ประเภทสื่อ
รีวิวสื่อสร้างสรรค์ ชุดความรู้ทีี่ท่านอาจสนใจ หรือกำลังค้นหาอยู่

การ์ตูน ดีลีท

1 กันยายน 2560
โดย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย)

เพราะชีวิตไม่ได้ ‘ดีลีท’ (Delete) กันง่าย ๆ อย่างที่คิด   ยุคสมัยที่สื่อดิจิทัลครองเมือง ทุกอย่างง่ายเพียงแค่เพียงกดปุ่ม อยากจะสร้างอะไรก็ง่าย ๆ แค่คลิกปุ่ม ‘แชะ แชท โชว์’พอเวลาไม่ต้องการอะไรแล้ว ก็ง่าย ๆ แค่กดปุ่ม ‘ดีลีท (Delete)’ ด้วยความเคยชินและพฤติกรรมซ้ำ ๆ ทำให้หลายครั้งเราไม่ทันคาดคิดว่า เรื่องราวบางอย่างในชีวิตไม่ได้ลบทิ้งกันง่าย ๆ เพียงแค่คลิกเดียว   เรื่องราวในการ์ตูนเรื่อง ‘ดีลีท’ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นการไม่รู้เท่าทันสื่อไอทีอย่างโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ทุกวันนี้มีโทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์สื่อสารเชื่อมโยงในโลกออนไลน์ หลายคนสนุกสนาน หลงใหล เพลิดเพลิน ฉกฉวยโอกาสจากการสื่อสารที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนในโลกออนไลน์กลั่นแกล้งเพื่อน คิดว่าเป็นเพียงแค่เรื่องสนุกเล็กน้อย โดยไม่ทันรู้ถึงผลเสียหายที่จะตามมา   ‘น้องตาล’ ตัวละครเอกในการ์ตูนเรื่องนี้ สนุกเพลิดเพลินกับการถ่ายรูป แชร์ กดไลก์ ในโลกออนไลน์ เมื่อเพื่อน ๆ มาทำให้โกรธ น้องตาลก็ใช้สื่อดิจิทัลเรียนรู้ในทางที่ผิด โดยเข้าไปเรียนรู้เรื่องการไปล้วงข้อมูลส่วนตัวของเพื่อน ถ่ายรูปเพื่อนในห้องน้ำ ในอากัปกิริยาไม่เหมาะสม แล้วนำไปโพสต์แชร์ในที่สาธารณะ เพื่อแกล้งให้เพื่อน ๆ อับอาย   ผลการกระทำของน้องตาลสร้างความเสียหายไม่ใช่แค่เพื่อน ๆ ที่เคยคิดว่าเป็นแค่เรื่องสนุกขำ ๆ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ขยายวงกว้างไปถึงผู้ปกครองและโรงเรียน น้องตาลพอเห็นความเสียหาย ก็คิดว่าแค่เพียง ‘ดีลีท’ ทุกอย่างออกจากโทรศัพท์ก็เพียงพอแล้ว แต่เด็กน้อยไม่ได้รู้เท่าทันว่า เพียงแค่ดีลีทไม่ได้ทำให้ทุกอย่างหายไป ข้อมูลทุกอย่างยังคงอยู่ และระบุได้ว่าใครเป็นคนทำ โชคดีที่เรื่องนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนที่คุณครูและเพื่อน ๆ พร้อมที่จะให้โอกาสและแก้ไข   การ์ตูนเรื่องนี้จึงเป็นสื่อสร้างสรรค์ที่เหมาะกับเด็ก ๆ ในวัยเรียน ได้อ่านเพื่อเรียนรู้การเท่าทันสื่อ ใช้สื่ออย่างปลอดภัย ถูกต้อง และเหมาะสม ด้วยสีสันการ์ตูนสดใส เรื่องราวแฝงอารมณ์ขันของนักเขียนการ์ตูนชื่อดังอย่าง สละ นาคบำรุง ทำให้การ์ตูนดีลีทเป็นสื่อที่ผู้ใหญ่ควรแนะนำให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสและอ่านสักครั้ง   ...เพราะเรื่องราวในชีวิตจริงที่เด็กและเยาวชนของเราต้องเผชิญ บางครั้งอาจรุนแรงจนไม่อาจดีลีทหรือย้อนกลับไปแก้ไขได้อีกครั้งเช่นกัน...   ** 'ดีลีท' เป็น 1 ในผลงานโครงการหนังสือนิทานภาพและการ์ตูนชุด 'ฉลาดรู้ทันสื่อดิจิทัล' โดยสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม **

