่านของการเดินทางออกให้เราได้รู้จัก 5 คนรุ่นใหม่ที่จะเป็นตัวแทนพาเราออก 'เดินทางใจ' . มิ้นท์ - มณฑล กสานติกุล หญิงสาวนักเดินทางผู้โด่งดังจากเพจ I Roam Alone ป้อมปืน - วรวิส สบายใจ คนรุ่นใหม่ผู้เติบโตมากับวิถีการเรียนรู้แบบโฮมสคูล ธันย์ - ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ สาวแกร่งผู้เอาชนะความพิการผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ พลอย - กษมา แย้มศรี สถาปนิกหญิงที่ทำงานเพื่อชุมชน และ พิช - วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล นักแสดงหนุ่มจากผลงานเลื่องชื่อรักแห่งสยาม . คนรุ่นใหม่ทั้ง 5 คนที่ชีวิตเคยผ่านเรื่องราวสนุกสนาน บางคนออกเดินทางผ่านประสบการณ์ชีวิตที่ไปไกลเกินกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันมากมาย บางคนออกเดินทางผจญภัยในโลกกว้างไปมากมายหลายทวีป และบางคนออกเดินทางผจญภัยไปในการต่อสู้เรื่องราวชีวิตที่ผกผันทั้งของตัวเองและของคนรอบข้าง แต่วันนี้ทั้ง 5 คนมาเริ่มต้นในหมุดหมายเดียวกัน กับภารกิจการออก 'เดินทางใจ' ด้วยการนำทางของครูบาอาจารย์ผู้นำทางความคิดและการเดินทางภายใน ได้แก่ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์, คามิน เลิศชัยประเสริฐ, พระจิตร์ จิตตฺสํวโร, ทิชา ณ นคร และ โจน จันใด . แค่ไอเดียเริ่มต้นก็สนุกแล้ว...การพาคนรุ่นใหม่ที่หลายคนอาจสบประมาทว่าอยู่ไกลเหลือเกินจากเรื่องของการเดินทางภายในใจ มาปะทะสังสรรค์ทางอารมณ์ ความคิด กับภารกิจที่ชวนให้เติบโตภายในจาก 5 ครูบาอาจารย์ ตลอดช่วงภารกิจของ 5 นักเดินทาง เราจะมองเห็นแง่มุมความต่างทางความคิดและประสบการณ์ของคนสองวัย มองเห็นความคลุมเครือ อึดอัด ไม่เข้าใจ ของคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามกับอารมณ์ ความรู้สึก และภารกิจที่แสนจะเรียบง่ายแต่แฝงแง่มุมการเรียนรู้ที่เฉียบคม . นี่เป็นตัวอย่างคำถามคำตอบที่น่าสนใจบางส่วนจากสารคดีเรื่องนี้ . มิ้นท์ : "มิ้นท์สงสัยว่า...ภายนอกเราก็เห็นว่าเราจะเดินไปไหน แต่ภายในเราจะเริ่มต้นเดินไปได้ยังไง? อ.ประมวล : "โลกภายในของแต่ละคนไม่เหมือนกัน...เพราะมันเป็นโลกที่เราสร้างขึ้นเอง ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะให้ใครมาเป็นผู้บอกเราได้ เราต้องกลับมารู้เอง เห็นเอง สัมผัสเอง สิ่งนี้คือความหมายของการเดินทาง"   พลอย : "อยากเรียนรู้การผ่อนคลายชีวิต มองเรื่องต่างๆ ให้ง่ายๆ เป็นธรรมชาติ" โจน : "ความล้มเหลวไม่ใช่ปัญหา ตราบใดที่เราเรียนรู้จากมันได้ มันคุ้มค่ามาก...ถ้าเราคิดแบบนี้ได้ เราจะไม่มีความกลัวในชีวิต เราจะไม่สนว่ามันจะสำเร็จหรือล้มเหลว เราจะกล้าที่จะเปิดใจรับสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย ซึ่งนั่นคือพื้นฐานของการสร้างการเรียนรู้และเข้าใจตัวเรา"   ป้อมปืน : "บางทีก็รู้สึกว่าเราไม่อินกับคนอื่น ส่วนตัวคิดว่าถ้าเราอยากจะก้าวข้ามไปสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร                เราน่าจะเข้าใจคนอื่นด้วย" อ.คามิน : "ผมใช้ศิลปะในการเรียนรู้และเข้าใจชีวิต คนทุกคน...เปลี่ยนทุกวัน...