ประเภทสื่อ
สื่อสร้างสรรค์: ผลของการใช้หนังสือนิทาน จ๊ะเอ๋ (ฉบับยาวี-ไทย) ที่มีต่อพัฒนาการของบุตรก่อนวัยเรียนและความสัมพันธ์ในครอบครัวตามบริบทสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
สื่อสร้างสรรค์: ผลของการใช้หนังสือนิทาน จ๊ะเอ๋ (ฉบับยาวี-ไทย) ที่มีต่อพัฒนาการของบุตรก่อนวัยเรียนและความสัมพันธ์ในครอบครัวตามบริบทสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
27 พฤษภาคม 2563
โดย แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
0
ถูกแชร์ทั้งหมด

รายละเอียด

มีผลงานวิจัยผลการศึกษาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าเด็กก่อนวัยเรียนหรือเด็กปฐมวัยนั้น เป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญมากหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นโอกาสทองของพัฒนาการในชีวิต ซึ่งหากพ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่ใช้โอกาสนี้ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เติบโตและมีพัฒนาการที่สมวัยแล้ว ก็อาจจะส่งผลให้พัฒนาการในช่วงวัยต่อไปต้องขาดหกตกหล่น เชื่องช้า หรือไม่สมบูรณ์ไปอย่างน่าเสียดาย

.

ปัจจัยหรือกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนเด็กๆ ในวัยนี้ ให้เติบโตขึ้นอย่างมีพัฒนาการสมวัยนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่ก็คือความรักความอบอุ่นจากผู้เลี้ยงดูหรือคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งความรักความอบอุ่นนั้นจะแสดงออกได้ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น การกอด หอมแก้ม บอกรัก หรือการทำกิจกรรมดีๆ ที่ทำให้หัวใจของเด็กและผู้ใหญ่เชื่อมโยงกันอย่างสนิทแนบแน่น ไม่ว่าจะเป็น การเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระ การเล่นที่เด็กๆ สนุกและเพลิดเพลิน หรือการอ่านหนังสือนิทานด้วยกัน ฯลฯ

.

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีผลการศึกษาและงานวิจัยจำนวนมากที่นำเสนอถึงประโยชน์ของการเล่นที่มีต่อเด็ก ประโยชน์ของการกอด ประโยชน์ของการใช้หนังสือนิทานที่มีต่อพัฒนาการของเด็กๆ แต่ทว่ายังมีผลการศึกษาหรืองานวิจัยจำนวนไม่มากนัก ที่จะแสดงให้เห็นผลที่เชื่อมโยงระหว่างกันของกิจกรรม 2 เรื่องสำคัญ นั่นคือการอ่านหนังสือนิทานกับการเล่น ที่ส่งผลไปถึงพัฒนาการของเด็กและการสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัว

.

ดังนั้น การที่เครือข่ายพลังอ่านชายแดนใต้ โดยการสนับสนุนของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ได้ทำการวิจัยผลของการใช้หนังสือนิทานเรื่อง 'จ๊ะเอ๋' ในกลุ่มตัวอย่างจากโครงการแม่รุ่นใหม่ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อค้นหาคำตอบของความเชื่อมโยงระหว่างการใช้หนังสือนิทานกับผลที่มีต่อกิจกรรมการเล่น การสร้างปฏิสัมพันธ์และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันในครอบครัว รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาการที่สมวัยของเด็กก่อนวัยเรียน จึงนับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งด้าน พัฒนาการเด็ก และการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการอ่านและการใช้สื่อหนังสือนิทานไปด้วยในคราวเดียวกัน

.

งานวิจัยฉบับสมบูรณ์นี้มีทั้งหมด 66 หน้า สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับงานวิจัย สามารถเลือกอ่านบทสรุปภาพรวมของงานวิจัยได้อย่างเข้าใจง่าย จากเนื้อหาส่วนที่เป็นบทสรุปสำหรับผู้บริหาร และเนื้อหาส่วนที่เป็นบทคัดย่อของงานวิจัย ซึ่งมีความยาวประมาณ 3 หน้า ก็จะเป็นทางลัดที่สามารถเข้าใจเนื้อหาของงานวิจัยนี้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงวิจัยหรือวงการศึกษา ก็สามารถอ่านกระบวนการวิจัยได้อย่างละเอียด เพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ของตนเองได้ต่อไปเช่นกัน

.

งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างในโครงการแม่รุ่นใหม่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้จำนวน 205 คน เนื้อหาที่สำคัญของงานวิจัยที่เรียกว่าเป็นหัวใจเน้นๆ น่าจะอยู่ในส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลผลของการใช้หนังสือนิทานเรื่อง 'จ๊ะเอ๋' ในกลุ่มตัวอย่าง มีตัวเลขที่น่าสนใจมากคือ หนังสือนิทานมีผลกับการเล่น 'จ๊ะเอ๋' ระหว่างคุณแม่กับคุณลูก โดยมีเปอร์เซ็นต์แบบก้าวกระโดด จากก่อนอ่านหนังสือนิทานที่กลุ่มตัวอย่างมีการเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกทุกวันแค่ 10.2% แต่พออ่านหนังสือนิทานเรื่องนี้กับลูก กลับมีการเล่นจ๊ะเอ๋กันเพิ่มมากขึ้นเป็น 61% และไม่มีใครที่ใช้หนังสือนิทานเรื่องนี้แล้วไม่เล่นจ๊ะเอ๋กับลูกเลย

.

ประเด็นนี้น่าสนใจเพราะอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เราเห็นว่า เนื้อหาของหนังสือนิทานมีส่วนในการกำหนดกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างคุณพ่อคุณแม่และกิจกรรมของเด็กๆ ในครอบครัวได้ และหากพลิกวิธีคิดเพื่อต่อยอดไปอีกสักนิด ก็อาจจะนำสู่ความท้าทายที่ว่า หากเราต้องการให้เกิดพฤติกรรมหรือกิจกรรมใดของเด็กปฐมวัย หรือกิจกรรมระหว่างเด็กและครอบครัว ก็สามารถสอดแทรกและส่งเสริมสิ่งนั้นในหนังสือนิทานได้เช่นเดียวกัน

.

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือการใช้หนังสือนิทานกับการสร้างปฏิสัมพันธ์หรือความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า หลังการอ่านหนังสือนิทานจ๊ะเอ๋ ผู้ปกครองจำนวน 80.5% มีการกอดลูกทุกวัน เพิ่มมากขึ้นจากก่อนใช้หนังสือนิทานที่มีการกอดลูกทุกวันเพียง 45.9% และผู้ปกครองกลุ่มนี้ยังมีการบอกรักลูกทุกวันเพิ่มขึ้นเป็น 76.1% จากที่ก่อนอ่านหนังสือนิทานมีการบอกรักลูกทุกวันเพียง 42% เท่านั้น

.

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่า การใช้หนังสือนิทานจ๊ะเอ๋มีผลต่อพัฒนาการของเด็กใน 3 ลำดับแรกคือ 1. เมื่อกอดหรือเล่นกับลูก เขาจะสดใสและมีความสุข 2. ลูกของฉันอารมณ์ดีและมีนิสัยร่าเริง และ 3. เมื่อฉันคุยกับลูกเขาสามารถจ้องตาและมองหน้าฉันได้นาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การใช้หนังสือนิทานส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะที่เด่นชัดคือเรื่องของอารมณ์และความสุข

.

งานวิจัยชิ้นนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกหลายๆ ด้าน เช่น ผลสำรวจการใช้เวลาในการอ่านหนังสือนิทานของคุณแม่ เหตุผลสำคัญในการเลือกหนังสือนิทานมาอ่านให้ลูกฟัง อุปสรรคของการใช้หนังสือนิทาน ระยะเวลาของการใช้หนังสือนิทาน...เหล่านี้เป็นต้น

.

ดังนั้น งานวิจัยชิ้นนี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งสื่อสร้างสรรค์ที่เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษา การพัฒนาเด็ก ตลอดจนคุณพ่อคุณแม่และครอบครัวที่สนใจองค์ความรู้เรื่องการอ่าน การใช้หนังสือนิทาน กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัวสำหรับเด็กปฐมวัย เปรียบได้เป็นทั้งคลังความรู้ และอาวุธที่จะใช้ในการต่อยอดเพื่อพัฒนางานด้านการศึกษาและการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัยและครอบครัว

.

ชวนกันมาอ่าน...มาศึกษา...มาต่อยอดให้งานวิจัยลงสู่การปฏิบัติที่เห็นผลจริง

ไม่ให้งานวิจัยต้องอยู่แต่บนหิ้งดั่งที่คนส่วนใหญ่มักกล่าวปรามาสไว้เสมอมา...

ที่มาสื่อสร้างสรรค์

สื่อสร้างสรรค์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดูทั้งหมด
keyboard_arrow_up

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่.