ประเภทสื่อ
สื่อสร้างสรรค์: เท่าทันสื่อ อำนาจในมือพลเมืองดิจิทัล
สื่อสร้างสรรค์: เท่าทันสื่อ อำนาจในมือพลเมืองดิจิทัล
29 มกราคม 2561
โดย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย)
14
ถูกแชร์ทั้งหมด

รายละเอียด

จิ๊กซอว์ความรู้ เท่าทันสื่อสู่ความเป็นพลเมืองยุคดิจิทัล

 

ดิจิทัล (digital) อาจเรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีอิทธิผลเปลี่ยนแปลงชีวิตของมนุษย์ในยุคศตวรรษนี้มากที่สุด โดยเฉพาะ การสื่อสารดิจิทัลเข้ามามีบทบาทเปลี่ยนรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิต จนเกิดคำที่เรียกว่า สื่อเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตทั้งนี้ เพราะรูปแบบการสื่อสารโดยเฉพาะการสื่อสารในโลกออนไลน์ ได้เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สิ่งที่เห็นได้ง่ายและชัดเจนที่สุดคือ ทุกวันนี้เราทุกคนสามารถพูดคุยกับคนอีกซีกโลกได้เพียงแค่พรมนิ้วพิมพ์ลงบนหน้าจอสมาร์ทโฟน ข้อมูลและความรู้หลากหลายมีรอพร้อมอยู่ให้เราได้ค้นหา ทุกภาษา ทุกรูปแบบ เลือกได้ตามใจปรารถนา หรือบางครั้งแม้เรายังไม่ทันเลือก แต่สมองอัจฉริยะในโลกอินเทอร์เน็ตก็ประมวลประวัติการใช้งานของเรา วิเคราะห์ และจัดหาข้อมูลที่เราสนใจมาให้พร้อม ราวกับมีความหยั่งรู้เดาใจความคิดของเราได้อย่างแม่นยำ

 

อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น และเรียกได้ว่าเป็นการพลิกปรากฏการณ์รูปแบบการสื่อสารในอดีตอย่างสิ้นเชิง นั่นคือโลกดิจิทัลได้มอบอำนาจการสื่อสารให้พลเมืองธรรมดาทุกคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เปลี่ยนตัวเองจาก ‘ผู้รับสารกลายเป็น ผู้ส่งสาร คนธรรมดา ๆ หลายคนลุกขึ้นมากลายเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด เป็นซุปเปอร์สตาร์ในโลกอินเทอร์เน็ต ทุกคนมีช่องทางที่จะแสดงความคิดเห็น เผยแพร่เรื่องราวของตัวเองไปยังคนจำนวนมากในโลกออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องแคร์หรือพึ่งพาสื่อหลักเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

 

และก็เหมือนเช่นทุกอย่างในโลกใบนี้ที่มีสองด้าน ท่ามกลางความหอมหวานของอำนาจสื่อในมือของพลเมืองดิจิทัล ความจริงอีกด้านที่กำลังผุดพลุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วตามกันมาติด ๆ คือการใช้อำนาจสื่อในทางที่ผิด ดังปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของข่าวเท็จ การหลอกลวง การใส่ร้ายป้ายสี กลั่นแกล้ง ด่าทอ แบ่งข้างความคิดอย่างสุดโต่งในโลกออนไลน์จนหลายครั้งลุกลามส่งผลกระทบมาสู่ชีวิตในโลกความเป็นจริงอย่างร้ายแรงจนคาดไม่ถึง

 

นั่นจึงเป็นที่มาของการเกิดหนังสือเล่มนี้ ‘เท่าทันสื่อ อำนาจในมือพลเมืองดิจิทัลซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการประมวลและต่อจิ๊กซอว์ความรู้เรื่องการเท่าทันสื่อกับการสร้างพลเมือง (ที่ดี) ในยุคดิจิทัลให้เราผู้อ่านซึ่งเป็นคนธรรมดาสามัญได้เข้าใจและเห็นภาพของประเด็นเรื่องนี้ได้ชัดเจนครบถ้วนมากขึ้นก็ว่าได้

 

