สั่ง เสียก่อนตาย
สั่ง_เสียก่อน_ตาย เป็นหนังสือที่ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของแพทย์ พยาบาล ญาติและผู้ดูแลของผู้ป่วยระยะสุดท้าย การที่ผู้ป่วยสามารถได้บอกล่าวถึงสิ่งที่ตนเองปรารถนา หรือสิ่งที่อยากทำ เพื่อให้คนที่อยู่เคียงข้างได้จัดเตรียมให้ หรือได้ทำตามที่ร้องขอนับว่าเป็นเรื่องดี สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยในระยะสุดท้าย เพื่อจัดการเรื่องต่าง ๆในชีวิตอย่างหมดห่วง และเดินทางไปสู่โลกหน้าอย่างมีความสุข
สมุดเบาใจ
สมุดเบาใจ เป็นสมุดคู่กาย เพื่อให้เราทุกคนได้ทบทวน และวางแผนชีวิตในช่วงวาระสุดท้าย เพื่อการจากไปอย่างมีคุณภาพ ทุกคนสามารถแสดงเจตนาของตนเองได้ทุกช่วงเวลา ไม่ต้องรอให้เจ็บป่วยหรือเข้าสู่วาระสุดท้ายก็ได้ เพื่อสื่อสารกับครอบครัว หรือคนใกล้ชิด ให้พวกเขาได้เตรียมการในการส่งเราจากไปอย่างสุขสงบ เนื้อหาในสมุดจะเป็นข้อมูลส่วนตัวของเรา การเตรียมตัวเตรียมใจต่อการจากไป มีความต้องการจะรักษาแบบประคับประคองไหม ข้อมูลต่าง ๆ ในสมุดเบาใจ ได้รับการรับรองตาม พรบ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เพื่อให้บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข เพื่อการยืดการตายในวาระสุดท้าย เป็นการยุติความเจ็บปวดทรมาน
ฉลาดทำศพ
งานศพ เป็นงานที่ไม่เป็นมงคล และเมื่อจำเป็นต้องจัดก็จะไม่มีเวลาในการเตรียมตัวมากนัก หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมข้อมูลที่ควรทำ และปริศนาธรรมที่จะได้รับจากงานศพ เพื่อให้เจ้าภาพหรือผู้ที่จำเป็นต้องใช้ได้เกิดประโยชน์ เพราะแท้จริง งานศพ เป็นงานที่รำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แสดงถึงความกตัญญู ความรัก และเป็นการอำลาอาลัยครั้งสุดท้าย เพื่อชำระล้างสิ่งที่ค้างคาใจ
ความตาย ภาวะใกล้ตาย สื่ออย่างไรให้เข้าถึงใจ
วิกฤตที่สุดในชีวิตของมนุษย์ คือการรู้ตัวว่าอยู่ในสภาวะคนใกล้ตาย แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาที่เราเกิดมาทุกคนต้องตาย แต่การสื่อสารกับทั้งผู้ป่วย และผู้ดูแลผู้ป่วย ครอบครัวของผู้ป่วย จะทำอย่างไรให้เพิ่มพลังบวกให้กับชีวิตที่กำลังจะจากไป และที่ยังดำรงอยู่ การฟังอย่างกรุณา ไม่ด่วนตัดสิน พูดชื่นชมในสิ่งดี ๆ ที่เป็นความภาคภูมิใจและความสุขของกันและกัน นั่นคือ การส่งผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้เดินทางจากไปอย่างมีความสุข ส่วนผู้ดูแล ครอบครัว ที่ยังต้องก้าวเดินต่อไปก็จะอยู่กับความทรงจำที่สวยงามที่มีต่อกันตลอดไป
ความตาย พูดได้ พูดถึงความตายอย่างไรดี
ความตายเป็นความจริงของธรรมชาติที่คนเราอย่างไรก็ต้องเจอ เพียงแต่เราจะไม่รู้วันและเวลาที่แน่นอนว่าเมื่อไหร่...ความตายจะเข้ามาทักทายและนำคนที่เรารักหรือแม้กระทั่งตัวเราเองต้องจากครอบครัวไป ในสังคมจึงหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงความตาย เพราะถือว่าเป็นเรื่องเศร้า เรื่องไม่เป็นมงคล แต่แท้จริงแล้วการหาเวลาในการสื่อสารเรื่องความตายในครอบครัว หรือคนรอบข้างเป็นสิ่งที่เราควรสื่อสาร ควรพูด เพื่อใช้ช่วงเวลาในการเตรียมใจ และเตรียมตัวจากไปอย่างสงบทั้งผู้เดินทาง และผู้ส่งผู้เดินทางน็น
