ประเภทสื่อ
สื่อสร้างสรรค์: การบริหารจัดการเวลาบนโลกดิจิทัล (Screen Time Management)
สื่อสร้างสรรค์: การบริหารจัดการเวลาบนโลกดิจิทัล (Screen Time Management)
3 มิถุนายน 2562
โดย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย)
4
ถูกแชร์ทั้งหมด

รายละเอียด

“เวลา” เป็นสิ่งเดียวในชีวิตที่เราได้มาฟรีๆ แต่มีความหมายและคุณค่ามากที่สุด เราทุกคนต่างใช้ชีวิตบนท่วงทำนองแห่งเวลาที่มีตัวเราเองเป็นผู้กำหนดว่า จะใช้เวลานั้นไปกับอะไร มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม สภาพชีวิตในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะคนเมือง มีปัจจัยทางสภาพเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาเป็นตัวกำหนด จนทำให้คนส่วนใหญ่ตกอยู่ในภาวะ “ไม่มีเวลา” หรือรู้สึกว่า “เวลาไม่พอ” กับการที่จะทำสิ่งต่างๆ ที่ดีและส่งผลให้ชีวิตมีคุณภาพมากขึ้น

.

เรามักจะบอกว่า “ไม่มีเวลา” กับการออกกำลังกาย

เรามักจะบอกว่า “ไม่มีเวลา” กับเลือกอาหารดีมีประโยชน์

เรามักจะบอกว่า “ไม่มีเวลา” กับการอ่านหนังสือ

เรามักจะบอกว่า “ไม่มีเวลา” ที่จะเล่นกับลูก

เรามักจะบอกว่า “ไม่มีเวลา” ดูแลและพูดคุยกับพ่อแม่

            ฯลฯ

.

แต่เราอาจจะไม่เชื่อเลยว่า ในแต่ละวัน หากเรามาสังเกตช่วงเวลาที่ใช้ไปในวิถีชีวิตประจำวันอย่างถี่ถ้วน เราจะพบว่าเราใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์มากถึงเกือบ 10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งนั่นคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของวัน และเชื่อไหมว่าเราแต่ละคนหยิบมือถือขึ้นมาดูเฉลี่ยถึง 150 ครั้งต่อวัน รวมถึงมีการใช้งานออนไลน์บนมือถือไปอีกเกือบ 5 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว

.

แต่พูดมาถึงตอนนี้ก็ใช่ว่าจะชวนคุณผู้อ่านถึงขั้นปิดโลกออนไลน์ วิ่งหนีเข้าป่าตามหาความหมายชีวิตกันไปอะไรเบอร์นั้น หากเพียงแค่ว่า อยากลองชวนคิดชวนคุย และชวนมาตั้งคำถาม มองหาทางออกด้วยการเรียนรู้ทักษะใหม่ของคนในยุคนี้ที่เรียกว่า ทักษะการบริหารจัดการเวลาบนโลกดิจิทัล หรือ Screen Time Management กันดู เผื่อจะทำให้เราหลุดพ้นจากโรค “ไม่มีเวลา” ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตของคนยุคดิจิทัลกันได้บ้าง

.

มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ได้จัดทำหนังสือคู่มือการบริหารจัดการเวลาบนโลกออนไลน์ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ให้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้ตระหนักถึงความสำคัญ เข้าใจ และเรียนรู้ในการจัดการปัญหาเรื่องนี้อย่างรอบด้านและเป็นขั้นเป็นตอน หนังสือมีความยาว 24 หน้า 4 สีสวยงาม ออกแบบนำเสนอข้อมูลเนื้อหาด้วยภาพเชิงอินโฟกราฟิก ทำให้อ่านง่ายสบายตา

.

เนื้อหาภายในหนังสือ ประกอบด้วยสถานการณ์ สถิติ และสภาพปัญหาของการใช้สื่อออนไลน์อย่างไม่สมดุลในชีวิตทั้งในกลุ่มของเด็ก ผู้ใหญ่ และบริบทของครอบครัว ชี้ให้เห็นว่าการหมกมุ่นในโลกออนไลน์โดยละทิ้งการดำเนินชีวิตในด้านอื่นๆ จะส่งผลทั้งด้านสุขภาพกาย ใจ สติปัญญา รวมถึงปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคม โดยหลายครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นโยงใยเกี่ยวพันกันจนบางครั้งเราอาจไม่เคยมองเห็นรากของปัญหาที่แท้จริง

.

หนังสือเล่มนี้นำเสนอการบริหารจัดการเวลาของเราบนโลกดิจิทัลแบบง่ายๆ ด้วยเคล็ดลับ 3 P คือ Plan Power Off และ Play เป็นหลักการไม่ยากที่ถ้าใครตั้งใจทำจริงจังก็สามารถปฏิบัติได้เลยโดยไม่ต้องซื้อหาลงทุนอะไรเพิ่มเติม สิ่งที่ดีเยี่ยมในหนังสือเล่มนี้คือ หลายครั้งเรามักเพ่งปัญหาเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชน แต่หนังสือเล่มนี้ยังสะท้อนปัญหาครอบคลุมในบริบทของผู้ใหญ่ ที่บางครั้งเองก็ตกหลุมพรางของการไม่รู้เท่าทันการใช้งานออนไลน์จนเกินพอดีด้วยเช่นกัน รวมถึงยังมีมุมมองที่มองเห็นภาพใหญ่ของการบริหารจัดการเวลาไม่เป็นของผู้ใหญ่ ที่ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดพฤติกรรมการบริหารเวลาในโลกดิจิทัลที่ไม่เหมาะสมในเด็กด้วยเช่นกัน

.

ในโลกนี้มีหลายอย่างที่เรารอได้ และมีอีกหลายอย่างที่อาจไม่เคย “มีเวลา” เพียงพอที่จะรอเรา ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของคนที่เรารัก สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงของตัวเราเองและคนรอบข้าง ฯลฯ เราเองต้องเป็นผู้กำหนดว่าจะปล่อยเวลาให้สิ่งเหล่านี้ล่วงเลยผ่านไปตามยถากรรม หรือจะลุกขึ้นมาบริหารจัดการเพื่อให้เรา “มีเวลา” เพียงพอสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของตัวเราและคนที่เราแคร์

keyboard_arrow_up

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่.