เนื้อหาตั้งต้นในหนังสือเล่มนี้ ตกผลึกมาจากการจัดงานสัมมนาระหว่างประเทศในประเด็นเรื่องการรู้เท่าทันสื่อฯ ของ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง Thai Civic Education Center (TCE) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ร่วมกับการรวบรวมค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องจากหน้าเว็บไซต์ สำนักข่าว งานศึกษาวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงการสัมภาษณ์บุคคลที่น่าสนใจในบางประเด็น ในระหว่างช่วงเดือน พฤศจิกายน 2560 – มีนาคม 2561

 

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ จึงเรียกได้ว่ามีการผสมผสานทั้งเนื้อหาที่เป็นเชิงความรู้วิชาการ และเรื่องราวจากสถานการณ์จริง ความคิดเห็นของบุคคลจริงร่วมสมัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้เขียนนำมาย่อย ปรุงรส จนกลายเป็นหนังสือที่กลมกล่อม ไม่เคร่งเครียดหรือหนักจนอ่านไม่ไหว และก็ไม่เบาเป็นปุยนุ่นจนไม่มีหลักฐานมารองรับให้น่าเชื่อถือ

 

เนื้อหาในเล่มแบ่งออกเป็น 10 บท เมื่ออ่านไล่เรียงกันไป ก็จะทำให้ค่อย ๆ คลี่ภาพการรู้เท่าทันสื่อและบทบาทของพลเมืองในโลกดิจิทัลอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่แนวคิด MIDL ไล่เรียงไปจนถึงบทบาทของพลเมือง การเท่าทันข่าวปลอม บทบาทและประสบการณ์การใช้แนวคิด MIDL ในไทยและต่างประเทศ แนวคิดและตัวอย่างพลังของสื่อดิจิทัลในมือของพลเมืองทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การรณรงค์เปลี่ยนแปลงประเด็นต่าง ๆ ในสังคม ไปจนถึงกรอบความเข้าใจในภาพรวมของการกำกับดูแลสื่อเชิงนโยบายจากองค์กรที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง

 

หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับทั้งนักวิชาการ นักการศึกษา นักสื่อสาร ผู้ที่สนใจงานด้านสื่อและหน้าที่พลเมือง รวมไปจนถึงพลเมืองโลกดิจิทัลที่ใช้การสื่อสารออนไลน์ (ซึ่งก็คือพวกเราทุกคนนั่นแหละ) เมื่ออ่านแล้วจะได้มองเห็นภาพการรู้เท่าทันสื่ออย่างหลากหลายมิติ โดยเฉพาะตัวอย่างการใช้สื่อจริงของกลุ่มบุคคลในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกรณีการคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ การสื่อสารเพื่อความเข้าใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือประสบการณ์การถ่ายทำสารคดี ‘แม่โขงโนแมด เพื่อสร้างความเข้าใจของคนในสังคม ที่มีต่อคนที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยมุมมองและสายตาของคนรุ่นใหม่ที่ต่างจากการนำเสนอของสื่อกระแสหลัก ฯลฯ

 

มาถึงวันนี้แล้ว....โลกที่หมุนเร็วทำให้เราไม่อาจที่จะหยุดหรือปิดกั้นใครออกจากเทคโนโลยีหรือการสื่อสารในโลกดิจิทัลได้อีกต่อไป ดังนั้นทางเลือกเดียวที่เราจะทำได้คือ การเตรียมตัวเองให้พร้อมและเผชิญหน้ากับโลกดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน ดังเช่นนักเดินทางที่เตรียมพร้อมก่อนออกเดินทาง แผนที่ที่แม่นยำในมือ ทักษะการเดินทางที่ฝึกฝนอย่างเชี่ยวชาญ รวมถึงปัญญาที่จะมองเห็นทั้งภัยและโอกาส ย่อมพาให้พวกเราทุกคนเดินทางในโลกดิจิทัลได้อย่างฉลาด ปลอดภัย ไม่พลัดหลง และสามารถใช้ ‘อำนาจ ในมือที่กำลังคลิกเม้าท์หรือพิมพ์บนคีย์บอร์ดของเรา สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมได้อีกมากมาย

 

            เหมือนดังเช่นทุกอย่างที่มีสองด้าน

            โลกดิจิทัลก็เช่นเดียวกัน....

            จะเลือกด้านดีหรือด้านร้าย

            อำนาจอยู่ในมือเรา...พลเมืองดิจิทัล

keyboard_arrow_up

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่.