คลายโศก
ความสูญเสียจากคนที่เรารักย่อมนำมาซึ่งความโศกเศร้า การจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกนี้ต้องอาศัยระยะเวลา ไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว แต่ทุกชีวิตสามารถฟื้นฟู เยียวยา และดูแลตนเองได้ ขอเพียงเรามีกันและกัน และระลึกไว้เสมอมว่าความตายเป็นความจริงของชีวิต เราทำดีที่สุดแล้วในการส่งคนที่เรารักเดินทางไปสู่เส้นทางใหม่อย่างมีความสุข และเราเองก็ต้องก้าวต่อไปเพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เพื่อดูแลครอบครัวที่ยังอยู่เคียงข้างเรา
แลดู ผู้ดูแล แนวทางเยียวยา ผู้ดูแล ผู้ป่วยระยะท้าย
บางครั้ง “ผู้ดูแล” ผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็ต้องการการดูแล หนังสือ “แลดู ผู้ดูแล” เป็นการสะท้อนประสบการณ์จริงจากแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ และญาติผู้ป่วย ที่รับภาระหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายหรือผู้ป่วยเรื้อรัง ซึ่งมีแนวโน้มประสบความเครียด ความกดดัน และความทุกข์จากการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว อีกทั้งเผชิญกับปัญหาชีวิตด้าน อื่น ๆ ที่เป็นผลตามมาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แนวทางการดูแลผู้ดูแลเหล่านี้ ให้มีคุณภาพีชีวิตที่ดี หลังจากที่เขาหมดภาระหน้าที่ตรงนี้แล้วก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเติมเต็มพลังใจให้พวกเขาก้าวหน้าต่อไปอย่างมีความสุข
เก็บสุข กลางทุกข์
คนที่ต้องเผชิญความเจ็บป่วยระยะสุดท้าย ทั้งผู้ป่วยเอง หรือผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย กระทั่งบุคลากรสุขภาพที่ต้องเกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะสุดท้าย ย่อมหลีกหนีความรู้สึกโศกเศร้าและเจ็บปวดไม่ได้ แต่ทำอย่างไรเราจะพลิกความรู้สึกนั้นให้เป็นพลังใจที่แข็งแกร่งขึ้นมา ใช่ !!! นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เราจะค้นหาความสุข ท่ามกลางความทุกข์ได้ด้วยวิธีไหน ? อย่างไร ? หนังสือเก็บสุข กลางทุกข์ จะพาไปพบคำตอบจากบันทึก 23 เรื่อง จาก 14 ผู้เขียนที่จะแบ่งปันแนวคิดและทัศนคติเชิงบวก แนะวิธีการปฏิบัติตนอย่างมีสติ เตรียมตัวและเตรียมใจในการรับมือ รวมทั้งบอกเล่าการเติมเต็มหัวใจที่โศกเศร้าให้อบอุ่นจากกำลังใจคนรอบข้าง เพื่อส่งแรงหนุนให้เราก้าวข้ามเรื่องราวต่าง ๆ ไปอย่างเข้มแข็ง
ปทานุกรมความตาย