ความคิดก็เปลี่ยน เพราะความ                จริงคือการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ก่อนที่จะเข้าใจอดีต อนาคต ก็ต้องเข้าใจปัจจุบันก่อน"   ธันย์ : "การที่เราได้ยินเสียงตัวเอง หรืออยู่กับตัวเองมันมีข้อดียังไงบ้างคะ?" พระจิตร์ : "เวลาที่อยู่กับตัวเอง บทสนทนาด้านในมันจะเกิดขึ้น เสียงหัวใจของเราจะพูดกับเรา เมื่อใดก็ตาม                 ถ้าเราได้ยินเสียงหัวใจตัวเอง เราจะได้ยินเสียงของทุกคนเลย แล้วเราจะดูแลทุกคนได้ดี"   พิช : "ป้ามลมีวิธียังไงที่จะทำให้มองคนโดยไม่ด่วนสรุปหรือตัดสิน" ทิชา : "ผู้ใหญ่ทุกคนล้วนเคยผ่านวันคืนที่เป็นเด็ก ในขณะที่เด็กไม่เคยผ่านวันคืนที่เป็นผู้ใหญ่ จึงเป็นหน้าที่ของ         ผู้ใหญ่ที่จะต้องเป็นฝ่ายที่อดทนและเข้าใจเขาก่อน" . ภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ ถูกตัดเป็นหลายเวอร์ชั่น ฉบับเต็มความยาว 107 นาทีได้รวบรวมเรื่องราวให้มองเห็นภาพทั้งหมด และภาพยนตร์ยังถูกตัดแบ่งออกเป็นอีกทั้งหมด 8 ตอนได้แก่ ตอนที่ 1 เดินทางภายนอก ตอนที่ 2 มิ้นท์ I Roam Alone พบ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ ตอนที่ 3 ป้อมปืน วรวิส สบายใจ พบ อ.คามิน เลิศชัยประเสริฐ ตอนที่ 4 ธันย์ ณิชชารีย์ พบ พระจิตร์ จิตตฺสํวโร ตอนที่ 5 พิช วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล พบ ป้ามล ทิชา ณ นคร ตอนที่ 6 พลอย กษมา แย้มตรี พบ โจน จันใด ตอนที่ 7 อุปสรรคจากการเดินทาง ตอนที่ 8 บทเรียนจากการเดินทาง . เรื่องราวในสารคดีทุกบททุกตอน ถ้อยคำการตั้งคำถามและการค้นหาคำตอบ บทสนทนาประสบการณ์และแง่มุมความคิดที่เรียงร้อยอยู่ในภาพยนตร์สารคดี เชื่อว่าคงจะมีบางห้วงบางตอน บางเรื่องราวที่กระทบหรือสอดคล้องต้องกันกับบางจังหวะบางเรื่องราวในชีวิตของเรา . ในบางครั้งเมื่อชีวิตต้องเจอสถานการณ์บางอย่าง โดยเฉพาะในสถานการณ์ของความทุกข์ บางคำถาม ความลังเล สงสัยไม่แน่ใจที่ผุดขึ้นมาในความคิดและอารมณ์ อาจได้เดินทางมาพบคำตอบที่ซุกซ่อนอยู่ในสารคดีเรื่องนี้ . เราทุกคนล้วนเป็นนักเดินทาง ในโลกภายนอกเราอาจมีข้อจำกัดหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่อาจเดินทางได้ดังเช่นใจปรารถนา แต่บนเส้นทางของการค้นหาโลกภายใน ทุกคนล้วนมีสิทธิและศักยภาพที่เต็มเปี่ยมที่จะออกเดินทางค้นหาขุมทรัพย์และความสุขที่ซ่อนอยู่ได้อย่างเท่าเทียม . ขอเพียงแต่ก้าวแรก ดังคำกล่าวที่ว่า "หนทางนับหมื่นลี้ ต้องเริ่มต้นที่ก้าวแรก" มาเปิดใจให้สารคดีเรื่องนี้ เป็นก้าวแรกในการ 'เดินทางใจ' ของเราไปพร้อมๆ กัน

ผลของการใช้หนังสือนิทาน จ๊ะเอ๋ (ฉบับยาวี-ไทย) ที่มีต่อพัฒนาการของบุตรก่อนวัยเรียนและความสัมพันธ์ในครอบครัวตามบริบทสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

มีผลงานวิจัยผลการศึกษาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าเด็กก่อนวัยเรียนหรือเด็กปฐมวัยนั้น เป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญมากหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นโอกาสทองของพัฒนาการในชีวิต ซึ่งหากพ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่ใช้โอกาสนี้ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เติบโตและมีพัฒนาการที่สมวัยแล้ว ก็อาจจะส่งผลให้พัฒนาการในช่วงวัยต่อไปต้องขาดหกตกหล่น เชื่องช้า หรือไม่สมบูรณ์ไปอย่างน่าเสียดาย . ปัจจัยหรือกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนเด็กๆ ในวัยนี้ ให้เติบโตขึ้นอย่างมีพัฒนาการสมวัยนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่ก็คือความรักความอบอุ่นจากผู้เลี้ยงดูหรือคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งความรักความอบอุ่นนั้นจะแสดงออกได้ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น การกอด หอมแก้ม บอกรัก หรือการทำกิจกรรมดีๆ ที่ทำให้หัวใจของเด็กและผู้ใหญ่เชื่อมโยงกันอย่างสนิทแนบแน่น ไม่ว่าจะเป็น การเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระ การเล่นที่เด็กๆ สนุกและเพลิดเพลิน หรือการอ่านหนังสือนิทานด้วยกัน ฯลฯ . ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีผลการศึกษาและงานวิจัยจำนวนมากที่นำเสนอถึงประโยชน์ของการเล่นที่มีต่อเด็ก ประโยชน์ของการกอด ประโยชน์ของการใช้หนังสือนิทานที่มีต่อพัฒนาการของเด็กๆ แต่ทว่ายังมีผลการศึกษาหรืองานวิจัยจำนวนไม่มากนัก ที่จะแสดงให้เห็นผลที่เชื่อมโยงระหว่างกันของกิจกรรม 2 เรื่องสำคัญ นั่นคือการอ่านหนังสือนิทานกับการเล่น ที่ส่งผลไปถึงพัฒนาการของเด็กและการสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัว . ดังนั้น การที่เครือข่ายพลังอ่านชายแดนใต้ โดยการสนับสนุนของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ได้ทำการวิจัยผลของการใช้หนังสือนิทานเรื่อง 'จ๊ะเอ๋' ในกลุ่มตัวอย่างจากโครงการแม่รุ่นใหม่ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อค้นหาคำตอบของความเชื่อมโยงระหว่างการใช้หนังสือนิทานกับผลที่มีต่อกิจกรรมการเล่น การสร้างปฏิสัมพันธ์และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันในครอบครัว รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาการที่สมวัยของเด็กก่อนวัยเรียน จึงนับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งด้าน พัฒนาการเด็ก และการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการอ่านและการใช้สื่อหนังสือนิทานไปด้วยในคราวเดียวกัน . งานวิจัยฉบับสมบูรณ์นี้มีทั้งหมด 66 หน้า สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับงานวิจัย สามารถเลือกอ่านบทสรุปภาพรวมของงานวิจัยได้อย่างเข้าใจง่าย จากเนื้อหาส่วนที่เป็นบทสรุปสำหรับผู้บริหาร และเนื้อหาส่วนที่เป็นบทคัดย่อของงานวิจัย ซึ่งมีความยาวประมาณ 3 หน้า ก็จะเป็นทางลัดที่สามารถเข้าใจเนื้อหาของงานวิจัยนี้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงวิจัยหรือวงการศึกษา ก็สามารถอ่านกระบวนการวิจัยได้อย่างละเอียด เพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ของตนเองได้ต่อไปเช่นกัน . งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างในโครงการแม่รุ่นใหม่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้จำนวน 205 คน เนื้อหาที่สำคัญของงานวิจัยที่เรียกว่าเป็นหัวใจเน้นๆ น่าจะอยู่ในส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลผลของการใช้หนังสือนิทานเรื่อง 'จ๊ะเอ๋' ในกลุ่มตัวอย่าง มีตัวเลขที่น่าสนใจมากคือ หนังสือนิทานมีผลกับการเล่น 'จ๊ะเอ๋' ระหว่างคุณแม่กับคุณลูก โดยมีเปอร์เซ็นต์แบบก้าวกระโดด จากก่อนอ่านหนังสือนิทานที่กลุ่มตัวอย่างมีการเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกทุกวันแค่ 10.2% แต่พออ่านหนังสือนิทานเรื่องนี้กับลูก กลับมีการเล่นจ๊ะเอ๋กันเพิ่มมากขึ้นเป็น 61% และไม่มีใครที่ใช้หนังสือนิทานเรื่องนี้แล้วไม่เล่นจ๊ะเอ๋กับลูกเลย . ประเด็นนี้น่าสนใจเพราะอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เราเห็นว่า เนื้อหาของหนังสือนิทานมีส่วนในการกำหนดกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างคุณพ่อคุณแม่และกิจกรรมของเด็กๆ ในครอบครัวได้ และหากพลิกวิธีคิดเพื่อต่อยอดไปอีกสักนิด ก็อาจจะนำสู่ความท้าทายที่ว่า หากเราต้องการให้เกิดพฤติกรรมหรือกิจกรรมใดของเด็กปฐมวัย หรือกิจกรรมระหว่างเด็กและครอบครัว ก็สามารถสอดแทรกและส่งเสริมสิ่งนั้นในหนังสือนิทานได้เช่นเดียวกัน . อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือการใช้หนังสือนิทานกับการสร้างปฏิสัมพันธ์หรือความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า หลังการอ่านหนังสือนิทานจ๊ะเอ๋ ผู้ปกครองจำนวน 80.5% มีการกอดลูกทุกวัน เพิ่มมากขึ้นจากก่อนใช้หนังสือนิทานที่มีการกอดลูกทุกวันเพียง 45.9% และผู้ปกครองกลุ่มนี้ยังมีการบอกรักลูกทุกวันเพิ่มขึ้นเป็น 76.1% จากที่ก่อนอ่านหนังสือนิทานมีการบอกรักลูกทุกวันเพียง 42% เท่านั้น . นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่า การใช้หนังสือนิทานจ๊ะเอ๋มีผลต่อพัฒนาการของเด็กใน 3 ลำดับแรกคือ 1. เมื่อกอดหรือเล่นกับลูก เขาจะสดใสและมีความสุข 2. ลูกของฉันอารมณ์ดีและมีนิสัยร่าเริง และ 3. เมื่อฉันคุยกับลูกเขาสามารถจ้องตาและมองหน้าฉันได้นาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การใช้หนังสือนิทานส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะที่เด่นชัดคือเรื่องของอารมณ์และความสุข . งานวิจัยชิ้นนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกหลายๆ ด้าน เช่น ผลสำรวจการใช้เวลาในการอ่านหนังสือนิทานของคุณแม่ เหตุผลสำคัญในการเลือกหนังสือนิทานมาอ่านให้ลูกฟัง อุปสรรคของการใช้หนังสือนิทาน ระยะเวลาของการใช้หนังสือนิทาน...เหล่านี้เป็นต้น . ดังนั้น งานวิจัยชิ้นนี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งสื่อสร้างสรรค์ที่เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษา การพัฒนาเด็ก ตลอดจนคุณพ่อคุณแม่และครอบครัวที่สนใจองค์ความรู้เรื่องการอ่าน การใช้หนังสือนิทาน กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัวสำหรับเด็กปฐมวัย เปรียบได้เป็นทั้งคลังความรู้ และอาวุธที่จะใช้ในการต่อยอดเพื่อพัฒนางานด้านการศึกษาและการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัยและครอบครัว . ชวนกันมาอ่าน...มาศึกษา...มาต่อยอดให้งานวิจัยลงสู่การปฏิบัติที่เห็นผลจริง ไม่ให้งานวิจัยต้องอยู่แต่บนหิ้งดั่งที่คนส่วนใหญ่มักกล่าวปรามาสไว้เสมอมา...

อีเล้งเค้งโค้ง อยู่บ้าน...ต้านโควิด

ท่ามกลางความวุ่นวายสับสนจากการปรับตัวในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในแวดวงสื่อสร้างสรรค์และวรรณกรรม ได้เกิดเรื่องราวดีๆ ขึ้น เมื่อ 'ครูชีวัน วิสาสะ' นักเล่านิทานชื่อดัง ผู้ให้กำเนิดเจ้าห่านหน้าบูดบึ้งที่ขับขานเสียงเพลง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ครองใจเด็กๆ มามากกว่า 20 ปี ได้รังสรรค์เรื่องราวพิเศษ 'อีเล้งเค้งโค้ง อยู่บ้าน ต้านโควิด' ขึ้นมา ซึ่งนอกจากจะเป็นสื่อสร้างสรรค์สอนเด็กๆ ให้สู้กับไวรัสตัวร้ายนี้แล้ว ในอีกทางหนึ่ง ยังเป็นเสมือนน้ำทิพย์เย็นๆ ชโลมหัวใจให้เด็กและผู้ปกครองได้ชุ่มชื่นไปกับความน่ารักจากนิทานเรื่องนี้ด้วย . อีเล้งเค้งโค้ง เป็นนิทานขวัญใจเด็กๆ ที่ดำเนินเรื่องผ่านเจ้าห่านหน้าบูดบึ้ง ที่เปล่งเสียงร้องเป็นเพลง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อประเทศไทยประสบวิกฤติในหลายๆ ครั้ง ครูชีวันก็มักจะนำเจ้าห่าน 'อีเล้งเค้งโค้ง' มาคอยเป็นคู่หูให้กับเด็กๆ ในทุกสถานการณ์เสมอ ไม่ว่าจะเป็น อีเล้งเค้งโค้งลุยน้ำท่วม ในช่วงวิกฤติน้ำท่วมปี พ.