ประเภทสื่อ
สื่อสร้างสรรค์: ฟังเสียงเพื่อนซึมเศร้า
สื่อสร้างสรรค์: ฟังเสียงเพื่อนซึมเศร้า
25 พฤศจิกายน 2562
โดย ธนาคารจิตอาสา
7
ถูกแชร์ทั้งหมด

รายละเอียด

ซึมเศร้า...เยียวยาได้ด้วย การฟัง

 

เมื่อโลกโซเชียลเชื่อมโยงเราเข้ามาใกล้กัน เรื่องราวชีวิตหลายๆ เรื่องถูกส่งผ่านเข้ามาสู่การรับรู้ ‘ซึมเศร้ากลายเป็นอาการคุ้นหู เมื่อปรากฎอยู่ในข่าวการสูญเสียที่น่าเศร้าใจมากมายหลายต่อหลายครา เราผู้รับข่าวสารรู้สึกถึงดีกรีของความหนักหนาสาหัสของปัญหา และหลายๆ ครั้งเราพบว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าค่อยๆ เขยิบเข้าใกล้เรามากขึ้นๆ จากบุคคลในข่าว คนมีชื่อเสียงที่เรารู้จัก คนที่เราชื่นชอบ มาสู่กลุ่มคนที่เรารู้จัก ใกล้เข้ามายังกลุ่มเพื่อน และบางทีแทบจะเข้ามาเคาะรั้วบ้านถึงคนในครอบครัวเรา

 

ปัญหาของคนใกล้ชิดผู้ที่มีอาการหรือภาวะซึมเศร้าอันดับหนึ่งคือ “จะทำอย่างไรเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากำลังระบายความทุกข์ในใจให้เราฟัง?” จำได้ว่า สู้ๆ คือ คำต้องห้าม แล้วจะอย่างไรดีเล่า? ปัญหาที่ถูกระบายกองล้นอยู่ตรงหน้า จะอ้าปากพูดอะไรก็กลัวจะผิดพลาด กลายเป็นทำร้ายคนตรงหน้าไป แต่ก็คันปากยิบๆ อยากจะแนะนำเสียเหลือเกิน...ไปๆ มาๆ คนที่กำลังรับฟัง กลับกลายเป็นคนโดนปัญหาตรงหน้าถมทับ ดูดให้จมลงไปด้วย คล้ายๆ พาลจะป่วยเป็นโรคเครียดหรือซึมเศร้าไปเสียอีกคน

 

ความจริงแล้ว...เคล็ดลับสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่คำว่า ฟัง

 

ว่าไปแล้วเรื่องของการฟังดูคล้ายจะเป็นเรื่องง่าย แต่หากเราลองทำความเข้าใจจริงๆ นี่กลับเป็นเรื่องที่เราแต่ละคนต้องใช้การ ฝึกฝน ไม่แพ้เรื่องอื่นเลยจริงๆ เพราะทุกวันนี้สังคมของเราเอาเข้าจริงแล้ว มีแต่คนที่พูด พูด พูด และพูด พื้นที่ของการรับฟังกันอย่างจริงใจ ซึ่งมีความหมายถึงการรับฟังจริงๆ การรับฟังโดยไม่ตัดสิน หรืออาจจะเรียกว่าการรับฟังด้วยหัวใจนั้นมีอยู่อย่างน้อยมาก

 

หลายคนอาจเถียงว่า ก็ฟังทุกครั้งนั่นแหละ แต่หากเราได้พิจารณาด้วยสติแล้ว เราจะพบว่า ขณะที่เราฟังนั้น เสียงที่อยู่ในใจเรากำลังทำงานตลอด ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินคนตรงหน้า ระอา พร่ำบ่น ฯลฯ เราไม่เคยได้ยินเสียงคนตรงหน้าของเราจริงๆ เลย

 

