ประเภทสื่อ
รีวิวสื่อสร้างสรรค์ ชุดความรู้ทีี่ท่านอาจสนใจ หรือกำลังค้นหาอยู่

ฟังเสียงเพื่อนซึมเศร้า

25 พฤศจิกายน 2562
โดย ธนาคารจิตอาสา

ซึมเศร้า...เยียวยาได้ด้วย ‘การฟัง’   เมื่อโลกโซเชียลเชื่อมโยงเราเข้ามาใกล้กัน เรื่องราวชีวิตหลายๆ เรื่องถูกส่งผ่านเข้ามาสู่การรับรู้ ‘ซึมเศร้า’ กลายเป็นอาการคุ้นหู เมื่อปรากฎอยู่ในข่าวการสูญเสียที่น่าเศร้าใจมากมายหลายต่อหลายครา เราผู้รับข่าวสารรู้สึกถึงดีกรีของความหนักหนาสาหัสของปัญหา และหลายๆ ครั้งเราพบว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าค่อยๆ เขยิบเข้าใกล้เรามากขึ้นๆ จากบุคคลในข่าว คนมีชื่อเสียงที่เรารู้จัก คนที่เราชื่นชอบ มาสู่กลุ่มคนที่เรารู้จัก ใกล้เข้ามายังกลุ่มเพื่อน และบางทีแทบจะเข้ามาเคาะรั้วบ้านถึงคนในครอบครัวเรา   ปัญหาของคนใกล้ชิดผู้ที่มีอาการหรือภาวะซึมเศร้าอันดับหนึ่งคือ “จะทำอย่างไรเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากำลังระบายความทุกข์ในใจให้เราฟัง?” จำได้ว่า สู้ๆ คือ คำต้องห้าม แล้วจะอย่างไรดีเล่า? ปัญหาที่ถูกระบายกองล้นอยู่ตรงหน้า จะอ้าปากพูดอะไรก็กลัวจะผิดพลาด กลายเป็นทำร้ายคนตรงหน้าไป แต่ก็คันปากยิบๆ อยากจะแนะนำเสียเหลือเกิน...ไปๆ มาๆ คนที่กำลังรับฟัง กลับกลายเป็นคนโดนปัญหาตรงหน้าถมทับ ดูดให้จมลงไปด้วย คล้ายๆ พาลจะป่วยเป็นโรคเครียดหรือซึมเศร้าไปเสียอีกคน   ความจริงแล้ว...เคล็ดลับสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่คำว่า ‘ฟัง’   ว่าไปแล้วเรื่องของการฟังดูคล้ายจะเป็นเรื่องง่าย แต่หากเราลองทำความเข้าใจจริงๆ นี่กลับเป็นเรื่องที่เราแต่ละคนต้องใช้การ ‘ฝึกฝน’ ไม่แพ้เรื่องอื่นเลยจริงๆ เพราะทุกวันนี้สังคมของเราเอาเข้าจริงแล้ว มีแต่คนที่พูด พูด พูด และพูด พื้นที่ของการรับฟังกันอย่างจริงใจ ซึ่งมีความหมายถึงการรับฟังจริงๆ การรับฟังโดยไม่ตัดสิน หรืออาจจะเรียกว่าการรับฟังด้วยหัวใจนั้นมีอยู่อย่างน้อยมาก   หลายคนอาจเถียงว่า ก็ฟังทุกครั้งนั่นแหละ แต่หากเราได้พิจารณาด้วยสติแล้ว เราจะพบว่า ขณะที่เราฟังนั้น เสียงที่อยู่ในใจเรากำลังทำงานตลอด ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินคนตรงหน้า ระอา พร่ำบ่น ฯลฯ เราไม่เคยได้ยินเสียงคนตรงหน้าของเราจริงๆ เลย   ความสุขประเทศไทย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดทำกิจกรรม 'ฟังสร้างสุข' มาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นที่จะเปิดพื้นที่ให้คนไทยได้ฝึกฝนการฟัง ไม่ว่าจะเพื่อเยียวยาตัวเอง ความสัมพันธ์ รวมถึงเยียวยาความรู้สึกของคนที่อยู่รอบข้าง และวันนี้เรื่องของการฟังก็ถูกนำมาต่อยอดเป็นสื่อสร้างสรรค์ คลิปวีดีโอ 'ฟังเสียงเพื่อนซึมเศร้า' เพื่อกระตุ้นให้คนในสังคมเข้าใจเรื่องการฟัง และนำมาประยุกต์ใช้ในการเยียวยาผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยหรือผู้มีอาการซึมเศร้า   คลิป 'ฟังเสียงเพื่อนซึมเศร้า' โดดเด่นด้วยเทคนิคการผลิตที่ไม่มีภาพอะไร นอกจากตัวหนังสือที่แสดงบทสนทนาที่เรากำลังได้ยิน แต่การไม่มีภาพนี้เองที่ทำให้เราตัดความสนใจจากสัมผัสอื่นๆ มาฟังด้วยหูและด้วยใจของเราจริงๆ เนื้อเรื่องภายในคลิปเป็นบทสนทนาของเพื่อนสองคน คนหนึ่งกำลังเล่าความทุกข์ และอีกคนหนึ่งกำลังรับฟัง คลิปแสดงให้เรามองเห็นความรู้สึกและสิ่งที่อยู่ในหัวของคนรับฟังที่ไม่เคยหยุดนิ่ง   ขณะฟังแต่แท้จริงไม่ได้ฟัง...ขณะฟังแต่แท้จริงกำลังคิด...รู้สึก...และตัดสิน ซึ่งสถานการณ์นี้ไม่เพียงจะไม่ช่วยเยียวยาคนตรงหน้า แต่หากกำลังทำร้ายตัวเราผู้รับฟังเองด้วยเช่นกัน   อย่างไรก็ตาม เมื่อคลิปดำเนินไปจนถึงจุดหนึ่งก็คลี่คลาย ด้วยการนำเสนอเทคนิค 7 ขั้นตอนของการรับฟังที่ถูกต้อง พร้อมกับมีตัวอย่างประกอบให้เราได้เห็นและเข้าใจสถานการณ์การทำงานของหู สมองและใจของเราไปพร้อม ๆ กัน นั่นจึงทำให้คลิปนี้ เป็นคล้าย ๆ How to ขั้นพื้นฐานที่จะทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องการฟังอย่างแท้จริง ทั้งยังสามารถนำไปลองปฏิบัติได้ด้วยตัวเองด้วย 7 ขั้นตอนที่แนะนำ   และแม้ชื่อคลิปจะมีชื่อว่า ฟังเสียงเพื่อนซึมเศร้า แต่ 7 ขั้นตอนที่แนะนำ ถือเป็น 7 ขั้นตอนพื้นฐานของการฟังที่แท้จริง เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการรับฟังเรื่องต่างๆ จากคนใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ก็ตาม   ที่สำคัญสิ่งวิเศษที่สุดที่เราจะได้พบเมื่อเราฝึก ‘ฟัง’ ด้วยหัวใจ นอกจากเราจะได้ช่วยคนตรงหน้า เรายังจะได้ค้นพบตัวเราเองที่ซ่อนอยู่ภายในใจ เราจะเข้าใจตัวเองมากขึ้น สงบขึ้น มีสติมากขึ้น เห็นตัวเองชัดเจนมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะการฟังที่แท้จริง จะทำให้เราฟังเสียงที่ชัดที่สุดและสำคัญที่สุดได้ นั่นคือเสียงของ ‘ตัวเราเอง’   เริ่มเปลี่ยนแปลงด้วย 7 ขั้นตอนของการฟัง แล้วคุณจะค้นพบและเข้าใจว่า ‘ฟัง’ ช่วยสร้างสุขได้อย่างไรด้วยตัวคุณเอง  