ศ.2554 ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อเป็นเพื่อนคลายเครียดให้กับเด็กๆ ที่ต้องไปอยู่ตามสถานพักพิงต่างๆ นอกจากนี้ยังมี อีเล้งเค้งโค้งสู้ภัยแล้ง ในปี พ.ศ.2559, อีเล้งเค้งโค้งเดินป่ามณฑาธาร ที่จัดทำขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ป่าตามเส้นทางเดินป่าอนุรักษ์ธรรมชาติ . มาถึงต้นปี พ.ศ.2563 นี้ ความน่ารักจอมกวนของเจ้าห่านอีเล้งเค้งโค้ง เดินทางมาถึงวาระพิเศษ 'อีเล้งเค้งโค้ง อยู่บ้าน ต้านโควิด' เนื้อเรื่องของนิทานเป็นการช่วยคลี่คลาย ทำให้เด็กๆ เรียนรู้และเข้าใจสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นได้ด้วยอารมณ์ที่ผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด เจ้าห่านน้อยและเพื่อนสนิทรับเชิญอย่าง คุณเงา คุณฟอง คุณหอย ยังช่วยคุยช่วยสอนเด็กๆ ให้รู้ว่าเขาควรทำหรือไม่ควรทำอะไรอย่างไรในสถานการณ์นี้ นอกจากนี้ ยังสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม ความกล้าหาญ การเอาชนะวิกฤติด้วยความดีไว้ตอนท้ายของเรื่องเล่าได้อย่างงดงาม . สื่อสร้างสรรค์นิทานในวาระพิเศษเช่น 'อีเล้งเค้งโค้ง' นับเป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมให้กับคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และผู้ใหญ่ที่ต้องดูแลบุตรหลานในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ เพราะการอธิบายสถานการณ์รวมถึงการสอนเรื่องการดูแลตัวเองให้เด็กซ้ำๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก แต่ถ้าทำผ่านนิทานแล้ว เด็กๆ จะเชื่อ ยอมรับ และเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งไปถึงหัวใจ โดยปราศจากความกลัวหรือความกังวลใดๆ . ทั้งนี้ เนื่องจากประโยชน์ของสื่อนิทานที่มีต่อเด็กๆ นั้น นอกจากจะเสริมสร้างเรื่องของการรักการอ่าน ทักษะทางภาษา และช่วยกระชับความสัมพันธ์ของครอบครัวในระหว่างการเล่าหรือฟังนิทานแล้ว สื่อนิทานยังมีประโยชน์ต่อเด็กๆ ในการขยายมุมมองและสร้างทัศนคติการเอาชนะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตในแง่บวก . ตัวเอกในเรื่องเล่าหรือในนิทานอย่างเจ้าอีเล้งเค้งโค้ง จะช่วยให้เด็กๆ เชื่อมโยงตัวเขาเองไปกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้อย่างง่ายดาย เรื่องราวในนิทานจะช่วยเผยและคลี่คลายมุมมองของเด็กๆ ให้มองเห็นทางออกของสถานการณ์ที่พวกเขากำลังเผชิญ การรับมือกับสถานการณ์นั้นๆ รวมไปถึงการนำเสนอแนวคิดและทางแก้ไขปัญหาให้กับเด็กๆ ได้อีกด้วย . นอกจากนั้นแล้ว ในสถานการณ์ของโลกปัจจุบันที่กำลังตึงเครียดและยังมองไม่เห็นทางออกที่ชัดเจนนัก นิทานคือตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เด็กๆ มองปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยแนวคิดที่ยืดหยุ่น แน่นอนว่าเด็กๆ จำเป็นต้องมองเห็นปัญหา แต่พวกเขาก็จำเป็นต้องมองเห็นความหวังและทางออกด้วยเช่นกัน เรื่องราวของตัวเอกในนิทานจะเข้ามาช่วยเด็กๆ ในจุดนี้ ให้เด็กๆ ได้มองเห็นความเชื่อมโยงของปัญหาในชีวิตจริงของเขา ขณะเดียวกัน เรื่องราวในนิทานจะเป็นความหวังให้กับเด็กๆ เพราะสุดท้ายแล้วมันจะแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายเพียงใด ขอเพียงเรามีความพร้อมและความเชื่อมั่น สุดท้ายแล้วเราจะสามารถผ่านมันไปได้ด้วยดีอย่างแน่นอน . ความพิเศษของ 'อีเล้งเค้งโค้ง อยู่บ้าน