ประเภทสื่อ
สื่อสร้างสรรค์: Hearing Test
สื่อสร้างสรรค์: Hearing Test
19 สิงหาคม 2563
โดย มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แม่
0
ถูกแชร์ทั้งหมด

รายละเอียด

ทุกวันนี้เราอาจจะได้ยิน....แต่เราไม่เคยได้รับฟัง

โดยเฉพาะเสียงจาก 'คนที่เรารัก'

.

ในแต่ละปี เมื่อวันเวลาพาเราหมุนเวียนกลับมาครบกำหนด "วันแม่แห่งชาติ" ในปฏิทินเดือนสิงหาคม นับเป็นวาระที่ทุกคนต่างเฝ้ารอว่าวันแม่ปีนี้จะมีอะไรพิเศษๆ ออกมาบ้าง? และสำหรับวันแม่ปีนี้ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แม่ เพจสายสะดือ และ สสส. ได้จับมือร่วมกันผลิตสื่อหนังโฆษณาตัวใหม่ชื่อ Hearing Test โดยฝีมือของครีเอทีฟไดเรคเตอร์มือรางวัล กิตติ ไชยพร จากทีมมานะ และผู้กำกับที่เชี่ยวชาญหนังเชิงทดลอง Social Experiment อย่าง กมลวัฒน์ ชูเตชะ จากบริษัท มีอะไร จำกัด

.

Hearing Test เป็นภาพยนตร์โฆษณาความยาว 7.39 นาที เกิดขึ้นจากการมองเห็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่าง 'แม่-ลูก' ในบริบทปัจจุบัน ด้วยสภาพความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ผันแปรอย่างรวดเร็ว อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้สายสัมพันธ์ความรักแบบแม่ลูกต้องพลัดหล่นหรือจางหายไปโดยไม่ตั้งใจ อย่างไรก็ตาม บนความเชื่อว่าสายสัมพันธ์ของแม่ลูกนั้น เริ่มต้นครั้งแรก ณ สายสะดือ ที่ผูกพันสองชีวิตไว้ด้วยกันตลอด 9 เดือน แม้ในวันที่สายสะดือถูกตัดขาดออกจากร่างกาย หากสายใยของความเป็นแม่ลูกที่มองไม่เห็นจะยังคงอยู่ แม้จะพร่าเลือน แต่มันไม่เคยหายไปไหน ในความสับสนวุ่นวายของโลกที่หมุนไป ยังมีโอกาสที่สายสัมพันธ์รักนี้จะกลับมาเชื่อมโยงกันได้อีกครั้งเสมอ

.

ซึ่งภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ หาทางออกและสร้างโอกาสของการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของแม่ลูกให้กลับมาอีกครั้ง ด้วยสิ่งที่เรียกว่า 'การรับฟัง' ที่ไม่ใช่เป็นเพียงการ 'ได้ยิน'

.

กิตติ ไชยพร ครีเอทีฟไดเรคเตอร์ได้กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังการผลิตหนังเรื่องนี้ไว้ว่า "ผมนึกถึงคำของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ที่ว่า เราได้ยินแต่ไม่เคยฟัง อย่างคำว่า กินข้าวยังลูก? ถ้าเราได้ยินก็จะมีความหมายแค่ แม่ชวนกินข้าว แต่ถ้าเราได้ฟังเราจะรู้ว่าแม่เป็นห่วงนะ แม่รักลูกนะ มันลึกซึ้งแตกต่างกันเยอะเลย"

.

เบื้องหลังหนังโฆษณาเรื่องนี้ ได้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมผ่านหลากหลายช่องทาง ด้วยโจทย์กว้างๆ ที่ว่า 'มีอะไรที่อยากจะบอกกับแม่หรือลูกของเรา อาจเป็นเรื่องราวที่เคยเข้าใจผิดหรือมีปัญหาระหว่างกันและกัน' ภายใต้คำแนะนำและการทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมนักจิตวิทยา จนสุดท้ายได้ทั้งหมด 6 คู่แม่ลูกที่ปรากฎอยู่ในหนัง โดยระหว่างการถ่ายทำ ผู้ที่ต้องมารับฟังเสียงของแม่และลูกของตัวเองนั้น ทุกคนไม่เคยรู้มาก่อน รู้เพียงแค่ว่าเป็นการมาร่วมแสดงหนังโฆษณารณรงค์การทดสอบการได้ยินเท่านั้น

.