ฟังเสียงเพื่อนซึมเศร้า

25 พฤศจิกายน 2562

ซึมเศร้า...เยียวยาได้ด้วย ‘การฟัง’   เมื่อโลกโซเชียลเชื่อมโยงเราเข้ามาใกล้กัน เรื่องราวชีวิตหลายๆ เรื่องถูกส่งผ่านเข้ามาสู่การรับรู้ ‘ซึมเศร้า’ กลายเป็นอาการคุ้นหู เมื่อปรากฎอยู่ในข่าวการสูญเสียที่น่าเศร้าใจมากมายหลายต่อหลายครา เราผู้รับข่าวสารรู้สึกถึงดีกรีของความหนักหนาสาหัสของปัญหา และหลายๆ ครั้งเราพบว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าค่อยๆ เขยิบเข้าใกล้เรามากขึ้นๆ จากบุคคลในข่าว คนมีชื่อเสียงที่เรารู้จัก คนที่เราชื่นชอบ มาสู่กลุ่มคนที่เรารู้จัก ใกล้เข้ามายังกลุ่มเพื่อน และบางทีแทบจะเข้ามาเคาะรั้วบ้านถึงคนในครอบครัวเรา   ปัญหาของคนใกล้ชิดผู้ที่มีอาการหรือภาวะซึมเศร้าอันดับหนึ่งคือ “จะทำอย่างไรเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากำลังระบายความทุกข์ในใจให้เราฟัง?” จำได้ว่า สู้ๆ คือ คำต้องห้าม แล้วจะอย่างไรดีเล่า? ปัญหาที่ถูกระบายกองล้นอยู่ตรงหน้า จะอ้าปากพูดอะไรก็กลัวจะผิดพลาด กลายเป็นทำร้ายคนตรงหน้าไป แต่ก็คันปากยิบๆ อยากจะแนะนำเสียเหลือเกิน...ไปๆ มาๆ คนที่กำลังรับฟัง กลับกลายเป็นคนโดนปัญหาตรงหน้าถมทับ ดูดให้จมลงไปด้วย คล้ายๆ พาลจะป่วยเป็นโรคเครียดหรือซึมเศร้าไปเสียอีกคน   ความจริงแล้ว...เคล็ดลับสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่คำว่า ‘ฟัง’   ว่าไปแล้วเรื่องของการฟังดูคล้ายจะเป็นเรื่องง่าย แต่หากเราลองทำความเข้าใจจริงๆ นี่กลับเป็นเรื่องที่เราแต่ละคนต้องใช้การ ‘ฝึกฝน’ ไม่แพ้เรื่องอื่นเลยจริงๆ เพราะทุกวันนี้สังคมของเราเอาเข้าจริงแล้ว มีแต่คนที่พูด พูด พูด และพูด พื้นที่ของการรับฟังกันอย่างจริงใจ ซึ่งมีความหมายถึงการรับฟังจริงๆ การรับฟังโดยไม่ตัดสิน หรืออาจจะเรียกว่าการรับฟังด้วยหัวใจนั้นมีอยู่อย่างน้อยมาก   หลายคนอาจเถียงว่า ก็ฟังทุกครั้งนั่นแหละ แต่หากเราได้พิจารณาด้วยสติแล้ว เราจะพบว่า ขณะที่เราฟังนั้น เสียงที่อยู่ในใจเรากำลังทำงานตลอด ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินคนตรงหน้า ระอา พร่ำบ่น ฯลฯ เราไม่เคยได้ยินเสียงคนตรงหน้าของเราจริงๆ เลย   ความสุขประเทศไทย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดทำกิจกรรม 'ฟังสร้างสุข' มาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นที่จะเปิดพื้นที่ให้คนไทยได้ฝึกฝนการฟัง ไม่ว่าจะเพื่อเยียวยาตัวเอง ความสัมพันธ์ รวมถึงเยียวยาความรู้สึกของคนที่อยู่รอบข้าง และวันนี้เรื่องของการฟังก็ถูกนำมาต่อยอดเป็นสื่อสร้างสรรค์ คลิปวีดีโอ 'ฟังเสียงเพื่อนซึมเศร้า' เพื่อกระตุ้นให้คนในสังคมเข้าใจเรื่องการฟัง และนำมาประยุกต์ใช้ในการเยียวยาผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยหรือผู้มีอาการซึมเศร้า   คลิป 'ฟังเสียงเพื่อนซึมเศร้า' โดดเด่นด้วยเทคนิคการผลิตที่ไม่มีภาพอะไร นอกจากตัวหนังสือที่แสดงบทสนทนาที่เรากำลังได้ยิน แต่การไม่มีภาพนี้เองที่ทำให้เราตัดความสนใจจากสัมผัสอื่นๆ มาฟังด้วยหูและด้วยใจของเราจริงๆ เนื้อเรื่องภายในคลิปเป็นบทสนทนาของเพื่อนสองคน คนหนึ่งกำลังเล่าความทุกข์ และอีกคนหนึ่งกำลังรับฟัง คลิปแสดงให้เรามองเห็นความรู้สึกและสิ่งที่อยู่ในหัวของคนรับฟังที่ไม่เคยหยุดนิ่ง   ขณะฟังแต่แท้จริงไม่ได้ฟัง...ขณะฟังแต่แท้จริงกำลังคิด...รู้สึก...และตัดสิน ซึ่งสถานการณ์นี้ไม่เพียงจะไม่ช่วยเยียวยาคนตรงหน้า แต่หากกำลังทำร้ายตัวเราผู้รับฟังเองด้วยเช่นกัน   อย่างไรก็ตาม เมื่อคลิปดำเนินไปจนถึงจุดหนึ่งก็คลี่คลาย ด้วยการนำเสนอเทคนิค 7 ขั้นตอนของการรับฟังที่ถูกต้อง พร้อมกับมีตัวอย่างประกอบให้เราได้เห็นและเข้าใจสถานการณ์การทำงานของหู สมองและใจของเราไปพร้อม ๆ กัน นั่นจึงทำให้คลิปนี้ เป็นคล้าย ๆ How to ขั้นพื้นฐานที่จะทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องการฟังอย่างแท้จริง ทั้งยังสามารถนำไปลองปฏิบัติได้ด้วยตัวเองด้วย 7 ขั้นตอนที่แนะนำ   และแม้ชื่อคลิปจะมีชื่อว่า ฟังเสียงเพื่อนซึมเศร้า แต่ 7 ขั้นตอนที่แนะนำ ถือเป็น 7 ขั้นตอนพื้นฐานของการฟังที่แท้จริง เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการรับฟังเรื่องต่างๆ จากคนใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ก็ตาม   ที่สำคัญสิ่งวิเศษที่สุดที่เราจะได้พบเมื่อเราฝึก ‘ฟัง’ ด้วยหัวใจ นอกจากเราจะได้ช่วยคนตรงหน้า เรายังจะได้ค้นพบตัวเราเองที่ซ่อนอยู่ภายในใจ เราจะเข้าใจตัวเองมากขึ้น สงบขึ้น มีสติมากขึ้น เห็นตัวเองชัดเจนมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะการฟังที่แท้จริง จะทำให้เราฟังเสียงที่ชัดที่สุดและสำคัญที่สุดได้ นั่นคือเสียงของ ‘ตัวเราเอง’   เริ่มเปลี่ยนแปลงด้วย 7 ขั้นตอนของการฟัง แล้วคุณจะค้นพบและเข้าใจว่า ‘ฟัง’ ช่วยสร้างสุขได้อย่างไรด้วยตัวคุณเอง  

