อ่อลางมอแกน
“อ่อลางมอแกน” โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุข ศสส. เป็นการถอดบทเรียนองค์ความรู้และถ่ายทอดเรื่องราวกระบวนการการใช้สื่อศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นมาบูรณาการเพื่อพัฒนาเยาวชนและชุมชนชาวมอแกนในพื้นที่จังหวัดพังงาและจังหวัดระนอง ในโครงการเด็กอันดามันสร้างสุข (อ่อลางมอแกน) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของปราชญ์พื้นบ้านชาวมอแกน ศิลปิน แกนนำชุมชนมอแกน คณะทำงานเยาวชนมอแกน องค์กรภาครัฐและภาคเอกชน โดยได้นำการละคร สื่อศิลปะพื้นบ้านมาเป็นตัวเชื่อมร้อยมิติสุขภาวะทางสังคมในชุมชน เพื่อให้เกิดพัฒนาการและการสืบสานทางวัฒนธรรมในกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน อีกทั้งสร้างสำนึกรักภูมิปัญญาท้องถิ่น อัตลักษณ์และเสริมสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์ให้แก่เหล่าเยาวชนมอแกน
บันไดดนตรีที่บ้านอุ่นรัก
เด็กสมาธิสั้น เด็กพิเศษ หรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่มอาการออทิสติก คือเด็กที่มีข้อจำกัดในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เพราะไม่สามารถพูด อ่าน เขียนเพื่อบอกความต้องการของตนเองได้ หนังสือ “บันไดดนตรีที่บ้านอุ่นรัก” โดยผู้เขียน ไหมลี ได้รวบรวมเรื่องราวและถ่ายทอดการสอนดนตรีสำหรับเด็กพิเศษ ที่เกิดจากความมุ่งมั่นของครูนิ่มผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเด็กออทิสติกและคณะครูผู้สอน “บ้านอุ่นรัก” ซึ่งมีความเชื่อว่า ”ดนตรีบำบัด” จะช่วยทำให้เด็กผ่อนคลาย ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเด็กออทิสติกให้มีทักษะในการสื่อสาร มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัวและคนรอบข้างอย่างมีความสุข สามารถสร้างเอกลักษณ์ของตนเองและมีคุณค่ามากพอที่จะยืนอยู่บนโลกใบนี้
สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม กาญจนบุรี
สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม บ้านตีนตก จ.กาญจนบุรี กับความสามารถในการผลิตคลิปวิดีโอเชิงสร้างสรรค์ของน้องๆ กลุ่มชาติพันธุ์ แม้จะขาดเครื่องไม้เครื่องมือในการผลิต แต่ก็ไม่ย่อท้อที่จะลุย!!
คุณตาสุ่ม เล่าเรื่องสาวะถี ปราชญ์ชาวบ้าน ณ. สาวะถี
ศิลป์สร้างสุขพาไปรู้จัก บ้านตาสุ่ม สุวรรณวงศ์ ปราชญ์สาวะถี พักอยู่ตรงใกล้ๆ วัดไชยศรี ผู้รู้เรื่องหมู่บ้านสาวะถี เล่าเรื่องราวชุมชน ไปชมกันว่าคุณตามีชีวิตเรียบง่ายอย่างไร
บ้านสาวะภี สินไซโมเดล 2 เมืองวิถีสุข พื้นที่ดี สื่อดี ภูมิดี