"หนังเรื่องนี้ทุกอย่างเรียลหมด ดูเหมือนว่าถ้าเราเอาแม่ลูกเขามานั่งเคลียร์กัน ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นนะ แต่สุดท้ายผมกับทีมก็เชื่ออยู่ลึกๆ ว่า สายสะดือที่มองไม่เห็นนี้ ถึงแม้ว่ามันจะขาดกันไปแล้ว แต่สายสัมพันธ์ของแม่กับลูกก็ไม่มีวันที่จะเกิดผลอย่างที่เราไม่คาดฝันได้ มันเป็น Believe ของงานครั้งนี้ เป็น Believe ของมูลนิธิ

พิพิธภัณฑ์แม่ เราเชื่อในความเป็นแม่ ว่าต่อให้ลูกจะไปทำอะไรที่ร้ายแรงแค่ไหน สุดท้ายมันจะกลับมาเชื่อมโยงกันได้ ผมไม่เครียดเลยว่ามันจะพัง ไม่มีเลย" กิตติ ไชยพร ให้สัมภาษณ์ไว้ตอนหนึ่ง เมื่อมีคนถามเขาว่า กังวลใจไหมว่าผลลัพธ์จะออกมาแย่ไม่เหมือนตามที่คาดไว้

.

และสุดท้ายหลังการถ่ายทำ ทุกอย่างก็ออกมาเหมือนที่ กิตติ ไชยพร กล่าว แม่ลูกทั้ง 6 คู่กับปัญหาความสัมพันธ์ที่แตกต่าง...หนักเบา...ซับซ้อนไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นแม่ที่ผิดหวังจากลูกสาวที่พลาดพลั้งตั้งท้อง แม่ที่ลูกชายเวียนวนกับการเข้าออกคุกมาตลอดหลายปี แม่ที่ลูกๆ พี่น้องมีรอยร้าวผิดใจกันอย่างยากจะประสาน แม่ที่เข้าไปยุ่งกับเรื่องส่วนตัวของลูกมากจนเกินไป ฯลฯ ทุกปัญหาของความสัมพันธ์คลี่คลายและได้รับการเยียวยา อาจจะด้วยระดับที่ไม่เท่ากัน แต่อย่างน้อย หัวใจสองดวงที่เคยมีกำแพงกั้น ก็ได้รับการโอบอุ้ม ปลอบประโลม และขยับเข้ามาชิดใกล้กันมากขึ้นด้วยการรับฟังเสียงความรักของอีกฝ่าย

.

"หนังเรื่องนี้จะเรียกว่าเป็นหนังหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะมันไม่มีตัวแสดงอะไรเลย ทุกอย่างจริงหมด หนังไม่มีการเทิดทูนพระคุณของแม่ แถมยังจบแบบไม่รู้จะเป็นยังไงต่อไป แต่ในความไม่เคลียร์ ผมคิดว่ามันเคลียร์ไปหมดแล้วว่าหลังจากนี้เราจะต้อง ทำอะไรต่อ มันรู้แล้วเมื่อเราได้ฟังเสียงของอีกฝั่งหนึ่ง" กมลวัฒน์ ชูเตชะ ผู้กำกับที่อยู่เบื้องหลังหนังเรื่องนี้กล่าว และเขายังได้พูดถึงความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนี้ทิ้งท้ายไว้อย่างจับใจว่า

.

"ผมอยากให้ทุกคนดูแล้วกลับมาคิดถึงความรู้สึกของคนที่รักอีกครั้ง อยากให้คิดถึงตอนที่เราเกิดมากับแม่ เรามีสายสะดือเชื่อมโยงกันอยู่ แต่ระยะเวลาทำให้เราเจอกันน้อยลง พูดกันน้อยลง รู้สึกถึงกันน้อยลง ทำให้เกิดปัญหา อยากให้เมื่อดูจบแล้ว เรากลับมารู้สึกกับแม่หรือลูกของเราอีกครั้งเหมือนในวินาทีที่เราเกิดมา"

.

ชวนไปชม Hearing Test หนังโฆษณาที่คล้ายจะเข้าไปนั่ง ณ จุดเจ็บกลางความสัมพันธ์ระหว่างเรากับใครสักคน บางครั้งอาจเป็นแม่...พ่อ...หรือใครสักคนที่คุณแคร์ ไปชม...ค้นหา...เรียนรู้...เติบโต...เพื่อให้หัวใจของเราเปิดพื้นที่ด้วยการรับฟังกันและกันอีกครั้ง ให้สายสัมพันธ์ที่เคยแตกร้าว...พังทลาย...เลือนหาย...ได้ปรากฎและเชื่อมโยงเราเข้ากับคนที่เรารักอีกครั้งหนึ่ง

ที่มาสื่อสร้างสรรค์

บทความอื่นของภาคี ดูทั้งหมด

บทความอื่นของภาคี

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แม่

ดูทั้งหมด
สื่อสร้างสรรค์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดูทั้งหมด
keyboard_arrow_up

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่.