คู่มือแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ 2562

ทุกวันนี้ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาบนเตียงนอน เดินออกจากบ้าน ขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงาน บนโต๊ะอาหาร ห้องประชุม ฯลฯ ทุกๆ พื้นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพที่เราเห็นคุ้นชินตาคือภาพผู้คน 'ไถ' โทรศัพท์มือถือทั้งด้วยความเคยชิน ความสนใจ ความบันเทิง การทำงาน การสื่อสาร และเพื่ออะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย ฯลฯ  . ด้วยบริบทของการดำเนินชีวิตและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การถาโถมของสื่อที่ใกล้ตัวเรามากขึ้นๆ ส่งผลให้อายุของผู้ใช้งานออนไลน์ลดลงเรื่อยๆ ด้านหนึ่งคือความตื่นตัว กระตุ้นให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องหันมาใส่ใจเรียนรู้สื่อออนไลน์ ขณะที่อีกด้าน ปัญหาที่แฝงมากับการเติบโตของโลกออนไลน์ ก็กำลังค่อยๆ คืบคลานขยายเงาดำใหญ่ขึ้นๆ จนทำให้หลายฝ่ายต้องเริ่มหันมาตระหนักและให้ความสำคัญ . คู่มือแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์เล่มนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความห่วงใยจากสายตาของผู้ใหญ่ที่เฝ้ามองภัยร้ายของโลกออนไลน์ที่กำลังคุกคามเด็กและเยาวชนไทย ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และกรมกิจการเด็กและเยาวชน จึงได้ร่วมกันจัดทำคู่มือแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์เล่มนี้ขึ้น โดยนำข้อมูลจากงานสำรวจของศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (Child Online Protection Action Thailand : COPAT) ที่ได้ทำการสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุ 6-18 ปี จำนวน 15,318 คน โดยทำการสำรวจในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ปี พ.ศ.2562 ปรากฏผลสำรวจในหลายแง่มุมที่น่าสนใจทั้งในประเด็นพฤติกรรมเสี่ยงออนไลน์ การรับหรือใช้สื่อลามกอนาจารออนไลน์ ประเภทของภัยออนไลน์ที่เกิดกับเด็กและเยาวชน รวมไปถึงสถานการณ์การโดนกลั่นแกล้งทางออนไลน์และวิธีที่เด็กและเยาวชนของเราใช้รับมือเมื่อเผชิญหน้ากับการกลั่นแกล้งนั้นๆ . คุ่มือเล่มนี้มีทั้งหมด 12 หน้า ความน่าสนใจคือการหยิบจับสถิติการสำรวจแปรออกมาเป็นภาพ Infographic ที่ง่ายต่อการอ่านและทำความเข้าใจ ในหน้าแรกของเล่ม ยังมีการดึงสถิติในแต่ละประเด็นที่น่าสนใจออกมาสรุปให้อ่านเข้าใจง่ายได้จบครบในหน้าเดียว ใครที่ไม่มีเวลา อ่านหน้าแรกก็จะพอมองเห็นภาพรวมสถานการณ์ทั้งหมดได้ในทันที แล้วจึงค่อยเลือกอ่านสถิติในแต่ละประเด็นในหน้าต่อไปโดยละเอียดตามความสนใจ .   ถัดจากหน้าแรก ก็จะเข้าสู่สถิติผลสำรวจในแต่ละประเด็น ลงในรายละเอียด แจกแจงสถิติให้เป็นเป็นตัวเลขชัดเจน มีการหยิบประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมาเป็นหัวข้อ กระตุ้นเตือนให้คนอ่านไม่พลาดสิ่งที่ควรเน้นหรือให้ความสำคัญ  . ส่วนสุดท้ายของเล่ม ตั้งแต่หน้า 7 ไปจนถึงหน้า 12 เป็นภาพ Infographic แนะนำแนวทางการดูแลเด็กและเยาวชนไทยในการรับมือภัยออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การรับมือการกลั่นแกล้งออนไลน์ รู้จักและเข้าใจสถานการณ์ของโรคติดเกมรวมไปถึงแนวทางการป้องกัน แนวทางการเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัล เทคนิคการเลี้ยงลูกให้มีความฉลาดทางดิจิทัลหรือ DQ และข้อสุดท้ายสิ่งที่ควรพึงระวังของพ่อแม่ผู้ปกครองยุคออนไลน์ คือการย้ำเตือนถึงการละเมิดสิทธิเด็กทางออนไลน์ด้วยการโพสต์ภาพต่างๆ ที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองอาจไม่ทันคาดคิดถึงภัยที่จะตามมาอีกมากมาย . สถิติมีไว้เพื่อให้เรามองเห็นสถานการณ์โดยรวม ความรู้มีไว้ประหนึ่งอาวุธทางปัญญา รวมความแล้ว นี่เป็นคู่มือแนวทางการปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ที่ครบเครื่องอีก 1 เล่ม อ่านง่าย เบาๆ ด้วยจำนวนหน้า สวยงามด้วยสีสันและรูปแบบการนำเสนอ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยข้อมูลและเนื้อหาความรู้ที่พ่อแม่ผู้ปกครองยุค 4.0 ไม่ควรพลาด . ทุกวันนี้ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาจนถึงเข้านอน...ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพที่เราเห็นคุ้นชินตาคือภาพผู้คน 'ไถ' โทรศัพท์มือถือกันตลอดแทบทุกพื้นที่ทุกสถานการณ์....ภายใต้นิ้วที่กำลัง 'ไถ' ไปในโลกออนไลน์ สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ที่จะ 'Click' ไปในพื้นที่ที่ปลอดภัย 'Skip' ไปในความเสี่ยง 'delete' ภัยที่กำลังคุกคามเด็กและเยาวชนของเรา และไม่ลืมที่จะ 'Share' แบ่งปันข้อมูลและสื่อดี ๆ นี้ไปสู่ผู้คนอีกมากมาย :)