การ์ตูน ดีลีท

เพราะชีวิตไม่ได้ ‘ดีลีท’ (Delete) กันง่าย ๆ อย่างที่คิด   ยุคสมัยที่สื่อดิจิทัลครองเมือง ทุกอย่างง่ายเพียงแค่เพียงกดปุ่ม อยากจะสร้างอะไรก็ง่าย ๆ แค่คลิกปุ่ม ‘แชะ แชท โชว์’พอเวลาไม่ต้องการอะไรแล้ว ก็ง่าย ๆ แค่กดปุ่ม ‘ดีลีท (Delete)’ ด้วยความเคยชินและพฤติกรรมซ้ำ ๆ ทำให้หลายครั้งเราไม่ทันคาดคิดว่า เรื่องราวบางอย่างในชีวิตไม่ได้ลบทิ้งกันง่าย ๆ เพียงแค่คลิกเดียว   เรื่องราวในการ์ตูนเรื่อง ‘ดีลีท’ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นการไม่รู้เท่าทันสื่อไอทีอย่างโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ทุกวันนี้มีโทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์สื่อสารเชื่อมโยงในโลกออนไลน์ หลายคนสนุกสนาน หลงใหล เพลิดเพลิน ฉกฉวยโอกาสจากการสื่อสารที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนในโลกออนไลน์กลั่นแกล้งเพื่อน คิดว่าเป็นเพียงแค่เรื่องสนุกเล็กน้อย โดยไม่ทันรู้ถึงผลเสียหายที่จะตามมา   ‘น้องตาล’ ตัวละครเอกในการ์ตูนเรื่องนี้ สนุกเพลิดเพลินกับการถ่ายรูป แชร์ กดไลก์ ในโลกออนไลน์ เมื่อเพื่อน ๆ มาทำให้โกรธ น้องตาลก็ใช้สื่อดิจิทัลเรียนรู้ในทางที่ผิด โดยเข้าไปเรียนรู้เรื่องการไปล้วงข้อมูลส่วนตัวของเพื่อน ถ่ายรูปเพื่อนในห้องน้ำ ในอากัปกิริยาไม่เหมาะสม แล้วนำไปโพสต์แชร์ในที่สาธารณะ เพื่อแกล้งให้เพื่อน ๆ อับอาย   ผลการกระทำของน้องตาลสร้างความเสียหายไม่ใช่แค่เพื่อน ๆ ที่เคยคิดว่าเป็นแค่เรื่องสนุกขำ ๆ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ขยายวงกว้างไปถึงผู้ปกครองและโรงเรียน น้องตาลพอเห็นความเสียหาย ก็คิดว่าแค่เพียง ‘ดีลีท’ ทุกอย่างออกจากโทรศัพท์ก็เพียงพอแล้ว แต่เด็กน้อยไม่ได้รู้เท่าทันว่า เพียงแค่ดีลีทไม่ได้ทำให้ทุกอย่างหายไป ข้อมูลทุกอย่างยังคงอยู่ และระบุได้ว่าใครเป็นคนทำ โชคดีที่เรื่องนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนที่คุณครูและเพื่อน ๆ พร้อมที่จะให้โอกาสและแก้ไข   การ์ตูนเรื่องนี้จึงเป็นสื่อสร้างสรรค์ที่เหมาะกับเด็ก ๆ ในวัยเรียน ได้อ่านเพื่อเรียนรู้การเท่าทันสื่อ ใช้สื่ออย่างปลอดภัย ถูกต้อง และเหมาะสม ด้วยสีสันการ์ตูนสดใส เรื่องราวแฝงอารมณ์ขันของนักเขียนการ์ตูนชื่อดังอย่าง สละ นาคบำรุง ทำให้การ์ตูนดีลีทเป็นสื่อที่ผู้ใหญ่ควรแนะนำให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสและอ่านสักครั้ง   ...เพราะเรื่องราวในชีวิตจริงที่เด็กและเยาวชนของเราต้องเผชิญ บางครั้งอาจรุนแรงจนไม่อาจดีลีทหรือย้อนกลับไปแก้ไขได้อีกครั้งเช่นกัน...   ** 'ดีลีท' เป็น 1 ในผลงานโครงการหนังสือนิทานภาพและการ์ตูนชุด 'ฉลาดรู้ทันสื่อดิจิทัล' โดยสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม **

