ประเภทสื่อ
สื่อสร้างสรรค์: เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
สื่อสร้างสรรค์: เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
1 กรกฏาคม 2561
โดย สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กเยาวชน (สสดย.)
3
ถูกแชร์ทั้งหมด

รายละเอียด

ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิต

ฝืนความเปลี่ยนแปลงคงเป็นเรื่องยาก

อยู่อย่างไรให้เท่าทันจึงอาจเป็นคำตอบสุดท้าย

 

นับตั้งแต่การเกิดขึ้นและแพร่กระจายของเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital) อะไร ๆ รอบตัวเราทุกคนก็ดูจะรวดเร็วไปเสียหมด เทคโนโลยีก้าวเข้ามาอำนวยความสะดวก เข้ามาช่วยการสื่อสาร และยังเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิถีชีวิตอะไรของเราหลาย ๆ อย่างจนมีคนขนานนามยุคนี้ว่ายุคเทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิต หรือ Disruptive Technology

 

เหมือนเหรียญสองด้านที่มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ เราไม่ปฏิเสธว่าเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้เราสะดวกสบายขึ้น เจริญก้าวหน้าขึ้นในหลาย ๆ ด้าน เราติดต่อกันง่ายขึ้น ค้นหาข้อมูลได้รวดเร็ว ฯลฯ แต่ในอีกด้านหนึ่งที่เราคงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันคือ หลายครั้งที่เราหลายคน หลายสถานการณ์ ก้าวตามเทคโนโลยีไม่ทัน ความไม่รู้เท่าทันนี้เองที่ทำให้หลาย ๆ คนต้องตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่มคนที่หลายคนให้ความสำคัญและเป็นห่วงที่สุดก็คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน

 

หนังสือเล่มเล็ก ๆ ชื่อ “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” เป็น 1 ในสื่อสร้างสรรค์โดยสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เรียบเรียงขึ้นมาเพื่อเป็นการ “...ผนวกเอาพลังปัญญาของนักวิจัย 3 ท่านมารวมไว้ในที่เดียว.....เต็มไปด้วยความหวังดีต่อเด็ก ๆ ในยุคที่เทคโนโลยีเฟื่องฟูจนต้องถามตนเองว่า...เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” ตามที่ ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อและเด็กและเยาวชนได้เกริ่นนำไว้ในหน้าแรกของหนังสือ

 

เนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้ เปิดมุมมองในภาพกว้างให้คนอ่านได้มองเห็นภาพรวมและสถานการณ์การรุกคืบเข้ามาของสื่อออนไลน์ในวิถีชีวิตของคนทุกวัย ก่อนจะโฟกัสเข้าไปที่มุมมองปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ที่บางส่วนกลายเป็นเหยื่อออนไลน์อย่างไม่รู้เท่าทัน ทั้งเรื่องการกลั่นแกล้งออนไลน์ การนัดพบ การสูญเสียเงินทอง โดนหลอก ฯลฯ เชื่อมโยงให้เห็นความสำคัญของการปลูกฝังทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ข้อมูลข่าวสาร และดิจิทัลเทคโนโลยี ที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความก้าวหน้าที่รวดเร็วของเทคโนโลยีรอบตัว

 

แกนหลักใหญ่ใจความที่น่าสนใจยิ่งของหนังสือเล่มนี้ คือการสรุปผลงานวิจัยเรื่องของสื่อออนไลน์ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กออกมาเป็นเรื่องย่อ ๆ สั้น ๆ อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นาน (ใครที่เคยกลัวงานวิจัย รับรองว่าอ่านได้ไม่ยากเลย J)

 

งานวิจัยเรื่องแรก เป็นเรื่องที่ค่อนข้างโดดเด่นและกำลังได้รับความสำคัญในขณะนี้ คือประเด็นปัญหา eSports หรือการแข่งขันเกมออนไลน์ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะนี้ งานวิจัยชวนเราลงไปค้นหาว่าภายใต้กระแส eSports มีแง่มุมใดบ้างที่น่ากังวล เป็นห่วง และอาจส่งผลกระทบต่อเยาวชน หน่วยงานต่าง ๆ ควรมีบทบาทในการเตรียมรับมือในเรื่องนี้อย่างไร

 

งานวิจัยเรื่องที่สอง ว่าด้วยการศึกษาการขับเคลื่อนทักษะการรู้เท่าทันสื่อของประเทศต่าง ๆ ได้แก่สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อให้มองเห็นจุดร่วมที่สำคัญในการนำมาประยุกต์ต่อยอดในการทำงานส่งเสริมเรื่องนี้ในบริบทของประเทศไทย

 

และงานวิจัยเรื่องสุดท้าย โฟกัสไปที่เรื่องของการใช้สื่อเฟซบุ๊กกับประเด็นสิทธิเด็ก โดยมุ่งศึกษาถึงบทบาทหน้าที่ของปฏิกิริยาตอบกลับของผู้ใช้เฟซบุ๊กต่อการนำเสนอข่าว ผลการศึกษาน่าสนใจที่ว่า สิทธิเด็กยังไม่ค่อยเป็นประเด็นที่ผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียให้ความสำคัญเท่าใดนัก จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อเด็กทั้งจิตใจ ชื่อเสียงและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างคาดไม่ถึง

 

หนังสือเล่มนี้เหมาะเป็นคู่มือของผู้ใหญ่ เพื่อให้เกิดทักษะรู้เท่าทันการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กในยุคนี้ โลกที่สื่อหมุนเร็ว ผู้ใหญ่ต้องตามให้ทันไม่ตกขบวน เพราะแน่ชัดแล้วว่า เราหยุดความเปลี่ยนแปลงไว้ไม่ได้ เราไม่สามารถปิดกั้นเด็กออกจากเทคโนโลยีได้ ทางออกที่ดีที่สุดคือ “รู้เท่าทัน” นั่นคือ...คำตอบสุดท้าย...

ที่มาสื่อสร้างสรรค์

สื่อสร้างสรรค์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดูทั้งหมด
keyboard_arrow_up

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่.