คู่มือ Workshop Manual Book

วันนี้ ใครๆ ก็เป็นผู้ผลิตสื่อได้...จริงหรือ? . เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วคือ เราสามารถเข้าถึงเครื่องมือต่างๆ ในการสร้างสรรค์สื่อได้ง่ายขึ้น เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ถูกพัฒนาให้ง่ายขึ้น ราคาถูกลง เรียกได้ว่ายุคของเครื่องมือที่จำกัดเฉพาะผู้ผลิตสื่อในวงแคบๆ ผ่านพ้นไปแล้ว วันนี้แค่มีโทรศัพท์ 1 เครื่อง ทุกคนก็สามารถอัดคลิป ผลิตสื่อ ออกมาอวดโฉมในโลกออนไลน์กันอย่างง่ายดาย . แต่จะทำอย่างไรให้คลิปของเราเป็นคลิปที่มีคุณภาพ ซึ่งคุณภาพที่ว่านั้นหมายถึงทั้งคุณภาพในด้านการผลิต และคุณภาพด้านเนื้อหา ไม่เป็นเพียงการก่อขยะในโลกออนไลน์ หรือหนักกว่านั้นคือการสร้างคลิปที่ส่งผลร้ายไปถึงคนอื่นๆ ในสังคม . หนังสือ Workshop Maunal Book โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหนึ่งในสื่อสร้างสรรค์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ผลิตสื่อ โดยเฉพาะสื่อประเภทคลิปวีดีโอในปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้น่าสนใจและเหมาะสำหรับคนที่มีความสนใจที่จะผลิตสื่อประเภทคลิปวีดีโอทั้งที่มีพื้นฐานมาบ้างแล้ว หรือแม้กระทั่งยังไม่มีพื้นฐานเลยก็ตาม . คู่มือเล่มนี้ บรรจุเนื้อหาการผลิตสื่อหลากหลายประเภท ตั้งแต่การผลิตสารคดี การผลิตหนังสั้น การผลิตมิวสิควีดีโอ การผลิตคลิปออนไลน์ ในอีกด้าน นอกจากความหลากหลายแล้ว ยังมีการลงรายละเอียดทุกขั้นตอนของการผลิตแต่ละประเภท เช่น การผลิตสารคดี ก็แยกย่อยลงรายละเอียดไปตั้งแต่การเขียนบท ขั้นตอนการถ่ายทำ การตัดต่อ ฯลฯ ดังนั้น ผู้ที่สนใจก็สามารถเลือกอ่านเฉพาะประเภทการผลิตนั้นๆ ลงลึกรายละเอียดแต่ละขั้นตอนจนสามารถผลิตชิ้นงานได้จริงและมีคุณภาพ หรือหากสนใจสื่อหลากหลาย ก็สามารถเลือกอ่านสื่อแต่ละประเภท เปรียบเทียบความแตกต่าง ก็จะช่วยทำให้มองเห็นเอกลักษณ์ของสื่อแต่ละประเภทได้ชัดเจน . ปัจจุบัน ในการเรียนการสอนของสถานศึกษาหลายแห่ง ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา เริ่มมีการสอนให้เด็กๆ ผลิตคลิปวีดีโอในการส่งงาน เป็นการบูรณาการทั้งการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสาร คู่มือเล่มนี้น่าจะช่วยให้คุณครูและเด็กๆ ที่สนใจ ได้เรียนรู้และเข้าใจการดำเนินงานการผลิตคลิปวีดีโอประเภทต่างๆ ได้ชัดเจน นำไปสู่การปฏิบัติที่ง่ายขึ้น . สำหรับคนที่มีพื้นฐานอยู่แล้ว การผลิตคลิปวีดีโอแต่ละประเภทเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ มีความล้ำลึก มีมุมมอง และเทคนิคการปรับประยุกต์ สอน ใช้ ที่แตกต่างกัน คู่มือเล่มนี้จะทำให้มองเห็นเทคนิคและมุมมองของคนทำงานอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำให้ได้ย้อนระลึกถึงแนวคิดบางอย่างที่อาจเคยมองข้ามไป เติมเต็มการทำงานให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นได้ . ด้วยการเรียบเรียงที่ใช้ถ้อยคำกระชับ ชัดเจน สั้นๆ ได้ใจความ มีภาพประกอบ การจัดวางที่ทันสมัย แตกต่างจากคู่มือเรียนรู้ทางวิชาการ คู่มือเล่มนี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งสื่อสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ และจะช่วยสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เกิดการผลิตสื่อที่มีคุณภาพเข้าสู่โลกออนไลน์ ช่วยสร้างให้เกิดสังคมออนไลน์ที่มีสุขภาวะต่อไป

แนะนำแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา (Long Version บทบรรยายไทย)

การพัฒนาคน....คือรากฐานของการพัฒนาสังคม . ยุคนี้หลายคนเรียกขานว่าเป็นยุคที่ ‘สื่อเปลี่ยนชีวิต’ ที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสื่อที่รวดเร็ว ซับซ้อน หลากหลาย โดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งคำว่า ‘เปลี่ยนชีวิต’ นั้น กินความด้วยมิติที่กว้างขวางและมีความหมายถึงการ ‘เปลี่ยน’ ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือของหลายๆ อย่างในชีวิตของคนเรา สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ วันนี้พลังอำนาจในการใช้สื่อไม่เหมือนสังคมยุคก่อนหน้านี้สัก 10-20 ปีก่อน ยุคคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย ที่อำนาจในการเผยแพร่ความคิดผ่านสื่อเป็นของผู้ผลิตสื่อและผู้นำความคิดเพียงไม่กี่เจ้าหรือไม่กี่คน แต่มาถึงวันนี้ โลกของสื่อดิจิทัลมอบพลังอำนาจในการใช้สื่อมาให้คนธรรมดา ๆ ผ่านสื่อโซเชียล ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ ไม่ว่าใครก็กลายเป็นผู้สร้างสื่อ เผยแพร่สื่อ สิ่งที่ตามมาคือเกิดผู้นำทางความคิดในโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นจนนับไม่หวาดไม่ไหว กลับกันสื่อเดิม ๆ ที่เคยมีอิทธิพลในชีวิตของคนในสังคมอย่างโทรทัศน์ วิทยุ โฆษณา ฯลฯ กลับลดความนิยมลงอย่างรวดเร็ว ข้อดีของโลกยุค ‘สื่อเปลี่ยนชีวิต’ มีมากมาย เรารับ แชร์ ส่งต่อ ข้อมูลที่หลากหลายได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ข้อที่น่าหวาดกลัวก็ตามมามากมายไม่แพ้กัน เรามีข่าวปลอม ข่าวลวง โฆษณาเกินจริงเกิดขึ้นมากมาย และถ้าสื่อเหล่านั้นตกมาถึงมือและการรับรู้ของเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุที่ยังคงรับและใช้สื่ออย่างไม่รู้เท่าทัน จะเกิดอะไรขึ้น? . สื่อ Video Presentation แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส. จะนำเราไปมองให้รู้ ดูให้เห็น แสดงถึงประเด็นเหล่านี้ในแง่มุมของการส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาวะของคนในทุกมิติ ทั้งกาย ใจ สังคม ปัญญา ซึ่งภารกิจการพัฒนาคนเพื่อนำสู่การสร้างวิถีชีวิตสุขภาวะที่ยั่งยืนนับเป็น 1 ในภารกิจสำคัญของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายในคลิปวีดิโอชุดนี้ จะพาเราไปรู้จักแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา ภายใต้สำนักวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจะขับเคลื่อนการพัฒนาคนไทยให้ฉลาดในการสื่อเป็นเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ ผ่านการทำงานใน 2 ด้านสำคัญคือ ระบบสื่อสร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะ ที่เสริมสร้างทักษะเท่าทันสื่อ ศักยภาพในการใช้สื่อให้เป็นเครื่องมือในการสร้างสุขภาวะ และวิถีสุขภาวะทางปัญญา ที่จะช่วยสร้างทักษะในการสะท้อนความคิด สร้างจิตสำนึกใหม่ในการเป็นพลเมือง ซึ่งเมื่อมีการทำงานประสานบูรณาการกันแล้ว จะส่งผลในการพัฒนาคนไทยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสุขภาวะครบทุกมิติ เกิดการสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน วีดิโอชุดนี้ประกอบไปด้วยคลิปวีดิโอจำนวน 4 ชิ้น ได้แก่คลิปเวอร์ชั่นยาว คลิปเวอร์ชั่นสั้น และทั้งสองเวอร์ชั่นมีรูปแบบที่ใส่คำบรรยายภาษาไทยด้วยเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแค่ผู้ที่บกพร่องทางการได้ยิน ผู้ชมสามารถเลือกรับชมได้ตามอัธยาศัย เมื่อชมจบแล้ว เราจะได้มองเห็นถึงความสำคัญของพลังพลเมือง แม้จะเป็นพลังเล็ก ๆ แต่สามารถขับเคลื่อนสังคมและโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์ . และที่ต้องเน้นแบบขีดเส้นใต้สองเส้นก็คือ...เราเองทุกคน ล้วนเป็นหนึ่งในพลังของการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ หากเราต้องการ เข้าใจ และรู้เท่าทัน !!