เท่าทันสื่อ อำนาจในมือพลเมืองดิจิทัล

จิ๊กซอว์ความรู้ ‘เท่าทันสื่อ’ สู่ความเป็นพลเมืองยุคดิจิทัล   ดิจิทัล (digital) อาจเรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีอิทธิผลเปลี่ยนแปลงชีวิตของมนุษย์ในยุคศตวรรษนี้มากที่สุด โดยเฉพาะ ‘การสื่อสารดิจิทัล’ เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิต จนเกิดคำที่เรียกว่า ‘สื่อเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิต’ ทั้งนี้ เพราะรูปแบบการสื่อสารโดยเฉพาะการสื่อสารในโลกออนไลน์ ได้เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สิ่งที่เห็นได้ง่ายและชัดเจนที่สุดคือ ทุกวันนี้เราทุกคนสามารถพูดคุยกับคนอีกซีกโลกได้เพียงแค่พรมนิ้วพิมพ์ลงบนหน้าจอสมาร์ทโฟน ข้อมูลและความรู้หลากหลายมีรอพร้อมอยู่ให้เราได้ค้นหา ทุกภาษา ทุกรูปแบบ เลือกได้ตามใจปรารถนา หรือบางครั้งแม้เรายังไม่ทันเลือก แต่สมองอัจฉริยะในโลกอินเทอร์เน็ตก็ประมวลประวัติการใช้งานของเรา วิเคราะห์ และจัดหาข้อมูลที่เราสนใจมาให้พร้อม ราวกับมีความหยั่งรู้เดาใจความคิดของเราได้อย่างแม่นยำ   อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น และเรียกได้ว่าเป็นการพลิกปรากฏการณ์รูปแบบการสื่อสารในอดีตอย่างสิ้นเชิง นั่นคือโลกดิจิทัลได้มอบอำนาจการสื่อสารให้พลเมืองธรรมดาทุกคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เปลี่ยนตัวเองจาก ‘ผู้รับสาร’ กลายเป็น ‘ผู้ส่งสาร’ คนธรรมดา ๆ หลายคนลุกขึ้นมากลายเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด เป็นซุปเปอร์สตาร์ในโลกอินเทอร์เน็ต ทุกคนมีช่องทางที่จะแสดงความคิดเห็น เผยแพร่เรื่องราวของตัวเองไปยังคนจำนวนมากในโลกออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องแคร์หรือพึ่งพาสื่อหลักเหมือนในอดีตที่ผ่านมา   และก็เหมือนเช่นทุกอย่างในโลกใบนี้ที่มีสองด้าน ท่ามกลางความหอมหวานของอำนาจสื่อในมือของพลเมืองดิจิทัล ความจริงอีกด้านที่กำลังผุดพลุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วตามกันมาติด ๆ คือการใช้อำนาจสื่อในทางที่ผิด ดังปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของข่าวเท็จ การหลอกลวง การใส่ร้ายป้ายสี กลั่นแกล้ง ด่าทอ แบ่งข้างความคิดอย่างสุดโต่งในโลกออนไลน์จนหลายครั้งลุกลามส่งผลกระทบมาสู่ชีวิตในโลกความเป็นจริงอย่างร้ายแรงจนคาดไม่ถึง   นั่นจึงเป็นที่มาของการเกิดหนังสือเล่มนี้ ‘เท่าทันสื่อ อำนาจในมือพลเมืองดิจิทัล’ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการประมวลและต่อจิ๊กซอว์ความรู้เรื่องการเท่าทันสื่อกับการสร้างพลเมือง (ที่ดี) ในยุคดิจิทัลให้เราผู้อ่านซึ่งเป็นคนธรรมดาสามัญได้เข้าใจและเห็นภาพของประเด็นเรื่องนี้ได้ชัดเจนครบถ้วนมากขึ้นก็ว่าได้   เนื้อหาตั้งต้นในหนังสือเล่มนี้ ตกผลึกมาจากการจัดงานสัมมนาระหว่างประเทศในประเด็นเรื่องการรู้เท่าทันสื่อฯ ของ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง Thai Civic Education Center (TCE) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ร่วมกับการรวบรวมค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องจากหน้าเว็บไซต์ สำนักข่าว งานศึกษาวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงการสัมภาษณ์บุคคลที่น่าสนใจในบางประเด็น ในระหว่างช่วงเดือน พฤศจิกายน 2560 – มีนาคม 2561   ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ จึงเรียกได้ว่ามีการผสมผสานทั้งเนื้อหาที่เป็นเชิงความรู้วิชาการ และเรื่องราวจากสถานการณ์จริง ความคิดเห็นของบุคคลจริงร่วมสมัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้เขียนนำมาย่อย ปรุงรส จนกลายเป็นหนังสือที่กลมกล่อม ไม่เคร่งเครียดหรือหนักจนอ่านไม่ไหว และก็ไม่เบาเป็นปุยนุ่นจนไม่มีหลักฐานมารองรับให้น่าเชื่อถือ   เนื้อหาในเล่มแบ่งออกเป็น 10 บท เมื่ออ่านไล่เรียงกันไป ก็จะทำให้ค่อย ๆ คลี่ภาพการรู้เท่าทันสื่อและบทบาทของพลเมืองในโลกดิจิทัลอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่แนวคิด MIDL ไล่เรียงไปจนถึงบทบาทของพลเมือง การเท่าทันข่าวปลอม บทบาทและประสบการณ์การใช้แนวคิด MIDL ในไทยและต่างประเทศ แนวคิดและตัวอย่างพลังของสื่อดิจิทัลในมือของพลเมืองทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การรณรงค์เปลี่ยนแปลงประเด็นต่าง ๆ ในสังคม ไปจนถึงกรอบความเข้าใจในภาพรวมของการกำกับดูแลสื่อเชิงนโยบายจากองค์กรที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง   หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับทั้งนักวิชาการ นักการศึกษา นักสื่อสาร ผู้ที่สนใจงานด้านสื่อและหน้าที่พลเมือง รวมไปจนถึงพลเมืองโลกดิจิทัลที่ใช้การสื่อสารออนไลน์ (ซึ่งก็คือพวกเราทุกคนนั่นแหละ) เมื่ออ่านแล้วจะได้มองเห็นภาพการรู้เท่าทันสื่ออย่างหลากหลายมิติ โดยเฉพาะตัวอย่างการใช้สื่อจริงของกลุ่มบุคคลในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกรณีการคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ การสื่อสารเพื่อความเข้าใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือประสบการณ์การถ่ายทำสารคดี ‘แม่โขงโนแมด’ เพื่อสร้างความเข้าใจของคนในสังคม ที่มีต่อคนที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยมุมมองและสายตาของคนรุ่นใหม่ที่ต่างจากการนำเสนอของสื่อกระแสหลัก ฯลฯ   มาถึงวันนี้แล้ว....โลกที่หมุนเร็วทำให้เราไม่อาจที่จะหยุดหรือปิดกั้นใครออกจากเทคโนโลยีหรือการสื่อสารในโลกดิจิทัลได้อีกต่อไป ดังนั้นทางเลือกเดียวที่เราจะทำได้คือ การเตรียมตัวเองให้พร้อมและเผชิญหน้ากับโลกดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน ดังเช่นนักเดินทางที่เตรียมพร้อมก่อนออกเดินทาง แผนที่ที่แม่นยำในมือ ทักษะการเดินทางที่ฝึกฝนอย่างเชี่ยวชาญ รวมถึงปัญญาที่จะมองเห็นทั้งภัยและโอกาส ย่อมพาให้พวกเราทุกคนเดินทางในโลกดิจิทัลได้อย่างฉลาด ปลอดภัย ไม่พลัดหลง และสามารถใช้ ‘อำนาจ’ ในมือที่กำลังคลิกเม้าท์หรือพิมพ์บนคีย์บอร์ดของเรา สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมได้อีกมากมาย               เหมือนดังเช่นทุกอย่างที่มีสองด้าน             โลกดิจิทัลก็เช่นเดียวกัน....             จะเลือกด้านดีหรือด้านร้าย             อำนาจอยู่ในมือเรา...พลเมืองดิจิทัล