ต้านโควิด' ไม่ได้โดดเด่นแค่เรื่องราวเท่านั้น แต่อีเล้งเค้งโค้งวาระพิเศษนี้ยังเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาว่าง แต่งแต้มระบายสีสันให้กับนิทานเรื่องนี้ได้ตามจินตนาการของตนเอง ซึ่งการที่เด็กๆ ได้มีโอกาสระบายสีสันลงในนิทานนั้น นอกจากการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้ว สิ่งนี้ยังคล้ายเป็นสัญลักษณ์ที่ส่งต่อไปยังเด็กๆ ว่า พวกเขาทุกคนเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างสรรค์ เติมแต่งความงดงาม ก่อให้เกิดเรื่องราวดีๆ คลี่คลายวิกฤติปัญหาครั้งนี้ให้ผ่านไปได้ ร่วมกับผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในสังคมเช่นเดียวกัน . น่าดีใจที่ขณะนี้มีภาคีเครือข่ายด้านการอ่าน ภาคีเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน ได้ร่วมมือกันจัดพิมพ์ 'อีเล้งเค้งโค้ง อยู่บ้าน ต้านโควิด' นี้ขึ้นมาเป็นรูปเล่มเพื่อแจกฟรี รวมถึงให้ดาวน์โหลดฟรีได้ในทุกครอบครัว เป็นหนึ่งในการส่งต่อความหวังและกำลังใจให้กับเด็กๆ ในทุกพื้นที่ ว่าวันนี้เด็กๆ จงอดทน ช่วยเหลือกัน มีเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รวมถึงปฏิบัติตัวในชีวิตวิถีใหม่อย่างเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาระยะห่างทางสังคม อยู่บ้าน งดออกไปเล่นหรือทำกิจกรรมสนุกๆ ทั้งหลายที่เด็กๆ ชอบ . เพื่อว่าวันหนึ่ง...เราจะชนะโรคนี้...และเพื่อมีเสียงเพลงดังขึ้นอีกครั้ง....อีเล้งเค้งโค้ง   ขอบคุณข้อมูล https://nepeantutoring.com.au/the-benefits-of-fairy-tales/

รู้เท่าทันข่าว (News Literacy)

เราอยู่ในยุคที่ ‘ข่าวปลอม’ ระบาดไวไม่แพ้เชื้อไวรัส ในขณะที่ไวรัสจู่โจมเราได้แค่ร่างกาย แต่ข่าวปลอมกำลังทำร้ายเราทั้งใจ สังคม และปัญญา . ปี 2020 ได้ถูกจารึกไว้แล้วว่าเป็นห้วงเวลาสำคัญที่มนุษย์เราเผชิญหน้ากับโรคอุบัติใหม่จากเชื้อไวรัส ‘โควิด-19’ ที่กำลังระบาดไปทั่วโลกด้วยอัตราที่รวดเร็ว ท่ามกลางสถานการณ์สับสนและตื่นตระหนกต่อโรคอุบัติใหม่ สิ่งที่กำลังแพร่ระบาดรุนแรงไม่แพ้กัน คือการกระจายของ ‘ข่าวปลอม’ หรือ Fake News ที่กำลังบุกทะลวงทำร้ายผู้คนในสังคมให้บาดเจ็บ ไม่ใช่เฉพาะร่างกาย แต่ข่าวปลอมกำลังส่งผลกระทบ ต่อมนุษย์ทั้งด้านใจ สังคม และปัญญาอย่างที่สุด . ดังนั้น หากเราจำเป็นต้องมีหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือในการรับมือกับไวรัสแล้ว ข่าวปลอมก็จำเป็นต้องใช้ ‘การรู้เท่าทัน’ เป็นภูมิต้านทานสำคัญไม่ให้เราต้องได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน . คู่มือ ‘รู้เท่าทันข่าว News Literacy’ เป็น 1 ในอาวุธอันทรงพลังที่จะช่วยให้ผู้คนในสังคมได้รู้จัก เข้าใจ และรู้เท่าทันข่าวปลอมอย่างรอบด้านและมีสติ ด้วยรูปเล่มกระทัดรัด จำนวนหน้าเพียง 24 หน้าที่กระชับเรื่องราวของข่าวปลอมเข้ามาให้คนอ่านได้เรียนรู้เรื่องนี้อย่างง่ายๆ และสะดวกรวดเร็ว . เนื้อหาจากคู่มือเล่มนี้ จะช่วยกรอบความคิดเราให้มองเห็นจุดร่วมของข่าวปลอม ลักษณะที่เราสามารถสังเกตได้ของข่าวปลอม ทั้งยังช่วยให้เราได้มองเห็น และเปลี่ยนความเข้าใจหรือความเชื่อเก่าๆ ที่คิดว่า ‘ข่าวปลอม’ ต้องเป็นข่าวที่ ‘ปลอม’ หรือมีข้อมูลที่เป็น ‘เท็จ’ ทั้งหมด เพราะปัจจุบันนี้ ข่าวปลอมอาจมาในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นการปลอมแค่บางส่วน การปลอมแบบไม่ได้ตั้งใจ ความไม่รู้ หรือการปลอมของข่าวที่เกิดขึ้นด้วยการพยายามใช้อารมณ์ในการปลุก