รายงานสุขภาพคนไทย 2562 : สื่อสังคม สื่อสองคม สุขภาวะคนไทยในโลกโซเชียล

ชวนอ่าน ‘รายงานสุขภาพคนไทย 2562’ อย่าเพิ่งเบือนหน้าหนีเพราะชื่อเรื่อง หรือเพราะเอือมความเป็นวิชาการ โปรดทราบว่านี่คืองานเขียนที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งที่จะทำให้คุณได้ฉุกคิด เรียนรู้ เข้าใจ และมองเห็นทุกสถานการณ์สุขภาพของคนไทยในรอบปีที่ผ่านมา . สื่อสร้างสรรค์ชื่อ ‘รายงานสุขภาพคนไทย 2562’ นี้ จัดทำโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล รวบรวมสถานการณ์สุขภาพคนไทยที่น่าสนใจมาให้อ่านแบบเข้าใจง่าย แบ่งเป็นหัวข้อต่าง ๆ ภายใน 128 หน้า (รวมรายการอ้างอิงด้วย) หากอ่านได้จบครบถ้วน คุณจะมองเห็นภาพร่างของโครงสร้างปัญหาหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังครุกรุ่นในปัจจุบันด้วยความเข้าใจที่ถ่องแท้มากขึ้น และคุณจะเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ รวมไปถึงเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ด้านสุขภาพที่คุณ ครอบครัว และคนที่คุณรักอาจกำลังเผชิญหรือต้องเผชิญต่อไปในอนาคต . ภายในหนังสือเล่มนี้แบ่งเรื่องราวเป็น 4 ส่วนหลักๆ ส่วนที่ 1 ว่าด้วย 12 หมวดตัวชี้วัดสุขภาพประชากรเปราะบาง โดยจะเจาะลงไปให้เห็นปัญหาของกลุ่มประชากร 12 กลุ่มที่กำลังเป็นกลุ่มเปราะบาง พวกเขากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาที่หลากหลาย อ่านแล้วไม่แน่ เรากับคนในครอบครัวเองอาจกำลังเป็น 1 ในประชากรกลุ่มเปราะที่ว่านี้ เช่น กลุ่มวัยรุ่นที่เผชิญหน้ากับภาวะการตั้งครรภ์ไม่พร้อม กลุ่มผู้สูงอายุที่เผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยว กลุ่มครอบครัวเปราะบางที่เผชิญหน้าปัญหาการหย่าร้างและความรุนแรง หรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้มีปัญหาสุขภาพทางจิตที่เราเห็นปัญหาปรากฎอยู่ในข่าวบ่อยครั้งในยุคปัจจุบัน . เนื้อหาส่วนที่ 2 เหมาะสำหรับคนที่ชอบการอัพเดทข่าวสารสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมสถานการณ์เด่นทางสุขภาพของคนไทยในรอบปีที่ผ่านมา หลายข่าวเราเสพจนลืมไปแล้ว หลายข่าวเราได้ฟังอยู่ไกลๆ แต่ไม่เคยรู้ถึงความรุนแรงที่ซ่อนอยู่ และหลายข่าวยังคงสร้างความสงสัยอยู่ถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาพาราควอตที่ยืดเยื้อ โรคที่กลับมาใหม่อย่างโรคหัดหรือวัณโรค บทเรียนจากการช่วยชีวิต 13 หมูป่า หรือการปลดล็อกกัญชาที่ไม่อาจมองเพียงข้อเท็จจริงด้านใดด้านหนึ่ง . เนื้อหาส่วนที่ 3 เป็นข่าวดีปลอบประโลมใจ เพราะเป็นเรื่องราวผลงานความสำเร็จด้านสุขภาพของคนไทยที่ก่อเกิดประโยชน์มากมายคณานัปต่อสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จในการขจัดโรคเท้าช้าง การสั่งห้ามไขมันทรานส์ หรือการรับรองยาต้านไวรัสเอดส์ของไทย . สุดท้ายเนื้อหาส่วนที่ 4 ซึ่งน่าจะเป็นไฮไลท์ที่สุดของสังคมวันนี้คือ เรื่องพิเศษประจำฉบับ ว่าด้วย ‘สื่อสังคม สื่อสองคม’ รวบตึงที่มาการเกิดขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มจนพัฒนาการมาถึงปัจจุบัน สื่อสังคมวันนี้กลายเป็นสื่อสองคมที่สร้างประโยชน์มหาศาล แต่อีกด้านก็กลับฉุดเราลงสู่ความโหดร้ายในหลาย ๆ ประเด็น จำเป็นที่สังคมต้องเรียนรู้ ตั้งรับ และเท่าทันการใช้สื่อสังคมอย่างมีภูมิป้องกันเพื่อความปลอดภัยและชีวิตสุขภาวะของทั้งตัวเราเอง คนรอบข้าง และสังคม . รวมความแล้วนี่คืออีก 1 สื่อสร้างสรรค์ที่ทุกคนไม่ควรพลาด ไม่ว่าคุณจะเป็นนักวิชาการ นักปฏิบัติการด้านสังคม หรือแม้กระทั่งเป็นบุคคลทั่วไปธรรมดาสามัญ เพราะภายใต้การรวบรวมรายงานสถานการณ์สุขภาพ นั่นคือการเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างเท่าทันเพื่อการดำรงชีวิตที่อยู่ดีมีสุขของทุกคนนั่นเอง