ทุกวันที่คนเราคิดถึงแต่การใช้ชีวิตที่ดี แต่จะมีสักกี่คนที่มองไปยังปั้นปลายของชีวิต ว่าเราควรจะจากไปอย่างสงบหรือตายดีได้อย่างไร ? หนังสือ ปทานุกรมความตาย เป็นการรวบรวมคำศัพท์เกี่ยวกับการเตรียมตัวตาย ที่เราทุกคนสามารถศึกษาและวางแผนเพื่อเผชิญความตายอย่างสงบ เพื่อนำไปสู่การตายดี คือปลอดจากความทุกข์ทรมาน ความวิตกกังวล และความหวาดกลัว พร้อมที่จะเดินทางไปสู่โลกหน้าอย่างสงบสุข
Care club ชุดเครื่องมือเพื่อการดูแลใจ สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วย
บางครั้งผู้ดูแล...ก็ต้องการการดูแลด้วยเช่นกัน กิจกรรมกลุ่ม Care club เกิดขึ้นเพื่อดูแล “ใจ” ของผู้ดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งกิจกรรมกลุ่มนี้เกิดขึ้นและพัฒนาโดย กลุ่ม Peaceful Death โดยเป้าหมายหลักของกิจกรรมคือ เพื่อสร้างพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลและให้กำลังใจซึ่งกันและกันด้วยความเข้าใจอย่างสร้างสรรค์ ผ่านทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งและการ์ดเกม ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม กิจกรรมนี้เหมาะกับบุคลากรสุขภาพหรือ นักจัดกิจกรรมในชุมชนที่สนใจการดูแล สุขภาวะของผู้ดูแลผู้ป่วย
วิชาชีวิต ตอน เตรียมนับวัน : หนุ่มเมืองจันท์ ชวนเตรียมตัวสำหรับชีวิตระยะท้าย
คุณคิดว่าเวลาเกิด และเวลาตายอะไรสำคัญที่สุดในชีวิต เวลาเกิดเราสามารถกำหนด และรู้วันเวลาเกิดได้ แต่จะมีสักกี่คนที่กำหนดเวลาตายที่แน่นอนได้ บางคนเมื่อเวลาที่จะจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้ามาถึง คนไข้และญาติๆ เอง บางก็กลัว บางก็เครียด และรู้สึกกังวลค้างคาใจ หนุ่มเมืองจันท์ นักคิด-นักเขียน และ อาจารย์พรวรินทร์ นุตราวงศ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล ผู้นำศาสตร์บำบัดผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยพลังกอด ได้ร่วมพูดคุยเพื่อมอบกุญแจดอกสำคัญในการเรียนรู้ เข้าใจ และเตรียมตัวนับวันที่จะเดินทางในปั้นปลายของชีวิตไปสู่บ้านแห่งความสงบอย่างอิ่มเอม
วิชาชีวิต ตอน เตรียมประคับประคอง : การต่อสู้ระหว่าง ความรัก กับ ความรัก เปิดใจถามโดยดีเจพี่อ้อย
จากประสบการณ์การรักษาทางการแพทย์ คนเราจะรู้ตัวว่าจะเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิต ประมาณ 3 เดือนก่อนช่วงสุดท้าย ทีมผู้ดูแลต้องเรียนนรู้ที่จะอยู่กับผู้ป่วยอย่างเข้าใจ ด้วยความรัก ด้วย “การดูแลรักษาแบบประคับประคอง” การดูแลแบบนี้เป็นการมอบความสุขสุดท้ายของชีวิตให้ผู้ป่วย ไม่ใช่แค่การรักษาทางร่างกายเท่านั้น แต่เป็นการดูแลคุณภาพชีวิต จิตใจ และความต้องการที่ค้างคาใจของผู้จากลาให้จากไปอย่างสงบในชีวิตจริง ๆ ผู้ป่วยบางคนอาจมีการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข หรือ Living Will เพื่อต้องการวางแผน “ตายดี” ไม่ต้องการทุกข์ทรมาน ดังนั้น ผู้ป่วย และญาติของผู้ป่วย ต้องเรียนรู้ และหารือพุดคุยกัน เพื่อการเตรียมประคับประคองการต่อสู้กันระหว่าง “ความรัก “ ความห่วงใยที่ไม่อยากให้คนที่รักเจ็บปวด กับ “ความรัก” ความอาลัยที่ไม่อยากจากคนที่รัก