อิทธิพลสื่อ ผลร้ายจากสื่อไม่เหมาะสม

คู่มือสามัญ ‘รู้ทันสื่อ’ ประจำบ้าน   สื่อกับอิทธิพลต่อผู้ดูหรือผู้รับสาร ยังคงเป็นเรื่องที่นักสื่อสาร นักจิตวิทยา นักสังคมศาสตร์ พยายามค้นหาความจริงมาตลอดว่า สื่อส่งผลต่อผู้รับสารจริงหรือไม่? ส่งผลกระทบแค่ไหน? ยาวนานเท่าไร?   น่าตกใจที่ความพยายามด้านหนึ่งของการค้นหาความจริงนี้พบว่า อิทธิพลของสื่อนั้นส่งผลต่อทัศนคติ จิตใจ ต่อเนื่องไปจนถึงพฤติกรรมของผู้รับสารกลุ่มที่เป็นเด็กและเยาวชน โดยการศึกษาวิจัยจำนวนหนึ่งค้นพบว่า อิทธิพลของสื่อจะส่งผลต่อเด็กทั้งในระยะสั้น ๆ และในระยะยาว คือมีอิทธิพลฝังรากลึก โดยอาจจะเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตของเด็กคนหนึ่งไปเลยก็ได้   ถ้าเป็น ‘สื่อดี’ พ่อแม่ก็เตรียมวางใจได้ เพราะลูกเราจะดี ดี๊ ดี แบบยาวนานไปจนโต แต่...ถ้าเป็น ‘สื่อร้าย’ ขึ้นมาล่ะ อะไรจะเกิดขึ้น ?   อินโฟกราฟิก ‘อิทธิพลสื่อ’ ผลงานการสร้างสรรค์โดย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ชิ้นนี้ ทำหน้าที่รวบรวม สรุป ให้คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ได้มองเห็น เข้าใจถึงอิทธิพลของสื่อร้ายที่จะส่งผลต่อเด็กและเยาวชนได้อย่างง่าย กระชับ และชัดเจน โดยตัวสื่อได้รวบรวมผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเด็กอย่างรอบด้าน ตั้งแต่ในช่ววระยะเวลาสั้น ๆ ไปจนถึงระยะยาวซึ่งจะส่งผลต่อความคิด ทัศนคติ และรูปแบบการใช้ชีวิตของเด็กในอนาคต   สื่อสร้างสรรค์ชิ้นนี้ยังแบ่งรูปแบบเนื้อหาเป็น 2 ส่วน นั่นคือ นอกจากส่วนแรกที่พูดถึงอิทธิพลผลร้ายจากสื่อที่ไม่เหมาะสมต่อเด็กแล้ว ด้านล่างของสื่อ ยังมีส่วนที่เป็นเนื้อหาคำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ในการช่วยเป็นหูเป็นตา...เป็นรั้วกั้น...เป็นตัวอย่าง...เป็นผู้ช่วย...และเป็นอะไรหลาย ๆ อย่างที่จะช่วยให้ลูก ‘รู้เท่าทัน’ และสามารถ ‘ใช้สื่อได้อย่างปลอดภัย’ อย่างเป็นรูปธรรม สามารถนำไปปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวันง่าย ๆ อีกด้วย   สื่ออินโฟกราฟิกชิ้นนี้ จึงอาจเปรียบได้เหมือนเป็นคู่มือสามัญประจำบ้านฉบับย่อของครอบครัวที่จะใช้ในการเรียนรู้เรื่องการเปิดรับ รู้ทัน และใช้สื่อได้อย่างสร้างสรรค์ แบบหน้าเดีียวครบ จบทุกอย่าง   ในยุคที่สื่อรุมล้อมรอบตัวเราตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน การที่ครอบครัวมีคู่มือเตรียมพร้อมให้เห็นเป็นแนวทางชัดเจน ก็คงจะดีกว่าการที่ปล่อยให้เด็กต้องไปเผชิญหน้ากับสื่อร้าย เสี่ยงกับผลกระทบต่าง ๆ โดยลำพังอย่างแน่นอน

