นางดอยเงิน
นิทานทำมือจากเรื่องเล่าอันเป็นต้นกำเนิดชนเผ่าดาราอาง เล่าเรื่องความรักของเจ้าชายในโลกมนุษย์กับนางดอยเงิน น้องเล็กคนสุดท้องของนางดอยเงินทั้ง 7 จากนครกลางหาว ที่พลัดหลงถูกพรานป่าจับตัวไปถวายพระราชา และเจ้าชายได้เห็นเข้าจนเกิดเป็นรักแรกพบ และเจ้าชายได้พิสูจน์รักแท้กับพี่สาวทั้ง 6 ของนางที่นครกลางหาว ก่อนจะกลับมาอยู่กินอย่างมีความสุขที่โลกมนุษย์
แม่เฒ่าผู้ไม่รักษาสัญญา
นิทานทำมือจากเรื่องเล่าของชนเผ่าลาหู่ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มูเซอ เป็นนิทานเรื่องเล่าที่สอดแทรกคติสอนใจเรื่องการรักษาสัจจะวาจา รวมทั้งการตอบแทนบุญคุณคน ผ่านตัวละครแม่เฒ่าและลูกสาวผู้งดงาม กับงูใหญ่ที่ช่วยเหลือสองแม่ลูกผู้ยากไร้ จนแม่เฒ่าสัญญาว่าจะยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย แล้วสุดท้ายก็ผิดคำสัญญาจึงเกิดเป็นโศกนาฎกรรมขึ้น
ไอ้ไข่ สามีของหญิงทั้งหลาย
นิทานทำมือเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าของชนเผ่าลาหู่ เป็นนิทานตลกขบขัน สอดแทรกวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความเชื่อของชนเผ่าลาหู่ หรือมูเซอ ผ่านเรื่องของ “ไอ้ไข่” ชายหนุ่มจอมกะล่อน ที่ใช้อุบายและความเชื่อทำให้ตนเองไม่ต้องออกไปรบ แล้วยังกลับมาหลอกให้ผู้หญิงทั้งหมู่บ้านเป็นภรรยาของตนเอง
หมวกข้าวปุก
นิทานทำมือเรื่องเล่าจากชนเผ่าดาราอาง เป็นการผจญภัยของพระราชากับอะนะกอ อำมาตย์คนสนิท ที่เดินทางเข้าป่าไปหากวางทอง โดยระหว่างทางพระราชาได้ขอแลกหมวกทองคำของตนกับหมวกข้าวปุกที่กินได้ของอะนะกอ จากนั้นพระราชาได้ให้สัญญากับอะนะกอว่าจะเล่านิทานให้ฟัง แต่กลับลืมสัญญา ทำให้ผีป่าที่ตั้งใจจะมาร่วมฟังนิทานด้วยโกธรและจะทำร้ายพระราชา แต่โชคดีที่อะนะกอช่วยเหลือพระราชาให้แคล้วคลาดปลอดภัย
พ่อหวึ่งผู้ฆ่าหมี
“พ่อหวึ่งผู้ฆ่าหมี” เป็นนิทานทำมือจากเรื่องเล่าของชนเผ่าดาราอาง ชนเผ่าที่อยู่อาศัยอยู่ทางเหนือสุดของประเทศไทย มีวิถีชีวิตผูกพันกับพุทธศาสนาและธรรมชาติ ตามประเพณีของเผ่า เมื่อเป็นพ่อเป็นแม่แล้ว จะเรียกชื่อตามชื่อของลูกคนโต ดั่งเช่นนิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องของพ่อหวึ่งและแม่หวึ่งที่เดินทางเข้าป่าไปเก็บหน่อไม้ และเจอกับหมีตัวใหญ่ พ่อหวึ่งตกใจวิ่งหนีกลับบ้าน แม่หวึ่งใช้ไหวพริบขว้างหน่อไม้ให้หมีกินจนท้องแตกตาย
หนูดีใจมากเลย
นิทานเรื่องนี้ใช้คำว่า “หนูดีใจมากเลย” ให้เด็ก ๆ ใช้แสดงอารมณ์เมื่อรู้สึกมีความสุข ทำให้เด็ก ๆ มองเห็นได้ว่าสามารถมีความสุขง่าย ๆ ได้จากความรักความผูกพันในครอบครัวและส่ิงแวดล้อมรอบตัว ไม่จำเป็นต้องยึดติดความสุขจากสิ่งของวัตถุนอกกาย
วาดรูปกับพ่อ
