ถูกแชร์ทั้งหมด
รายละเอียด
เมื่อเอ่ยถึงคำว่า ‘ชีวิต’ พวกเราส่วนใหญ่มักนึกถึงสัญลักษณ์แทนความหมายของการ ‘เกิด’ ความเจริญเติบโต ภาพดวงอาทิตย์ที่ทอแสง ต้นอ่อนของใบไม้ดอกไม้ที่ผลิดอกออกใบสดชื่น การออกเดินทาง รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เสียงหัวใจเต้น ฯลฯ หากใครจะเคยนึกถึงว่า ‘ชีวิต’ ย่อมมีความหมายครอบคลุมไปถึงช่วงเวลาแห่งความหม่นหมอง เจ็บปวด กัดกร่อน ผุพัง ผลไม้สุกงอมที่กำลังจะหลุดจากขั้ว ใบไม้ที่พร้อมจะปลิดปลิว ดวงอาทิตย์ที่เตรียมจะลับขอบฟ้าสู่ความมืดมนของยามค่ำคืน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของคำว่า ‘ชีวิต’ ด้วยเช่นกันมิใช่หรือ?
.
เมื่อมีเกิดก็ย่อมมีดับ มีพบย่อมมีจาก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นธรรมชาติเช่นเดียวกับ ‘ชีวิต’ ที่มีเริ่มต้นย่อมมีดับสลาย ทว่าปัจจุบันเทคโนโลยีและความสามารถทางการแพทย์และสาธารณสุขที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว กลับทำให้เราคิดว่า ‘ความตาย’ หรือการดับสลายกลายเป็นเรื่องไม่ธรรมชาติ เป็นความล้มเหลว เป็นเรื่องเลวร้ายที่เราควรต้องผลักไส ต่อสู้ ซึ่งหลายครั้งการดิ้นรนเพื่อให้พ้นหรือหนีห่างจากความตาย สุดท้ายกลับกลายเป็นการสร้างความทุกข์ทรมานให้กับทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลอย่างแสนสาหัส
.
จะดีกว่าไหมหากเราได้เตรียมตัวยอมรับว่าแท้จริงแล้ว ‘ความตาย’ เป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติของ ‘ชีวิต’ ที่เราต้องเรียนรู้และยอมรับ หากเราต้องฝึกปรือวิชาชีวิตเพื่อการอยู่อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีดังที่ยุคสมัยนี้มีหนังสือ How to มากมายออกมาในท้องตลาด อีกด้านหนึ่ง เราก็ควรให้ความสำคัญในการฝึกปรือวิชาชีวิตที่เกี่ยวพันกับ ‘การตาย’ อย่างเป็นสุข ตายดี และตายอย่างมีคุณภาพไม่แพ้กัน ไยเราจะเรียนรู้แต่การเกิดและปล่อยให้ความตายเป็นเรื่องปล่อยไปตามยถากรรมโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ หากเราทุกคนเลือกได้ที่จะ ‘ตายดี’
.
หนังสือ ‘วิชาชีวิต’ เล่มนี้ เป็น 1 ในสื่อสร้างสรรค์จากโครงการสื่อสารเพื่อส่งเสริมคุณภาพการอยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข ปีที่ 2 ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเนื้อหาในเล่มมีที่มาจากคลิปวิดีโอออนไลน์ทั้งหมด 14 ตอน ครอบคลุมการเรียนรู้เรื่องความตายดีอย่างครบทุกมิติ ทั้งจากแง่มุมของแพทย์ พยาบาล จิตอาสา ผู้ดูแล ผู้ป่วย นักกฎหมาย ฯลฯ
.
เนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้ จะคลี่ความหมายของคำที่เราเคยได้ยิน แต่ไม่เคยแน่ชัดในความหมายที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็น การดูแลผู้ป่วยในระยะท้าย มีความหมายแตกต่างอย่างไรกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง หรือมีความหมายเดียวกับการยุติการรักษาหรือไม่ การุณฆาตกับการตายดีหรือสิทธิในการเลือกตายเป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า พินัยกรรมกับ Living Well แตกต่างกันอย่างไร
.
อย่างไรก็ตาม คำว่าเรียนรู้เรื่อง ‘ความตาย’ ใช่ว่าจะไร้ความหมายกับ ‘คนอยู่’ ในหนังสือเล่มนี้ยังมีเนื้อหาที่พูดถึงการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ ผู้ป่วยกับพยาบาล ผู้ดูแลและแพทย์ การหาความคิดเห็นที่สองจากแพทย์ที่ทำการรักษา หรือการเตรียมตัวเขียน Living Well ไว้เสียแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เราสามารถกำหนดและเลือกวิธีการรักษาให้กับตัวเองได้ในวันที่ยังมีสติสัมปชัญญะอย่างสมบูรณ์
.
สิ่งที่น่าสนใจคือ การเรียนรู้วิชาชีวิตในระยะท้าย เพื่อนำสู่การตายดีหรือตายอย่างมีคุณภาพนั้นมิได้มองเพียงแค่มิติทางกายหรือสุขภาพ แต่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยการมองมิติของสุขภาวะทางจิตใจ จิตวิญญาณ ความสัมพันธ์ในระหว่างญาติมิตร ครอบครัว ที่ล้วนเกี่ยวโยงเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันที่จะช่วยสนับสนุนให้มนุษย์ทุกคนมีคุณภาพชีวิตตั้งแต่เกิดไปจนถึงวันสุดท้าย
.
ย่อหน้าสุดท้ายในบทแรกเรื่อง ‘ตายศาสตร์’ โดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีต้นทุนมากมายเพื่อสนับสนุนเรื่องของการตายดี แต่เพียงว่าเรายังไม่ได้ใช้สิ่งที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ เรามีระบบครอบครัวญาติมิตรที่ดูแลและไม่ทอดทิ้งกัน มีศาสนาที่ส่งเสริมความเชื่อเดียวกัน หากเรามีการสื่อสารในเรื่องนี้ให้มากขึ้น ก็จะทำให้เรื่องของการตายดีหรือตายอย่างมีคุณภาพเกิดขึ้นได้ในสังคมอย่างแน่นอน
.
ชวนกันมาเริ่มก้าวแรก เปิดใจเรียนรู้ถึง ‘ความตาย’ ว่าเป็นเรื่องราวธรรมชาติ วันใดวันหนึ่งเราต้องเผชิญหน้ากับความตาย ไม่ว่าจะเป็นความตายของคนใกล้ชิดหรือสุดท้ายของเราเอง และด้วยความจริงที่ว่าความตายไม่เคยกำหนดหรือบอกเวลาล่วงหน้าได้ การเรียนรู้วิชาชีวิตก็เหมือนการมีต้นทุนเก็บติดไว้ในกระเป๋า ถึงยามฉุกเฉิน เราจะรับมือทุกอย่างได้อย่างมีสติ และนำมาพาชีวิตทั้งตัวเราและคนรอบข้างให้มีคุณภาพไปได้ตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต
.
** วิชาชีวิตทั้ง 14 ตอนนอกจากการอ่านในรูปแบบสื่อหนังสือแล้ว ยังสามารถติดตามในรูปแบบสื่อคลิปออนไลน์ใน HealthyMediaHub นี้ได้เช่นเดียวกัน **