ความสุขประเทศไทย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดทำกิจกรรม 'ฟังสร้างสุข' มาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นที่จะเปิดพื้นที่ให้คนไทยได้ฝึกฝนการฟัง ไม่ว่าจะเพื่อเยียวยาตัวเอง ความสัมพันธ์ รวมถึงเยียวยาความรู้สึกของคนที่อยู่รอบข้าง และวันนี้เรื่องของการฟังก็ถูกนำมาต่อยอดเป็นสื่อสร้างสรรค์ คลิปวีดีโอ 'ฟังเสียงเพื่อนซึมเศร้า' เพื่อกระตุ้นให้คนในสังคมเข้าใจเรื่องการฟัง และนำมาประยุกต์ใช้ในการเยียวยาผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยหรือผู้มีอาการซึมเศร้า

 

คลิป 'ฟังเสียงเพื่อนซึมเศร้า' โดดเด่นด้วยเทคนิคการผลิตที่ไม่มีภาพอะไร นอกจากตัวหนังสือที่แสดงบทสนทนาที่เรากำลังได้ยิน แต่การไม่มีภาพนี้เองที่ทำให้เราตัดความสนใจจากสัมผัสอื่นๆ มาฟังด้วยหูและด้วยใจของเราจริงๆ เนื้อเรื่องภายในคลิปเป็นบทสนทนาของเพื่อนสองคน คนหนึ่งกำลังเล่าความทุกข์ และอีกคนหนึ่งกำลังรับฟัง คลิปแสดงให้เรามองเห็นความรู้สึกและสิ่งที่อยู่ในหัวของคนรับฟังที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

 

ขณะฟังแต่แท้จริงไม่ได้ฟัง...ขณะฟังแต่แท้จริงกำลังคิด...รู้สึก...และตัดสิน

ซึ่งสถานการณ์นี้ไม่เพียงจะไม่ช่วยเยียวยาคนตรงหน้า แต่หากกำลังทำร้ายตัวเราผู้รับฟังเองด้วยเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อคลิปดำเนินไปจนถึงจุดหนึ่งก็คลี่คลาย ด้วยการนำเสนอเทคนิค 7 ขั้นตอนของการรับฟังที่ถูกต้อง พร้อมกับมีตัวอย่างประกอบให้เราได้เห็นและเข้าใจสถานการณ์การทำงานของหู สมองและใจของเราไปพร้อม ๆ กัน นั่นจึงทำให้คลิปนี้ เป็นคล้าย ๆ How to ขั้นพื้นฐานที่จะทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องการฟังอย่างแท้จริง ทั้งยังสามารถนำไปลองปฏิบัติได้ด้วยตัวเองด้วย 7 ขั้นตอนที่แนะนำ

 

และแม้ชื่อคลิปจะมีชื่อว่า ฟังเสียงเพื่อนซึมเศร้า แต่ 7 ขั้นตอนที่แนะนำ ถือเป็น 7 ขั้นตอนพื้นฐานของการฟังที่แท้จริง เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการรับฟังเรื่องต่างๆ จากคนใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ก็ตาม

 

ที่สำคัญสิ่งวิเศษที่สุดที่เราจะได้พบเมื่อเราฝึก ‘ฟังด้วยหัวใจ นอกจากเราจะได้ช่วยคนตรงหน้า เรายังจะได้ค้นพบตัวเราเองที่ซ่อนอยู่ภายในใจ เราจะเข้าใจตัวเองมากขึ้น สงบขึ้น มีสติมากขึ้น เห็นตัวเองชัดเจนมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะการฟังที่แท้จริง จะทำให้เราฟังเสียงที่ชัดที่สุดและสำคัญที่สุดได้ นั่นคือเสียงของ ตัวเราเอง

 

เริ่มเปลี่ยนแปลงด้วย 7 ขั้นตอนของการฟัง แล้วคุณจะค้นพบและเข้าใจว่า ฟังช่วยสร้างสุขได้อย่างไรด้วยตัวคุณเอง

 

ที่มาสื่อสร้างสรรค์

บทความอื่นของภาคี ดูทั้งหมด

บทความอื่นของภาคี

ธนาคารจิตอาสา

ดูทั้งหมด
สื่อสร้างสรรค์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดูทั้งหมด
keyboard_arrow_up

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่.