เรื่องเล่าเหล้าเรื่องลวง

มองเรื่อง ‘เหล้า’ ผ่านเรื่อง ‘ลวง’   ย้อนกลับไปดูตั้งแต่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมการดื่มเหล้าเหมือนจะอยู่คู่มนุษย์มาทุกยุคทุกสมัย เราจะเห็นการดื่มเหล้าในงานสังสรรค์ เห็นเหล้าปรากฏในฐานะผู้เชื่อมสัมพันธไมตรีในวงเจรจาธุรกิจ การเมือง ไปจนถึงการทูต เราเห็นภาพการดื่มเหล้าอยู่คู่กับความสำเร็จในการเฉลิมฉลอง เห็นภาพการดื่มเหล้าเป็นมิตรแท้ในยามเศร้าโศกเสียใจ   คำถามคือ ‘เหล้า’ เป็นเครื่องมือแสนมหัศจรรย์นั้นได้จริงหรือ? หรือมีใครบางคน (หรือหลายคน) กำลังสร้างภาพให้เหล้ามา ‘ลวง’ เรา?   ‘เรื่องเล่าเหล้าเรื่องลวง’ เป็นผลงาน Infographic Video Clip ในโครงการ ‘อย่าปล่อยให้เหล้ามาลวงเรา’ เนื้อหาของคลิปสะท้อนให้เห็นภาพความจริงของเหล้าในชีวิตของเราในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งด้านความเชื่อในสังคม กลยุทธ์การตลาดของสินค้าแอลกอฮอล์ ผลกระทบของเหล้าต่อสุขภาพ สังคม ไปจนถึงเชิงเศรษฐกิจในภาพรวมระดับประเทศ ข้อดีของคลิปนี้คือการสามารถอธิบายตัวเลขยาก ๆ หรือสถานการณ์ร้าย ๆ ออกมาเป็นภาพได้อย่างเป็นรูปธรรมและเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว   Infographic Video Clip นี้ จะทำให้เรามองเห็นเส้นทางของ ‘เหล้า’ ที่มา ‘ลวง’ เราแบบต่อเนื่องอย่างที่เราอาจไม่เคยฉุกคิดมาก่อน กระตุกความคิดให้คนดู ได้มองเห็นผลเสียของการดื่มเหล้าที่หลายคนอาจจะเคยคิดว่าส่งผลต่อตับของเราแต่เพียงผู้เดียวไม่เห็นจะเกี่ยวกับใคร ได้มองเห็นผลเสียของเหล้าที่กระทบต่อคนอื่น ๆ ในอีกแง่มุมที่อาจจะไม่เคยคิดมาก่อน   การนำเสนอภาพการ์ตูนสีสันสดใส การใช้สัญลักษณ์ รวมไปถึงการเคลื่อนไหวภาพอย่างต่อเนื่องลงจังหวะสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง คลี่คลายเรื่องหนัก ๆ ให้กลายเป็นสื่อที่ดูง่าย การสร้างสรรค์สื่อด้วยแนวคิดและมุมมองของผู้ผลิตที่เป็นกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ จึงทำให้สื่อสร้างสรรค์ชิ้นนี้เหมาะที่จะนำไปให้เด็ก ๆ และเยาวชน ใช้เรียนรู้และสร้างความตระหนักในเรื่องเหล้าได้อย่างสนุกและน่าสนใจด้วยเป็นวัยที่ใกล้เคียงกัน   ทุกวันนี้ การปลูกฝังแบรนด์ของสินค้าตั้งแต่ในวัยรุ่นวัยเรียนกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญของสินค้าจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือสินค้าประเภทเหล้าและแอลกอฮอล์ กฎหมายและข้อบังคับอาจจะช่วยเด็กและเยาวชนของเราได้ส่วนหนึ่ง แต่อาวุธที่ดีที่สุดคงไม่มีอะไรดีไปกว่า การช่วยกันบ่มเพาะให้เขาได้มองเห็น เข้าใจ เรียนรู้และเท่าทันความจริงในหลายด้านหลากมิติ ไม่ปล่อยให้เหล้ามา ‘ลวง’ แต่เรียนรู้ที่จะ ‘เลือก’ สิ่งที่ดีและเหมาะสมต่อชีวิตของตัวเองได้อย่างมีสติและรู้เท่าทัน   ** เรื่องเล่าเหล้าเรื่องลวง เป็น 1 ในผลงานจากโครงการอย่าปล่อยให้เหล้ามาลวงเรา โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) **  