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิต ฝืนความเปลี่ยนแปลงคงเป็นเรื่องยาก อยู่อย่างไรให้เท่าทันจึงอาจเป็นคำตอบสุดท้าย   นับตั้งแต่การเกิดขึ้นและแพร่กระจายของเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital) อะไร ๆ รอบตัวเราทุกคนก็ดูจะรวดเร็วไปเสียหมด เทคโนโลยีก้าวเข้ามาอำนวยความสะดวก เข้ามาช่วยการสื่อสาร และยังเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิถีชีวิตอะไรของเราหลาย ๆ อย่างจนมีคนขนานนามยุคนี้ว่ายุคเทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิต หรือ Disruptive Technology   เหมือนเหรียญสองด้านที่มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ เราไม่ปฏิเสธว่าเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้เราสะดวกสบายขึ้น เจริญก้าวหน้าขึ้นในหลาย ๆ ด้าน เราติดต่อกันง่ายขึ้น ค้นหาข้อมูลได้รวดเร็ว ฯลฯ แต่ในอีกด้านหนึ่งที่เราคงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันคือ หลายครั้งที่เราหลายคน หลายสถานการณ์ ก้าวตามเทคโนโลยีไม่ทัน ความไม่รู้เท่าทันนี้เองที่ทำให้หลาย ๆ คนต้องตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่มคนที่หลายคนให้ความสำคัญและเป็นห่วงที่สุดก็คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน   หนังสือเล่มเล็ก ๆ ชื่อ “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” เป็น 1 ในสื่อสร้างสรรค์โดยสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เรียบเรียงขึ้นมาเพื่อเป็นการ “...ผนวกเอาพลังปัญญาของนักวิจัย 3 ท่านมารวมไว้ในที่เดียว.....เต็มไปด้วยความหวังดีต่อเด็ก ๆ ในยุคที่เทคโนโลยีเฟื่องฟูจนต้องถามตนเองว่า...เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” ตามที่ ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อและเด็กและเยาวชนได้เกริ่นนำไว้ในหน้าแรกของหนังสือ   เนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้ เปิดมุมมองในภาพกว้างให้คนอ่านได้มองเห็นภาพรวมและสถานการณ์การรุกคืบเข้ามาของสื่อออนไลน์ในวิถีชีวิตของคนทุกวัย ก่อนจะโฟกัสเข้าไปที่มุมมองปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ที่บางส่วนกลายเป็นเหยื่อออนไลน์อย่างไม่รู้เท่าทัน ทั้งเรื่องการกลั่นแกล้งออนไลน์ การนัดพบ การสูญเสียเงินทอง โดนหลอก ฯลฯ เชื่อมโยงให้เห็นความสำคัญของการปลูกฝังทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ข้อมูลข่าวสาร และดิจิทัลเทคโนโลยี ที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความก้าวหน้าที่รวดเร็วของเทคโนโลยีรอบตัว   แกนหลักใหญ่ใจความที่น่าสนใจยิ่งของหนังสือเล่มนี้ คือการสรุปผลงานวิจัยเรื่องของสื่อออนไลน์ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กออกมาเป็นเรื่องย่อ ๆ สั้น ๆ อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นาน (ใครที่เคยกลัวงานวิจัย รับรองว่าอ่านได้ไม่ยากเลย J)   งานวิจัยเรื่องแรก เป็นเรื่องที่ค่อนข้างโดดเด่นและกำลังได้รับความสำคัญในขณะนี้ คือประเด็นปัญหา eSports หรือการแข่งขันเกมออนไลน์ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะนี้ งานวิจัยชวนเราลงไปค้นหาว่าภายใต้กระแส eSports มีแง่มุมใดบ้างที่น่ากังวล เป็นห่วง และอาจส่งผลกระทบต่อเยาวชน หน่วยงานต่าง ๆ ควรมีบทบาทในการเตรียมรับมือในเรื่องนี้อย่างไร   งานวิจัยเรื่องที่สอง ว่าด้วยการศึกษาการขับเคลื่อนทักษะการรู้เท่าทันสื่อของประเทศต่าง ๆ ได้แก่สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อให้มองเห็นจุดร่วมที่สำคัญในการนำมาประยุกต์ต่อยอดในการทำงานส่งเสริมเรื่องนี้ในบริบทของประเทศไทย   และงานวิจัยเรื่องสุดท้าย โฟกัสไปที่เรื่องของการใช้สื่อเฟซบุ๊กกับประเด็นสิทธิเด็ก โดยมุ่งศึกษาถึงบทบาทหน้าที่ของปฏิกิริยาตอบกลับของผู้ใช้เฟซบุ๊กต่อการนำเสนอข่าว ผลการศึกษาน่าสนใจที่ว่า สิทธิเด็กยังไม่ค่อยเป็นประเด็นที่ผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียให้ความสำคัญเท่าใดนัก จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อเด็กทั้งจิตใจ ชื่อเสียงและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างคาดไม่ถึง   หนังสือเล่มนี้เหมาะเป็นคู่มือของผู้ใหญ่ เพื่อให้เกิดทักษะรู้เท่าทันการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กในยุคนี้ โลกที่สื่อหมุนเร็ว ผู้ใหญ่ต้องตามให้ทันไม่ตกขบวน เพราะแน่ชัดแล้วว่า เราหยุดความเปลี่ยนแปลงไว้ไม่ได้ เราไม่สามารถปิดกั้นเด็กออกจากเทคโนโลยีได้ ทางออกที่ดีที่สุดคือ “รู้เท่าทัน” นั่นคือ...คำตอบสุดท้าย...

เปลี่ยนแปลง เพราะแบ่งปัน

5 กันยายน 2561

เมื่อเปลี่ยนแปลง....จึงแบ่งปัน เมื่อแบ่งปัน...จึงเปลี่ยนแปลง   นิตยสารสารคดี เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในการเป็นสื่อคุณภาพของสังคมไทยมาเนิ่นนาน และนับตั้งแต่ปี 2547 นิตยสารสารคดี ได้จัดโครงการ ‘ค่ายสารคดี’ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสฝึกปรือฝีมือเพื่อก้าวสู่การเป็นนักสารคดีรุ่นใหม่ ภายในค่ายแบ่งการฝึกฝนสร้างผลงานเป็น 2 กลุ่มทั้งงานเขียนและงานถ่ายภาพ   และหลังจากใช้เวลาในการฝึกฝนกับครูภาพและครูเขียนนานกว่า 4 เดือนเต็ม ก็ก่อเกิดเป็นผลงานสารคดีเรื่องเด็ดจากฝีมือเยาวชนนักสารคดีรุ่นใหม่ ออกมาอวดสายตาของนักอ่านในรูปแบบนิตยสารสารคดีเล่มพิเศษ   ‘เปลี่ยนแปลงเพราะแบ่งปัน’ คือ 1 ในนิตยสารสารคดีเล่มพิเศษที่ว่านี้ เพราะทุกเรื่องราวที่บรรจุในนิตยสารเล่มนี้ ล้วนเป็นผลงานสารคดีที่กลั่นมาจากแรงใจไฟฝันของน้อง ๆ เยาวชนค่ายสารคดีครั้งที่ 13   เนื้อหาภายในนิตยสารสารคดีฉบับพิเศษ ‘เปลี่ยนแปลงเพราะแบ่งปัน’ เล่มนี้แบ่งเป็นสารคดีเรื่องสั้น ๆ จำนวน 12 เรื่อง ทุกแม้อยู่ภายใต้โจทย์เดียวกันคือ ‘เปลี่ยนแปลงเพราะแบ่งปัน’ แต่ด้วยกระบวนการบ่มเพาะภายในค่าย ประสบการณ์การลงพื้นที่จริง สืบเสาะ ค้นคว้า ของน้อง ๆ ในหลากหลายพื้นที่ หลากหลายสถานการณ์ ทำให้แต่ละเรื่องราวล้วนมีความโดดเด่นที่แตกต่างกันออกไป นับตั้งแต่บุคคลต้นเรื่อง ลีลา ภาษา ตลอดไปจนถึงแนวคิดและมุมมองที่สะท้อนต่อสังคม   เราจะได้อ่านเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดการแบ่งปัน และการแบ่งปันที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขยายส่งต่อออกไปอย่างไม่สิ้นสุดในรูปแบบและพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในดงดอยเหนือสุดที่แสนจะทุรกันดาร หรือเมืองกรุงแดนศิวิไลซ์ที่สังคมช่างสลับซับซ้อน ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ภาคอีสานที่กว้างใหญ่ ไต่เรื่อยลงไปจนถึงดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงระอุด้วยความเคลือบแคลงและหวาดหวั่นในใจของใครหลายคน   เราจะได้เห็นรูปแบบการแบ่งปันที่หลากหลาย เร่ิมง่าย ๆ ตั้งแต่การแบ่งปันแบบคนเดียวโด่เด่ การรวมกลุ่มกันแบบหลวม ๆ การจับกลุ่มเกาะเกี่ยวกันเป็นชุมชน ไปจนถึงการขยายตัวเชื่อมโยงกันในระดับสังคมโลกที่น่าทึ่ง   เราจะได้เห็นวิวัฒนาการของการแบ่งปัน จากรอยยิ้ม สองมือ สองเท้า ไปจนถึงการสร้างเครื่องมือง่าย ๆ ใกล้ ๆ ตัว ไปจนถึงการสร้างนวัตกรรมสิ่งใหม่ให้การเปลี่ยนแปลงและแบ่งปันหมุนไปตามโลกได้อย่างทันท่วงที   และลึกลงไปมากกว่าที่ตาเห็น เราจะสัมผัสได้ถึงการเติบโตภายในใจของเด็กและเยาวชนผู้อยู่เบื้องหลังผลงานทุกชิ้น ผู้ซึ่งกำลัง ‘เปลี่ยนแปลง’ จากผลงานและแนวคิดดี ๆ ที่พวกเขาบรรจงสร้างสรรค์อย่างประณีตเพื่อสื่อสารและ ‘แบ่งปัน’ สู่สังคม   สุดท้าย เชื่อมั่นว่าเมื่อทุกคนได้อ่านจบแล้ว จะมองเห็นและสัมผัสได้ถึงบางอย่างที่กำลัง ‘เปลี่ยนแปลง’ ภายในตัวเรา และจะส่งต่อสู่การ ‘แบ่งปัน’ เพื่อช่วยกันส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมโลกนี้ได้

