ถูกแชร์ทั้งหมด
รายละเอียด
เราอยู่ในยุคที่ ‘ข่าวปลอม’ ระบาดไวไม่แพ้เชื้อไวรัส
ในขณะที่ไวรัสจู่โจมเราได้แค่ร่างกาย แต่ข่าวปลอมกำลังทำร้ายเราทั้งใจ สังคม และปัญญา
.
ปี 2020 ได้ถูกจารึกไว้แล้วว่าเป็นห้วงเวลาสำคัญที่มนุษย์เราเผชิญหน้ากับโรคอุบัติใหม่จากเชื้อไวรัส ‘โควิด-19’ ที่กำลังระบาดไปทั่วโลกด้วยอัตราที่รวดเร็ว ท่ามกลางสถานการณ์สับสนและตื่นตระหนกต่อโรคอุบัติใหม่ สิ่งที่กำลังแพร่ระบาดรุนแรงไม่แพ้กัน คือการกระจายของ ‘ข่าวปลอม’ หรือ Fake News ที่กำลังบุกทะลวงทำร้ายผู้คนในสังคมให้บาดเจ็บ ไม่ใช่เฉพาะร่างกาย แต่ข่าวปลอมกำลังส่งผลกระทบ ต่อมนุษย์ทั้งด้านใจ สังคม และปัญญาอย่างที่สุด
.
ดังนั้น หากเราจำเป็นต้องมีหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือในการรับมือกับไวรัสแล้ว ข่าวปลอมก็จำเป็นต้องใช้ ‘การรู้เท่าทัน’ เป็นภูมิต้านทานสำคัญไม่ให้เราต้องได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
.
คู่มือ ‘รู้เท่าทันข่าว News Literacy’ เป็น 1 ในอาวุธอันทรงพลังที่จะช่วยให้ผู้คนในสังคมได้รู้จัก เข้าใจ และรู้เท่าทันข่าวปลอมอย่างรอบด้านและมีสติ ด้วยรูปเล่มกระทัดรัด จำนวนหน้าเพียง 24 หน้าที่กระชับเรื่องราวของข่าวปลอมเข้ามาให้คนอ่านได้เรียนรู้เรื่องนี้อย่างง่ายๆ และสะดวกรวดเร็ว
.
เนื้อหาจากคู่มือเล่มนี้ จะช่วยกรอบความคิดเราให้มองเห็นจุดร่วมของข่าวปลอม ลักษณะที่เราสามารถสังเกตได้ของข่าวปลอม ทั้งยังช่วยให้เราได้มองเห็น และเปลี่ยนความเข้าใจหรือความเชื่อเก่าๆ ที่คิดว่า ‘ข่าวปลอม’ ต้องเป็นข่าวที่ ‘ปลอม’ หรือมีข้อมูลที่เป็น ‘เท็จ’ ทั้งหมด เพราะปัจจุบันนี้ ข่าวปลอมอาจมาในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นการปลอมแค่บางส่วน การปลอมแบบไม่ได้ตั้งใจ ความไม่รู้ หรือการปลอมของข่าวที่เกิดขึ้นด้วยการพยายามใช้อารมณ์ในการปลุก กระตุ้นอคติ ความเกลียดชัง หรือการปลอมด้วยความมุ่งหวังในการเปลี่ยน หรือจุดสร้างอะไรบางอย่างในใจของผู้อ่านอย่างซับซ้อนและล้ำลึก ก็นับรวมเป็นข่าวปลอมด้วยเช่นกัน
.
นอกจากนั้นแล้ว เนื้อหาภายในคู่มือเล่มนี้ยังตีแผ่ให้เรามองเห็นวัตถุประสงค์ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ข่าวปลอมที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน ข่าวที่เต็มไปด้วยเนื้อหาของการล้อเลียนเสียดสีที่ดูตลกขบขัน อาจกลายเป็นข่าวปลอมที่เกิดขึ้นเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นความสนใจหรือความเข้าใจบางอย่างของคนในสังคม หรือการปลอมของข่าวบางชิ้น กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้กับผู้ปล่อยข่าว ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการโฆษณาที่มาจากการคลิกเข้าชมของผู้อ่าน หรือการยอมเปิดเผยข้อมูลของผู้อ่านที่ทำไปอย่างพลั้งเผลอด้วยความอยากรู้อยากเห็นหรือไม่ทันระแวดระวังตัว
.
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในคู่มือเล่มนี้ คือการตีเข้าไปตรงใจของคนอ่าน ที่เคยเข้าใจว่าตัวเองมีความรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม แต่เนื่องจากความปลอมที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบและมีการใช้จิตวิทยาที่ซับซ้อน รวมถึงอาศัยพฤติกรรมและช่องโหว่ของการส่งต่อข่าวสารในยุคปัจจุบัน กลายเป็นจุดอ่อน ที่ทำให้ตัวเราและคนในสังคมทุกเพศทุกวัยมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม ไม่ว่าจะเป็นการโน้มน้าวให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตาม มีปฏิกิริยาทางอารมณ์ในลักษณะการเลือกข้าง หรืออาศัยพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบันที่นิยมอ่านอะไรสั้นๆ แทรกข่าวปลอมเข้าไปในพาดหัวข่าวทำให้คนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อด้วยความไม่รู้เท่าทัน
.
สถิติที่ปรากฏในคู่มือเล่มนี้ระบุไว้ว่า กลุ่มที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมมากที่สุด คือกลุ่มคนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตาม ในหลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ เราพบว่าข่าวปลอมกำลังรุกทำร้ายคนในทุกเพศทุกวัยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เรื่องของการรู้เท่าทันข่าว การแยกแยะข่าวปลอมออกจากข้อเท็จจริง จึงกลายเป็น ‘ทักษะสำคัญ’ ที่พลเมืองทุกคนจำเป็นต้องมีติดตัว
.
เพราะวันนี้ผลกระทบของข่าวปลอมไม่ได้ส่งผลแค่คนที่รับข่าวปลอมเพียงคนเดียว แต่สังคมการสื่อสารออนไลน์กลายเป็นเชื้อไฟอย่างดีที่หนุนให้ข่าวปลอมหลายข่าวลุกพรึ่บแผ่ขยายไปจนสุดระงับได้ภายในเวลาแค่พริบตาเดียว ส่งผลเสียและผลกระทบในสังคมวงกว้างทั้งในด้านความคิด ความเชื่อ สร้างความรุนแรง และอาจขยายผลกระทบไปจนถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมให้พังครืนลงได้ภายใต้ข่าวปลอมๆ เพียงข่าวเดียว
.
การใช้ชีวิตในสังคมยุคปัจจุบันนี้ เป็นสังคมที่มีคนขนานนามว่า ‘ช่างแสนจะอยู่ยาก’ ขึ้นทุกวัน เราคนตัวเล็กๆ คงหยุดโลกให้เปลี่ยนกลับมา ‘อยู่ง่าย’ ไม่ได้ แต่เราช่วยกันให้ทุกคน ‘อยู่ดี’ มีความสุขในสังคมได้ ด้วยการรู้เท่าทันข่าวปลอม ‘เช็คก่อนเชื่อ ชัวร์ก่อนแชร์’ คาถาสร้างความรู้เท่าทันจะเป็นเกราะคุ้มกันเราทุกคนให้รอดพ้นจากการแพร่ระบาดของข่าวปลอมชนิดที่วัคซีนไหนๆ ในโลกก็สู้ไม่ได้ !