365 กิจกรรมมหัศจรรย์ 3 ดี สื่อสร้างสุข

"คุณครูก็ได้...พ่อแม่ก็ดี" นิยามการใช้คู่มือ "365 กิจกรรม มหัศจรรย์ 3 ดี สื่อสร้างสุข"   ใครเคยมีประสบการณ์จัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ คงจะเคยมีเหตุการณ์คิดกิจกรรมไม่ออกบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะคุณครูปฐมวัยที่ต้องใช้กิจกรรมสอนลูกศิษย์ตัวน้อยทุกวัน สื่อคู่มือชิ้นนี้น่าจะเป็นทางออกที่น่าสนใจ   คู่มือ "365 กิจกรรม มหัศจรรย์ 3 ดี สื่อสร้างสุข"เป็น 1 ในผลงานของโครงการพัฒนาชุดความรู้เพื่อเด็กและครอบครัว สนับสนุนโดย สสส. เมื่อเปิดปกสีสันสดใสเข้าไปดูเนื้อหาด้านในแล้ว 3 บทแรกจะเป็นการปูแนวคิดในการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยบทแรกจะว่าด้วยการใช้ 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) เชื่อมโยงกับคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของเด็กปฐมวัย ส่วนบทที่ 2 นั้นเป็นเรื่องของแนวคิดการพัฒนาเด็กด้วยการเล่น และบทที่ 3 ว่าด้วยการจัดพื้นที่การเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย   ผ่าน 3 บทแรกเรียกได้ว่าคุณครูก็ได้คลังความรู้แนวคิดในระดับหนึ่ง ต่อจากนั้นในคู่มือก็จะนำเสนอกิจกรรมให้คุณครูได้นำไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียนกันได้เลย โดยคู่มือแบ่งหมวดหมู่ของกิจกรรมเป็น 7 หมวด ครอบคลุมมิติทั้ง 4 คือ กาย ใจ สังคม ปัญญา เสน่ห์ของกิจกรรมในคู่มือนี้อยู่กิจกรรมที่นำเสนอมีความหลากหลาย ทั้งความเป็นไทย สากล อุปกรณ์เป็นอุปกรณ์ง่าย ๆ ใกล้ตัว จะเห็นว่าแต่ละกิจกรรมใช้อุปกรณ์คล้าย ๆ กัน กระดาษ ดินสอ สีเทียน นอกจากจะง่ายกับคุณครูแล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า แค่อุปกรณ์ง่าย ๆ ไม่กี่ชิ้นเราก็สร้างกิจกรรมสนุก ๆ ให้กับเด็กได้หลากหลายแล้ว   หมวดสุดท้ายของคู่มือ ถือเป็นหมวดพิเศษ เนื่องด้วยคู่มือนี้จัดทำช่วงระหว่างในปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต หมวดสุดท้ายจึงเป็นชุดกิจกรรมพิเศษ 9 กิจกรรมเรียนรู้ตามรอยพ่อ ที่นำโครงการพระราชดำริที่โดดเด่นของในหลวง ร.9 มาให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ   โดยรวมแล้วคู่มือนี้จึงเหมาะกับผู้ที่สนใจและเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ไม่ว่าจะเป็นคุณครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และที่อยากจะเพิ่มเติมคือคุณพ่อคุณแม่ก็ใช้คู่มือนี้ได้เช่นกัน กิจกรรมหลายกิจกรรมสามารถเลือกไปประยุกต์เล่นกับลูกที่บ้านได้เลย นับเป็นสื่อดีสื่อสร้างสรรค์ที่จะช่วยสร้างพื้นที่คุณภาพให้ครอบครัวของเราได้อย่างเยี่ยมยอดเลยล่ะค่ะ  