กระตุ้นอคติ ความเกลียดชัง หรือการปลอมด้วยความมุ่งหวังในการเปลี่ยน หรือจุดสร้างอะไรบางอย่างในใจของผู้อ่านอย่างซับซ้อนและล้ำลึก ก็นับรวมเป็นข่าวปลอมด้วยเช่นกัน . นอกจากนั้นแล้ว เนื้อหาภายในคู่มือเล่มนี้ยังตีแผ่ให้เรามองเห็นวัตถุประสงค์ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ข่าวปลอมที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน ข่าวที่เต็มไปด้วยเนื้อหาของการล้อเลียนเสียดสีที่ดูตลกขบขัน อาจกลายเป็นข่าวปลอมที่เกิดขึ้นเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นความสนใจหรือความเข้าใจบางอย่างของคนในสังคม หรือการปลอมของข่าวบางชิ้น กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้กับผู้ปล่อยข่าว ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการโฆษณาที่มาจากการคลิกเข้าชมของผู้อ่าน หรือการยอมเปิดเผยข้อมูลของผู้อ่านที่ทำไปอย่างพลั้งเผลอด้วยความอยากรู้อยากเห็นหรือไม่ทันระแวดระวังตัว . สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในคู่มือเล่มนี้ คือการตีเข้าไปตรงใจของคนอ่าน ที่เคยเข้าใจว่าตัวเองมีความรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม แต่เนื่องจากความปลอมที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบและมีการใช้จิตวิทยาที่ซับซ้อน รวมถึงอาศัยพฤติกรรมและช่องโหว่ของการส่งต่อข่าวสารในยุคปัจจุบัน กลายเป็นจุดอ่อน ที่ทำให้ตัวเราและคนในสังคมทุกเพศทุกวัยมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม ไม่ว่าจะเป็นการโน้มน้าวให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตาม มีปฏิกิริยาทางอารมณ์ในลักษณะการเลือกข้าง หรืออาศัยพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบันที่นิยมอ่านอะไรสั้นๆ แทรกข่าวปลอมเข้าไปในพาดหัวข่าวทำให้คนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อด้วยความไม่รู้เท่าทัน . สถิติที่ปรากฏในคู่มือเล่มนี้ระบุไว้ว่า กลุ่มที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมมากที่สุด คือกลุ่มคนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตาม ในหลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ เราพบว่าข่าวปลอมกำลังรุกทำร้ายคนในทุกเพศทุกวัยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เรื่องของการรู้เท่าทันข่าว การแยกแยะข่าวปลอมออกจากข้อเท็จจริง จึงกลายเป็น ‘ทักษะสำคัญ’ ที่พลเมืองทุกคนจำเป็นต้องมีติดตัว . เพราะวันนี้ผลกระทบของข่าวปลอมไม่ได้ส่งผลแค่คนที่รับข่าวปลอมเพียงคนเดียว แต่สังคมการสื่อสารออนไลน์กลายเป็นเชื้อไฟอย่างดีที่หนุนให้ข่าวปลอมหลายข่าวลุกพรึ่บแผ่ขยายไปจนสุดระงับได้ภายในเวลาแค่พริบตาเดียว ส่งผลเสียและผลกระทบในสังคมวงกว้างทั้งในด้านความคิด ความเชื่อ สร้างความรุนแรง และอาจขยายผลกระทบไปจนถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมให้พังครืนลงได้ภายใต้ข่าวปลอมๆ เพียงข่าวเดียว . การใช้ชีวิตในสังคมยุคปัจจุบันนี้ เป็นสังคมที่มีคนขนานนามว่า ‘ช่างแสนจะอยู่ยาก’ ขึ้นทุกวัน เราคนตัวเล็กๆ คงหยุดโลกให้เปลี่ยนกลับมา ‘อยู่ง่าย’ ไม่ได้ แต่เราช่วยกันให้ทุกคน ‘อยู่ดี’ มีความสุขในสังคมได้ ด้วยการรู้เท่าทันข่าวปลอม ‘เช็คก่อนเชื่อ ชัวร์ก่อนแชร์’ คาถาสร้างความรู้เท่าทันจะเป็นเกราะคุ้มกันเราทุกคนให้รอดพ้นจากการแพร่ระบาดของข่าวปลอมชนิดที่วัคซีนไหนๆ ในโลกก็สู้ไม่ได้ !  