ลูกรักกับหนังสือเล่มแรก

ทุกก้าวแรกของชีวิตสำคัญเสมอ...หนังสือเล่มแรกของลูกก็เช่นกัน   ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยใด ๆ ก็มักจะนำเสนอผลตรงกันว่า มนุษย์นั้นเริ่มต้นพัฒนาการตั้งแต่แรกเกิด และช่วงชีวิตปฐมวัยถือเป็นโอกาสทองในพัฒนาการด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย อารมณ์ สังคม หรือสติปัญญา เป็นที่โชคดีที่ปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่เริ่มเข้าใจในเรื่องนี้ และเสาะแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดมอบให้ลูกตั้งแต่ยังอยู่ในวัยอ้อแอ้ อย่างไรก็ตาม การเสาะแสวงหาของคุณพ่อคุณแม่บางครั้งก็กลับมองข้ามเครื่องมือที่แสนเรียบง่าย แต่ได้ประสิทธิภาพประสิทธิผลเป็นอย่างยิ่งไป ราวกับกับเส้นผมบังภูเขา   เครื่องมือนั้นก็คือ “หนังสือนิทาน” สำหรับเด็ก ๆ นั่นเองค่ะ J   มีความเชื่อหลายอย่างที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลงลืมว่า “นิทาน” เป็นเครื่องมือที่แสนจะวิเศษสำหรับลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อที่ว่า เด็กแรกเกิดยังอ่านหนังสือไม่เป็น เด็ก ๆ มักจะทำลายและฉีกหนังสือ (อันนี้อารมณ์เสียดาย) หรือแม้กระทั่งความเชื่อที่ว่าเด็ก ๆ ยังเล็กเกินกว่าที่จะเข้าใจสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่อ่านจากนิทานให้ฟัง ฯลฯ   หนังสือ “ลูกรักกับหนังสือเล่มแรก” จากแผนส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. จะคลี่แง่มุมความเข้าใจและแสดงให้เห็นความสำคัญของหนังสือนิทานเล่มแรก ที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะเริ่มต้นอ่านให้กับเด็ก ๆ ฟังตั้งแต่แรกเกิดอย่างถ่องแท้และชัดเจน ภายในหนังสือเล่มนี้ คุณพ่อคุณแม่จะตระหนักได้ทันทีว่า อ้อมกอดที่อบอุ่น เสียงอ่านนิทานจากคุณพ่อคุณแม่ ประกอบกับหนังสือนิทานที่เหมาะสมกับวัย จากฝีมือของผู้เขียนที่มีความเข้าอกเข้าใจในพัฒนาการของเด็ก จะปลูกฝังบ่มเพาะส่ิงที่งดงามให้กับเด็ก ๆ ในทุกด้านอย่างน่ามหัศจรรย์   ความอบอุ่นทางใจก่อเกิด....ความมั่นคงทางอารมณ์....จินตนาการความคิดสร้างสรรค์...ความฉลาดรู้ทั้งทางอารมณ์และปัญญา...เซลล์ประสาทที่ถักทอเชื่อมโยงอย่างแข็งแกร่ง...ทั้งหมดนี้คือสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นเพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจอุ้มลูกนั่งตัก โอบกอดเขาไว้ และเริ่มอ่านหนังสือนิทานให้เด็ก ๆ ฟัง   และนอกจากแง่มุมของประโยชน์แล้ว ท้ายเล่มของหนังสือเล่มเล็ก ๆ กะทัดรัดเล่มนี้ ยังมีภาพอินโฟกราฟิกสวยงามเข้าใจง่าย แสดงวิธี ขั้นตอน และกระบวนการอ่านหนังสือให้เด็ก ๆ ฟังอย่างถูกต้องและครบถ้วน เป็นตัวช่วยเติมความมั่นใจให้คุณพ่อคุณแม่ที่อาจจะหลงลืมการอ่านนิทานและไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรได้ดีเลยทีเดียว   เริ่มต้นอ่าน “ลูกรักกับหนังสือเล่มแรก” เพื่อก้าวแรกที่ล้ำค่าของลูกคุณ

หนังเล่าเรื่อง ตอน สัตว์สองนอ (ตอนจบ)