เพลงมดลอยคอ

'มดลอยคอ' บทเพลงของคนตัวเล็กแต่หัวใจยิ่งใหญ่   ถ้านึกถึงอะไรที่ตัวเล็กกระจิ๋วหลิวจนแทบมองเห็น เชื่อว่า 'มด' ต้องเป็นหนึ่งในรายชื่อนั้นแน่นอน เรามักมีบทเพลงที่เกี่ยวกับมดให้เด็ก ๆ ร้อง อย่างเพลง 'มดตัวน้อยตัวนิด' นัยหนึ่งอาจเปรียบเทียบให้เห็นว่าเด็ก ๆ ตัวเล็กเหมือนมด แต่สามารถมีกำลัง มีความขยัน ได้จนคนตัวโต ๆ ต้องอายกันเลยทีเดียว   มาถึงยุคนี้ กลุ่มคนตัวดี มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว สนับสนุนโดย สสส. ส่งบทเพลงมดมาให้เด็ก ๆ ได้ฟังกันอีก 1 เพลง ชื่อว่าเพลง 'มดลอยคอ' มี 2 รูปแบบทั้งผู้ใหญ่ร้องและเด็กร้อง เนื้อเพลงของมดลอยคอว่าด้วยวันฝนตกวันหนึ่ง เจ้ามดตัวน้อยตกอยู่ในภาวะอันตรายเพราะน้ำท่วมจนต้องลอยคอ โชคดีได้ฮีโร่เป็นเด็กน้อยที่ผ่านมาเห็น จนได้ช่วยชีวิตมดตัวน้อยเอาไว้ได้จนปลอดภัย   จังหวะเพลงสบาย ๆ น่ารัก เนื้อเพลงให้คติสอนใจ ตัวสื่อผลิตเป็นคลิปวิดีโอด้วย คือจะฟังอย่างเดียวก็ได้ หรือจะดูภาพไปด้วยก็น่ารักสดใสดี (แต่ในเด็กเล็ก ๆ แนะนำให้ฟังดีกว่ามองจอนะคะ:)) คุณพ่อคุณแม่สามารถเอาเพลงนี้เปิดฟังกับเด็ก ๆ ได้เลย ฝึกออกเสียงร้องตาม ปรบมือไปด้วย ได้ทั้งประสาทหู การประสานสัมพันธ์ระหว่างมือ ปาก(ร้อง) และหู ฟังเสร็จแล้วยังชวนเด็กหาแง่คิดดี ๆ เรื่องการช่วยเหลือสัตว์หรือคนที่ด้อยกว่า คนที่เดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือ ได้เรื่องของคุณธรรมจริยธรรมเพิ่มเข้าไปได้อีก   ในวันหยุดคุณพ่อคุณแม่ยังอาจจะต่อยอดด้วยกิจกรรม ลองเดินไปในสวนหลังบ้างหรือละแวกบ้าน เอาแว่นขยาย ไปช่วยกันมองหาสัตว์ตัวเล็กกระจิ๋วหลิวที่อยู่ในธรรมชาติ แล้วลองช่วยกันค้นหาว่าเป็นสัตว์ประเภทไหน ชอบอะไร โอ้โฮ...เห็นไหมคะ สื่อดี ๆ ที่เรานำมาให้ลูกฟัง สามารถต่อยอดเป็นกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติและชีวิตสัตว์ต่าง ๆ ได้อีกด้วย   สิ่งที่น่าสนใจของเพลงมดลอยคออีกประการหนึ่ง นอกจากจังหวะเพลง เนื้อเพลง กิจกรรมต่อยอดที่ไปได้ไกลไม่รู้จบแล้วแล้ว การที่ชี้มุมมองให้เด็ก ๆ ได้เห็นจุดเล็ก ๆ ในธรรมชาติ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะปลูกฝังความละเอียดอ่อนในหัวใจวัยเยาว์ของเขา ใครคนใดที่เติบโตขึ้นมาด้วยดวงตาที่มองเห็นความงดงามที่ซ่อนอยู่ในธรรมชาติแม้เพียงจุดเล็ก ๆ ย่อมทำให้พบความสุขในชีวิตได้อย่างไม่ยากเย็นเลย

keyboard_arrow_up

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่.