การบริหารจัดการเวลาบนโลกดิจิทัล (Screen Time Management)

“เวลา” เป็นสิ่งเดียวในชีวิตที่เราได้มาฟรีๆ แต่มีความหมายและคุณค่ามากที่สุด เราทุกคนต่างใช้ชีวิตบนท่วงทำนองแห่งเวลาที่มีตัวเราเองเป็นผู้กำหนดว่า จะใช้เวลานั้นไปกับอะไร มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม สภาพชีวิตในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะคนเมือง มีปัจจัยทางสภาพเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาเป็นตัวกำหนด จนทำให้คนส่วนใหญ่ตกอยู่ในภาวะ “ไม่มีเวลา” หรือรู้สึกว่า “เวลาไม่พอ” กับการที่จะทำสิ่งต่างๆ ที่ดีและส่งผลให้ชีวิตมีคุณภาพมากขึ้น . เรามักจะบอกว่า “ไม่มีเวลา” กับการออกกำลังกาย เรามักจะบอกว่า “ไม่มีเวลา” กับเลือกอาหารดีมีประโยชน์ เรามักจะบอกว่า “ไม่มีเวลา” กับการอ่านหนังสือ เรามักจะบอกว่า “ไม่มีเวลา” ที่จะเล่นกับลูก เรามักจะบอกว่า “ไม่มีเวลา” ดูแลและพูดคุยกับพ่อแม่             ฯลฯ . แต่เราอาจจะไม่เชื่อเลยว่า ในแต่ละวัน หากเรามาสังเกตช่วงเวลาที่ใช้ไปในวิถีชีวิตประจำวันอย่างถี่ถ้วน เราจะพบว่าเราใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์มากถึงเกือบ 10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งนั่นคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของวัน และเชื่อไหมว่าเราแต่ละคนหยิบมือถือขึ้นมาดูเฉลี่ยถึง 150 ครั้งต่อวัน รวมถึงมีการใช้งานออนไลน์บนมือถือไปอีกเกือบ 5 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว . แต่พูดมาถึงตอนนี้ก็ใช่ว่าจะชวนคุณผู้อ่านถึงขั้นปิดโลกออนไลน์ วิ่งหนีเข้าป่าตามหาความหมายชีวิตกันไปอะไรเบอร์นั้น หากเพียงแค่ว่า อยากลองชวนคิดชวนคุย และชวนมาตั้งคำถาม มองหาทางออกด้วยการเรียนรู้ทักษะใหม่ของคนในยุคนี้ที่เรียกว่า ทักษะการบริหารจัดการเวลาบนโลกดิจิทัล หรือ Screen Time Management กันดู เผื่อจะทำให้เราหลุดพ้นจากโรค “ไม่มีเวลา” ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตของคนยุคดิจิทัลกันได้บ้าง . มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ได้จัดทำหนังสือคู่มือการบริหารจัดการเวลาบนโลกออนไลน์ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ให้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้ตระหนักถึงความสำคัญ เข้าใจ และเรียนรู้ในการจัดการปัญหาเรื่องนี้อย่างรอบด้านและเป็นขั้นเป็นตอน หนังสือมีความยาว 24 หน้า 4 สีสวยงาม ออกแบบนำเสนอข้อมูลเนื้อหาด้วยภาพเชิงอินโฟกราฟิก ทำให้อ่านง่ายสบายตา . เนื้อหาภายในหนังสือ ประกอบด้วยสถานการณ์ สถิติ และสภาพปัญหาของการใช้สื่อออนไลน์อย่างไม่สมดุลในชีวิตทั้งในกลุ่มของเด็ก ผู้ใหญ่ และบริบทของครอบครัว ชี้ให้เห็นว่าการหมกมุ่นในโลกออนไลน์โดยละทิ้งการดำเนินชีวิตในด้านอื่นๆ จะส่งผลทั้งด้านสุขภาพกาย ใจ สติปัญญา รวมถึงปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคม โดยหลายครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นโยงใยเกี่ยวพันกันจนบางครั้งเราอาจไม่เคยมองเห็นรากของปัญหาที่แท้จริง . หนังสือเล่มนี้นำเสนอการบริหารจัดการเวลาของเราบนโลกดิจิทัลแบบง่ายๆ ด้วยเคล็ดลับ 3 P คือ Plan Power Off และ Play เป็นหลักการไม่ยากที่ถ้าใครตั้งใจทำจริงจังก็สามารถปฏิบัติได้เลยโดยไม่ต้องซื้อหาลงทุนอะไรเพิ่มเติม สิ่งที่ดีเยี่ยมในหนังสือเล่มนี้คือ หลายครั้งเรามักเพ่งปัญหาเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชน แต่หนังสือเล่มนี้ยังสะท้อนปัญหาครอบคลุมในบริบทของผู้ใหญ่ ที่บางครั้งเองก็ตกหลุมพรางของการไม่รู้เท่าทันการใช้งานออนไลน์จนเกินพอดีด้วยเช่นกัน รวมถึงยังมีมุมมองที่มองเห็นภาพใหญ่ของการบริหารจัดการเวลาไม่เป็นของผู้ใหญ่ ที่ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดพฤติกรรมการบริหารเวลาในโลกดิจิทัลที่ไม่เหมาะสมในเด็กด้วยเช่นกัน . ในโลกนี้มีหลายอย่างที่เรารอได้ และมีอีกหลายอย่างที่อาจไม่เคย “มีเวลา” เพียงพอที่จะรอเรา ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของคนที่เรารัก สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงของตัวเราเองและคนรอบข้าง ฯลฯ เราเองต้องเป็นผู้กำหนดว่าจะปล่อยเวลาให้สิ่งเหล่านี้ล่วงเลยผ่านไปตามยถากรรม หรือจะลุกขึ้นมาบริหารจัดการเพื่อให้เรา “มีเวลา” เพียงพอสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของตัวเราและคนที่เราแคร์

keyboard_arrow_up

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่.