มนุษย์ที่แท้คือ ‘สัตว์สองนอ’ ?   ภาพยนตร์สั้นเรื่อง สัตว์สองนอ ผลงานกำกับโดย ปราโมทย์ แสงศร ถ่ายทอดจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ บินหลา สันกาหลาคีรี นำมาวิเคราะห์และนำเสนอผ่านรายการโทรทัศน์ Talk to Film สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS   สัตว์สองนอ เป็นเรื่องราวของเพื่อนรักตั้งแต่วัยเด็กที่กลับมาทำภารกิจสำคัญร่วมกัน หนึ่งคือ ไพรวัลย์ ผู้เป็นสัตวแพทย์ สองคือ สันต์ นักข่าวที่ติดตามไพรวัลย์เข้าป่า ภารกิจของทั้งคู่ดูพิลึกพิลั่นนั่นคือการตามหาแรดตัวใหญ่หนัก 2 ตัน ทว่าไม่ใช่เพื่อฆ่า แต่ต้องการยิงแรดให้สลบ ตัดนอ พ่นสีสเปรย์ให้แรดไม่ดูเป็นแรด จากนั้นป่าวประกาศให้ทุกคนรู้ว่าไม่มีแรดที่ต้องการอีกแล้ว เพื่อให้แรดยังคงดำรงเผ่าพันธุ์ได้ต่อไปไม่สูญพันธุ์   ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่ความประชดประเทียดผ่านสัญลักษณ์และบทสนทนาต่าง ๆ ของตัวละครทั้งสองตัวที่ลุ่มลึกและมีความหมาย หากเราพิจารณาให้ดี ทั้งหมดคือสัญลักษณ์ที่ผู้สร้างภาพยนตร์จงใจทิ้งร่องรอยเอาไว้ให้คนดูค่อย ๆ ติดตาม ลอกเปลือกและเข้าใจมิติแง่มุมของความเข้าใจมนุษย์ที่ซับซ้อนออกมาผ่านตัวละคร             “ถ้าแรดมันพูดได้มันจะพูดว่าอะไร เชิญมาตัดนอของฉันไปเลย แต่ไว้ชีวิตฉันไว้?”             “ทุกวันนี้แรดแทบจะสูญพันธุ์ เพราะไอ้นอบ้า ๆ ของมัน”             “จริงหรือที่แรดไม่ต้องการนอ?”             “ถ้าเราเป็นแรด เราจะเลือกรักษานอ หรือรักษาชีวิต?”   ข้อความข้างต้นทั้งหมดเป็นตัวอย่างบทสนทนาที่เกิดขึ้นในเรื่อง ที่ทุกประโยคจะยอกย้อนและทิ่มแทงเข้าไปในใจของคนดูให้เกิดความฉุกคิด ความจริงแล้วนอคืออะไร? นอของแรดเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นจริงหรือไม่? การตัดนอของแรดเพื่อรักษาชีวิตคือสิ่งที่แรดต้องการจริงไหม? ความสนุกของเรื่องคือการไม่ได้บอกว่าสิ่งใดผิดหรือถูก แต่เพียงตั้งคำถามและปล่อยให้มันประทุเกิดเป็นแรงผลักดันในการคิดหาคำตอบ   “หนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นหนังที่ดูเอาความสนุก แต่ดูแล้วจะทำให้เราคิด เอ๊ะ...อันนี้หมายถึงอะไร? เอ๊ะ...ตัวละครทำอย่างนั้นหมายถึงอะไร?” ชมัยพร แสงกระจ่าง นักประพันธ์ได้กล่าวถึงไว้ตอนหนึ่งในการวิเคราะห์ภาพยนตร์   ภาพยนตร์สั้นสัตว์สองนอนำเสนอแยกเป็น 2 ตอน (คลิป) นอกจากตัวภาพยนตร์แล้ว ยังมีบทวิเคราะห์จากผู้กำกับภาพยนตร์ คือ ปราโมทย์ แสงศร อ.ชมัยภร แสงกระจ่าง นักประพันธ์ชื่อดัง และพระมหาไพรวัลย์ วรวณโณ จากวัดสร้อยทอง ที่จะมาร่วมกันถอดแต่ละบทแต่ละบรรทัดให้คนดูได้เข้าใจมากขึ้นทั้งในแง่มุมของภาพยนตร์ นวนิยาย และแนวคิดของความเป็นมนุษย์               ภาพยนตร์สั้นสัตว์สองนอ....อาจไม่ได้ทำให้คุณเข้าใจแรด             แต่อาจทำให้คุณเข้าใจมนุษย์....และเข้าใจตัวเองมากขึ้น....

เปิด 108 หนังสือดี เปิดหน้าต่างแห่งโอกาส ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย

ท่ามกลางหนังสือนิทานมากมายทั้งไทยและเทศในท้องตลาด เชื่อเหลือเกินว่าคุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจจะรู้สึกลังเลใจ สับสน ไม่แน่ใจว่าหนังสือนิทานเล่มไหนที่จะเหมาะและตอบสนองความต้องการของเราบ้าง   ในปี พ.ศ. 2553 แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดยการสนับสนุนของ สสส. ได้จัดโครงการคัดสรร 108 หนังสือดี เปิด “หน้าต่างแห่งโอกาส” ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยขึ้น โดยได้ทำการประสานขอความร่วมมือจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักพิมพ์ ตัวแทนจากองค์กรเครือข่ายสร้างสรรค์หนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย สื่อมวลชน มาช่วยกันคัดสรรและเป็นสักขีพยานในการประกาศผล มองรางวัลในโครงการครั้งนี้   ที่สุดแล้ว รายละเอียดของโครงการและหนังสือทั้ง 108 เล่มที่จะช่วยพัฒนาหน้าต่างแห่งโอกาสของเด็กปฐมวัยจึงได้ถูกรวบรวมออกมาเป็นเล่ม เพื่อเป็นคู่มือให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย ได้เป็นแนวทางในการเลือกและคัดสรรหนังสือนิทานให้กับเด็กในความดูแล   หนังสือเล่มนั้นก็คือ “108 หนังสือดี เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสในการพัฒนาเด็กปฐมวัย” เล่มที่เราทุกคนกำลังเห็นอยู่ในขณะนี้นั่นเอง   …………………………………………………………………..   ภายในหนังสือเล่มนี้ มีความรู้อัดแน่นมอบให้กับคุณพ่อคุณแม่และผู้ดูแลเด็กปฐมวัย เร่ิมตั้งแต่การปูพื้นฐานทำความเข้าใจกับแนวคิด “หน้าต่างแห่งโอกาส” เด็กในช่วงปฐมวัยแต่ละช่วงอายุ จะมีหน้าต่างแห่งพัฒนาการที่เปิดขึ้นแตกต่างกัน หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจความรู้ตรงนี้ จะช่วยทำให้สามารถพัฒนาลูกน้อยได้อย่างตรงจุด   ถัดจากนั้นก็จะเป็นเรื่องราวของหนังสือนิทาน 108 เล่มที่จะเรียงร้อยต่อกันไป โดยมีการจัดลำดับตามอักษร คละเคล้าเรื่องราวกันไปทั้งนิทานไทย นิทานเทศ คุณพ่อคุณแม่ ผู้อ่านสามารถเห็นได้ตั้งแต่หน้าปก รูปเล่ม มีการแนะนำเนื้อหาหนังสือด้านในพอประมาณ สิ่งสำคัญคือการชี้จุด ถอดหัวใจสำคัญของหนังสือนิทานแต่ละเล่มออกมา ว่ามีความสอดคล้องในการช่วยสนับสนุนหน้าต่างแห่งโอกาสของเด็ก ๆ ในด้านใดบ้าง   …………………………………………………………………..   ท่ามกลางหนังสือนิทานที่เรียงรายมากมายอยู่ในท้องตลาด “108 หนังสือดี เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสในการพัฒนาเด็กปฐมวัย” จะเป็นเสมือนคู่มือให้คุณพ่อคุณแม่ คุณครู ผู้ทำงานด้านเด็ก ได้มองเห็นหนังสือนิทานมากไปกว่าสิ่งที่ตามองเห็น มากกว่ากระดาษสีสวย ๆ มากไปกว่าภาพวาดการ์ตูนน่ารัก   แต่จะมองเห็นแง่มุมใหม่ของหนังสือนิทาน “เข้าใจ ใช้เป็น เห็นคุณค่า” ทำให้หนังสือนิทาน 1 เล่มมีคุณค่า มีความหมาย และสามารถเข้าไปสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาการ เปิดหน้าต่าง สร้างโอกาสให้เด็ก ๆ ได้มีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ ดังที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า   “...คุณภาพของชีวิตและสังคมนั้นขึ้นอยู่กับเด็ก ๆ พ่อแม่สร้างลูกที่ดีได้ด้วยการอ่านนิทานให้ลูกฟังทุกวัน....ความสุขจากการฟังพ่อแม่เล่านิทาน จะเป็นร่องรอยลึกอยู่ในสมองอย่างยากจะลบเลือน....”            

keyboard_arrow_up

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่.