ประเภทสื่อ
สื่อสร้างสรรค์: คู่มือแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ 2562
สื่อสร้างสรรค์: คู่มือแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ 2562
19 สิงหาคม 2562
โดย มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย
8
ถูกแชร์ทั้งหมด

รายละเอียด

ทุกวันนี้ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาบนเตียงนอน เดินออกจากบ้าน ขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงาน บนโต๊ะอาหาร ห้องประชุม ฯลฯ ทุกๆ พื้นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพที่เราเห็นคุ้นชินตาคือภาพผู้คน 'ไถ' โทรศัพท์มือถือทั้งด้วยความเคยชิน ความสนใจ ความบันเทิง การทำงาน การสื่อสาร และเพื่ออะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย ฯลฯ 

.

ด้วยบริบทของการดำเนินชีวิตและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การถาโถมของสื่อที่ใกล้ตัวเรามากขึ้นๆ ส่งผลให้อายุของผู้ใช้งานออนไลน์ลดลงเรื่อยๆ ด้านหนึ่งคือความตื่นตัว กระตุ้นให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องหันมาใส่ใจเรียนรู้สื่อออนไลน์ ขณะที่อีกด้าน ปัญหาที่แฝงมากับการเติบโตของโลกออนไลน์ ก็กำลังค่อยๆ คืบคลานขยายเงาดำใหญ่ขึ้นๆ จนทำให้หลายฝ่ายต้องเริ่มหันมาตระหนักและให้ความสำคัญ

.

คู่มือแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์เล่มนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความห่วงใยจากสายตาของผู้ใหญ่ที่เฝ้ามองภัยร้ายของโลกออนไลน์ที่กำลังคุกคามเด็กและเยาวชนไทย ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และกรมกิจการเด็กและเยาวชน จึงได้ร่วมกันจัดทำคู่มือแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์เล่มนี้ขึ้น โดยนำข้อมูลจากงานสำรวจของศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (Child Online Protection Action Thailand : COPAT) ที่ได้ทำการสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุ 6-18 ปี จำนวน 15,318 คน โดยทำการสำรวจในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ปี พ.ศ.2562 ปรากฏผลสำรวจในหลายแง่มุมที่น่าสนใจทั้งในประเด็นพฤติกรรมเสี่ยงออนไลน์ การรับหรือใช้สื่อลามกอนาจารออนไลน์ ประเภทของภัยออนไลน์ที่เกิดกับเด็กและเยาวชน รวมไปถึงสถานการณ์การโดนกลั่นแกล้งทางออนไลน์และวิธีที่เด็กและเยาวชนของเราใช้รับมือเมื่อเผชิญหน้ากับการกลั่นแกล้งนั้นๆ

.

คุ่มือเล่มนี้มีทั้งหมด 12 หน้า ความน่าสนใจคือการหยิบจับสถิติการสำรวจแปรออกมาเป็นภาพ Infographic ที่ง่ายต่อการอ่านและทำความเข้าใจ ในหน้าแรกของเล่ม ยังมีการดึงสถิติในแต่ละประเด็นที่น่าสนใจออกมาสรุปให้อ่านเข้าใจง่ายได้จบครบในหน้าเดียว ใครที่ไม่มีเวลา อ่านหน้าแรกก็จะพอมองเห็นภาพรวมสถานการณ์ทั้งหมดได้ในทันที แล้วจึงค่อยเลือกอ่านสถิติในแต่ละประเด็นในหน้าต่อไปโดยละเอียดตามความสนใจ

.

 

ถัดจากหน้าแรก ก็จะเข้าสู่สถิติผลสำรวจในแต่ละประเด็น ลงในรายละเอียด แจกแจงสถิติให้เป็นเป็นตัวเลขชัดเจน มีการหยิบประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมาเป็นหัวข้อ กระตุ้นเตือนให้คนอ่านไม่พลาดสิ่งที่ควรเน้นหรือให้ความสำคัญ 

.

ส่วนสุดท้ายของเล่ม ตั้งแต่หน้า 7 ไปจนถึงหน้า 12 เป็นภาพ Infographic แนะนำแนวทางการดูแลเด็กและเยาวชนไทยในการรับมือภัยออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การรับมือการกลั่นแกล้งออนไลน์ รู้จักและเข้าใจสถานการณ์ของโรคติดเกมรวมไปถึงแนวทางการป้องกัน แนวทางการเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัล เทคนิคการเลี้ยงลูกให้มีความฉลาดทางดิจิทัลหรือ DQ และข้อสุดท้ายสิ่งที่ควรพึงระวังของพ่อแม่ผู้ปกครองยุคออนไลน์ คือการย้ำเตือนถึงการละเมิดสิทธิเด็กทางออนไลน์ด้วยการโพสต์ภาพต่างๆ ที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองอาจไม่ทันคาดคิดถึงภัยที่จะตามมาอีกมากมาย

.

สถิติมีไว้เพื่อให้เรามองเห็นสถานการณ์โดยรวม ความรู้มีไว้ประหนึ่งอาวุธทางปัญญา รวมความแล้ว นี่เป็นคู่มือแนวทางการปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ที่ครบเครื่องอีก 1 เล่ม อ่านง่าย เบาๆ ด้วยจำนวนหน้า สวยงามด้วยสีสันและรูปแบบการนำเสนอ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยข้อมูลและเนื้อหาความรู้ที่พ่อแม่ผู้ปกครองยุค 4.0 ไม่ควรพลาด

.

ทุกวันนี้ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาจนถึงเข้านอน...ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพที่เราเห็นคุ้นชินตาคือภาพผู้คน 'ไถ' โทรศัพท์มือถือกันตลอดแทบทุกพื้นที่ทุกสถานการณ์....ภายใต้นิ้วที่กำลัง 'ไถ' ไปในโลกออนไลน์ สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ที่จะ 'Click' ไปในพื้นที่ที่ปลอดภัย 'Skip' ไปในความเสี่ยง 'delete' ภัยที่กำลังคุกคามเด็กและเยาวชนของเรา และไม่ลืมที่จะ 'Share' แบ่งปันข้อมูลและสื่อดี ๆ นี้ไปสู่ผู้คนอีกมากมาย :)

ที่มาสื่อสร้างสรรค์

keyboard_arrow_up

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่.