บทสรุปการดำเนินงานของโครงการสินไซโมเดลเมืองสามดีวิถีสุขปี 2 ผ่านกิจกรรมหลัก 4 กิจกรรมได้แก่ ค่าย, สัญจร, การแลกเปลี่ยน และการถอดบทเรียน โดยชุมชนสาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่นแห่งนี้ ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบเมือง 3 ดีของภาคอีสาน (พื้นที่ดี สื่อดี ภูมิดี) ที่เป็นพื้นที่กลางในการปฏิบัติงานของเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน เรื่องราววรรณกรรมสินไซซึ่งเป็นเรื่องเล่าของแผ่นดินล้านช้าง สามารถเชื่อมโยงคนทํางานสื่อพื้นบ้านจากหลากหลายสาขาในภาคอีสาน เข้ามาปฏิบัติการด้วยกันจนสําเร็จในปีแรก ด้วยสื่อหลากหลายชนิดทั้ง เพลงกล่อมลูก, กันตรึม, ทอผ้า, หมอลํา หุ่น, หนังตะลุง, เพลง และการสืบค้นภูมิบ้านภูมิเมืองของตนเอง วรรณกรรมสินไซ สามารถเป็นเครื่องมือที่นําไปสู่การผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเป็นสื่อกลางของชุมชนแห่งนี้ เป็นการการันตีในการเชื่อมประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน บ้าน วัด โรงเรียน
หนองจอก บ้านนอกกรุงเทพ
ผลงานคลิปวีดีโอจากทีม Santichon Production House พาเราไปพบกับพื้นที่เล็ก ๆ ใจกลางกรุงเทพที่มีวิถีชีวิตอันงดงามซ่อนอยู่ นั่นคือ หมู่บ้านคอยรุตตักวา บริเวณหนองจอก กรุงเทพมหานคร คำว่า คอยรุตตักวา นั้นมีความหมายว่า แผ่นดินทอง วิถีชีวิตที่นี่เป็นไปอย่างเรียบง่าย พอเพียง ไม่มีหนี้สิน ชาวบ้านนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต ทำสวน ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา ทั้งเอาไว้รับประทานในครัวเรือนและขายเป็นรายได้ ชุมชนแห่งนี้ยังแสดงออกถึงการอยู่ร่วมกันของชาวพุทธและมุสลิมอย่างเอื้ออาทรและมความสุข
หนังเล่าเรื่อง ตอน ละมูล ตำนานเพลงพื้นบ้าน
ภาพยตร์สั้น เล่าเรื่องชีวิตของยายละมูล ครูเพลงอาวุโส ที่รักและขับร้องบทเพลงไทยเบิ้ง เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมพื้นบ้านของชุมชนบ้านสลุง กับหลานสาวที่ตระเวนออกไปหาคุณตาคุณยายรุ่นเดียวกันกับยายละมูล เพื่อชักชวนมาเปิดการแสดงขับร้องเพลงไทยเบิ้งให้เยาวชนคนหนุ่มสาวได้ฟัง เพื่อจะเกิดความรักและสืบสานเพลงไทยเบิ้งต่อไป แต่ทว่าวันแสดงกลับไม่มีทั้งผู้ขับร้องและผู้ชมมาแม้แต่คนเดียว หรือนี่จะเป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายของเพลงพื้นบ้านไทย
ดุริยางค์ความคิด รพินทรนาถ ฐากูร ตอนที่ 8