“วาดรูปกับพ่อ” เป็นนิทานที่ดำเนินเรื่องผ่านบทสนทนาพูดคุยระหว่างพ่อหมูและลูกหมู ซึ่งเป็นตัวแทนของเด็กและคุณพ่อ ถาม – ตอบ เรื่องราวเกี่ยวกับลักษณะของสัตว์ต่างๆ ตามรูปภาพที่นำเสนอในนิทาน ช่วยเสริมสร้างจินตนาการให้กับเด็ก ๆ ในการเชื่อมโยงรูปภาพกับคำถามต่าง ๆ เกี่ยวกับสัตว์ในนิทาน
พ่อนกในป่าใหญ่
เรื่องเล่าของพ่อนกเงือกที่เฝ้าดูแลและหาอาหารมาเลี้ยงดูแม่และลูกนกที่รัง ณ โพรงไม้ใหญ่ จนมาวันหนึ่งถูกนายพรานใจร้ายยิง แต่โชคดีรอดกลับรังได้อย่างปลอดภัย นิทานเรื่องนี้ทำให้เด็กเรียนรู้ความรู้สึกเห็นใจ เข้าใจ และตระหนักในคุณค่าของทุกชีวิตบนโลกใบนี้
นกเพื่อนมด
นิทาน “นกเพื่อนมด” เล่าเรื่องด้วยภาษาและรูปภาพที่เรียบง่าย เพื่อสื่อสารให้เด็กเห็นถึงความรักและความสัมพันธ์ในความเป็นเพื่อนของสัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่างนกและมด ที่ช่วยเหลือกันและดูแลกันในยามยาก เป็นการปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยเกื้อกูลกันและกันฉันท์เพื่อนกับผู้คนรอบข้าง
กา
เรื่องเล่าตำนาน “อีกา” ทำไมจึงมีขนสีดำ ในตำนานเริ่มแรกเดิมที กา มีสีขนที่สวยสดงดงาม แต่เพราะกาประพฤติตัวไม่ดี มีนิสัยขี้ขโมย สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน จนชาวบ้านทนไม่ไหวไปฟ้องพระอินทร์ พระอินทร์ทราบเรื่องจึงสาปให้กามีขนเป็นสีดำเพื่อเป็นการทำโทษ นิทาน | ปฐมวัย | กา | ขโมย | เดือดร้อน | พระอินทร์
นกพิราบ ผู้เสียสละ
นิทานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวประวัติ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่องเริ่มต้นบนท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ มีนกอินทรีเป็นเจ้าเวหา ต่อมาได้มีฝูงนกเหยี่ยวผู้ก้าวร้าว หวังยึดอำนาจนกอินทรี จึงไปทำร้ายนกอินทรีแล้วขึ้นเป็นเจ้าเวหาแทน ไม่มีนกตัวใดกล้าต่อกรด้วย ยกเว้น “นกพิราบผู้เสียสละ” ที่ชักจูงเพื่อน ๆ นก รวมพลังไปเรียกความเป็นธรรมกลับคืนมา เพื่อคืนความสงบสุขให้ท้องฟ้าอีกครา นิทานนี้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ ให้เป็นคนกล้าหาญ เสียสละเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมของสังคม
งูใหญ่ ผู้ซื่อสัตย์
นิทานที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวประวัติของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เล่าเรื่องของป่า ที่มีสิงโตเป็นเจ้าป่า มีงูใหญ่เป็นที่รักและนับถือของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ให้เป็นผู้ดูแลเรื่องอาหารการกิน โดยมีกฎระเบียบของป่าว่าอาหารที่หามาได้จะแบ่งปันให้สัตว์ที่ป่วยและพิการ แม้สิงโตเจ้าป่าผู้ละโมบจะมาขอแบ่งให้ครอบครัวตน งูใหญ่ก็ไม่เกรงกลัวชี้แจงไปอย่างนอบน้อม จนเจ้าป่าเกิดความละอายและยอมเดินจากไป นิทานเรื่องนี้สอนให้เด็กเข้มแข็งในการรักษาคุณงามความดี โดยไม่เกรงกลัวต่อสิ่งไม่ถูกต้อง