ดุริยางค์ความคิด ชุด 150 ปี เมธีปราชญ์ รพินทรนาถ ฐากูร โดยโครงการสื่อสันติภาพ ร่วมกับภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอรพินทร์รจนาในรูปแบบสื่อเสียงผสานความงามของตัวอักษรเข้ากับเสียงดนตรีในรูปแบบสื่อเสียง ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตอนที่ 8 "เมื่ออยู่ในชนบทข้าพเจ้าพยายามตลอดเวลาที่จะเรียนรู้ไปในรายละเอียดปลีกย่อยที่สุด งานของข้าพเจ้าทำให้ต้องเดินทางไกลจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง จากศิลัยดาถึงหมู่บ้านปักติษา ผ่านแม่น้ำน้อยใหญ่และข้ามหนองน้ำ ด้วยวิธีนี้ข้าพเจ้าได้เห็นชีวิตในหมู่บ้านทุกด้าน ข้านเจ้ากระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะเข้าใจกิจวัตรประจำวันในหมู่บ้าน ความเป็นมาของชีวิตในหมู่บ้านที่สำคัญและน่าสนใจ ไม่นานนักก็เห็นความทุกข์ยาก โศกเศร้าของพวกเขาชัดเจน แล้วรู้สึกอดร้นทดไม่ได้ที่จะต้องทำอะไรบางอย่างกับเรื่องนี้ สำหรับข้าพเจ้ามันน่าละลายที่จะใช้ชีวิตแบบเจ้าที่ดิน สนใจแต่เรื่องหาเงิน และหมกมุ่นอยู่กับกำไรขาดทุนของตนเอง" โดย รพินทรนาถ ฐากูร 1861 - 1941
หนังสือเสียง แพ้ชนะไม่สำคัญ
นิทานสะท้อนความมีน้ำใจนักกีฬาของนักวิ่งคนเก่งจาก 3 โรงเรียน 3 สหาย "ปุยฝ้าย" จากโรงเรียนแสนสุข "ปูเป้" จากโรงเรียนหรรษา และ "ปักเป้า" จากโรงเรียนสุขสันต์ ระหว่างที่ปุยฝ้ายกำลังวิ่งนำ ก็เกิดเหตุไม่คาดคิดเมื่อปูเป้ที่วิ่งตามมาเป็นอันดับสองเกิดหกล้มจนขาพลิก ปุยฝ้ายเลยหยุดช่วยพยุงปูเป้ ทำให้ปักเป้าได้เหรียญทองไป สุดท้ายเด็ก ๆ ทุกคนได้เรียนรู้ว่า แพ้ชนะไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือความดีและมีน้ำใจ
หนังสือเสียง นกแก้วแสนฉลาด
นกแร้ง อีกา และนกแก้ว เป็นเพื่อนกัน แต่ระหว่างนกแร้งและนกแก้ว มีความไม่ชอบใจกันอยู่ วันหนึ่งนกแร้งบินจะไปกินลูกไก่ จึงถูกเจ้าของฟาร์มไก่ยิงด้วยลูกปืนดินเหนียวเข้าที่ก้น นกแร้งเจ็บปวดมาก กาจึงไปเรียกนกแก้วมาช่วยเหลือ เมื่อนกแก้วได้ช่วยให้นกแร้งหายจากการบาดเจ็บที่ก้น ตั้งแต่นั้นมานกทั้งสามจึงรักใคร่กลมเกลียวกันอย่างสนิทใจ
หนังสือเสียง ดวงอาทิตย์ขี้น้อยใจ
บนท้องฟ้าที่สดใส มีดวงอาทิตย์ขี้น้อยใจอยู่คนหนึ่ง มักจะเก็บเรื่องราวต่าง ๆ มาคิดมาก ทำให้ทุกข์ใจเสมอ เหล่าเพื่อนๆ ทั้งก้อนเมฆ นกน้อย และพระจันทร์ จึงมาให้กำลังใจและให้ข้อคิดแก่ดวงอาทิตย์ว่าอย่างคิดในแง่ลบ ให้ทำตนเองให้มีความสุข เพราะแท้จริงแล้วดวงอาทิตย์มีความสำคัญกับทุกคนบนโลกใบนี้
หนังสือเสียง ความช่วยเหลือจากมนุษย์ต่างดาว
เมื่อเด็กชายเต้และน้องสาวเนเน่ ได้พบเพื่อนใหม่เป็นมนุษย์ต่างดาว ทั้งสองช่วยเหลือเพื่อนใหม่ซ่อมยานอวกาศ เพื่อให้เดินทางกลับดาวของตนอย่างปลอดภัย และแล้ววันหนึ่งเมื่อพ่อแม่ของสองพี่น้องหายไปจากบ้าน เต้และเนเน่จึงร้องขอความช่วยเหลือจากมนุษย์ต่างดาว เพื่อนต่างดาวไม่รอช้ารีบกลับมาตอบแทนช่วยตามพ่อแม่กลับมาหาเต้และเนเน่ได้อย่างปลอดภัย