ออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์
คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถออกกำลังกายได้ การออกกำลังกายส่งผลดีทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ช่วยทำให้คุณแม่คลอดง่าย เด็กได้รับสารอาหารมากขึ้น เพราะหลอดเลือดของแม่ทำงานได้ดี อายุครรภ์ที่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย เริ่มตั้งแต่ 4 เดือน ออกกำลังกายได้วันละ 30 – 40 นาที สัปดาห์ละ 3 – 4 วัน สิ่งที่ควรระมัดระวังคือ อย่าหักโหมออกกำลังกายมากจนเกินไป
6 เดือนแรกนมแม่สำคัญที่สุด
สุขภาพที่ดีของลูกน้อยเริ่มต้นที่ “นมแม่” ใน 6 เดือนแรกของลูกน้อย คุณแม่ควรให้ลูกดื่มนมแม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างเสริมการเจริญเติบโตของสมอง ทำให้ลูกได้สารอาหารที่มีประโยชน์ มีภูมิต้านทาน ช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตในทารกแรกเกิด นอกจากนี้คุณแม่ที่ให้นมลูกยังลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ได้อีกด้วย
10 พฤติกรรมการใช้ยาผิดๆ
ยารักษาโรค หากใช้ผิดวิธีอาจส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้ใช้ยา ส่วนใหญ่มักคิดว่าการใช้ยารักษาโรคคือการป้องกันโรค ทั้งที่แท้จริงแล้วการป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขภาพของเราให้แข็งแรง นอกจากนี้การไม่ฟังคำแนะนำของเภสัชกร เพิ่มหรือลดยาด้วยตัวเอง การเก็บยาผิดวิธี การนำยาของผู้อื่นมาใช้ รวมทั้งการไม่มีวินัยในการใช้ยา เช่น ลืมกินยา ก็จะส่งผลอันตรายต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน
อย่าใช้คำทำร้ายคนในครอบครัว
กว่า 70 % ของปัญหาครอบครัว เกิดขึ้นจากการสื่อสารด้วยคำพูดที่ไม่ดีต่อกัน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและการหย่าร้าง ดังนั้น ทุกครอบครอบครัวควรให้ความสำคัญกับการใช้ “คำพูด” และการสื่อสารที่ดีต่อกัน คือ คิดก่อนพูด ฟังให้มากกว่าพูด พูดจาไพเราะ ให้กำลังใจ ชื่นชม รู้จักกล่าวคำขอบคุณ ขอโทษ และควรสื่อสารด้วยการคิดบวก หรือพูดเรื่องตลกขบขันบ้าง เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในครอบครัว
เสริมไอโอดีนเพื่อลูกในท้อง
ไอโอดีน เป็นแร่ธาตุสำคัญในการเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง คุณแม่ตั้งครรภ์นั้นมีความต้องการไอโอดีนมากกว่าคนปกติ เพราะหากคุณแม่ขาดไอโอดีน จะส่งผลเสียต่อลูกในท้อง ทำให้เป็นโรคเอ๋อหรือสมองไม่พัฒนา ดังนั้นระหว่างการตั้งครรภ์จนกระทั่งหลังให้นมบุตร 6 เดือน คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่อุดมด้วยไอโอดีน หรือรับประทานวิตามินที่เสริมแร่ธาตุไอโอดีนเสริมเพื่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกน้อย
รูปแบบการบริการของ ทีมหมอครอบครัว
ทีมหมอครอบครัว เป็นรูปแบบของการดูแลสุขภาพที่ครบทุกมิติ ทั้ง กาย ใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บริการของทีมหมอครอบครัวครอบคลุมทั้งที่บ้าน ศูนย์อนามัย รพ.สต. หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยทีมหมอครอบครัวจะเน้นการให้บริการด้านสุขภาพที่ผสมผสาน ตั้งแต่การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกัน การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูในทุกเพศทุกวัย ทุกปัญหาสุขภาพ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ระยะเรื้อรัง ไปจนถึงระยะสุดท้าย สนใจใช้บริการติดต่อ รพ.สต.ใกล้บ้าน
อาหารที่ดีของลูก เริ่มต้นที่นมแม่
'นมแม่' อาหารมื้อแรกเพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย ใน 6 เดือนแรกที่ลูกได้รับนมแม่ จะได้สารอาหารครบถ้วน มีภูมิต้านทานโรคต่างๆ ส่วนคุณแม่ก็มีสุขภาพดี ไม่เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมและรังไข่ และเมื่อลูกอายุ 1-5 ปี ก็ให้กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรส ทั้งมันจัด หวานจัด และเค็มจัด
ลมแดด เลี่ยงได้
อากาศร้อนเกินไปทำให้เราเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนของทุกปี โดยในปี 2558 มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 41 ราย อันดับแรกเป็นเพศชายวัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สัญญาณการเป็นลมแดด คือ มึนงง เดินโซเซ ไข้สูง หายใจหอบลึก ชีพจรเต้นเร็ว และประสาทหลอน หากพบผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว โทร 1669 หรือปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ พาเข้าที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก บรรเทาความร้อนในร่างกายด้วยการเช็ดตัว ประคบน้ำแข็ง และปลดเสื้อผ้าให้สบายตัว
มะเร็งเต้านมผู้ชายก็เป็นได้
แม้สถิติจากสถาบันมะเร็งจะระบุว่า ผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งเต้านม 28.6 คนจากประชากร 100,000 คน แต่ผู้ชายก็เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้ เกิดจากปัจจัยคือ พันธุกรรม ดื่มเหล้า โรคอ้วน และพบมากในผู้สูงวัย ดังนั้นจึงควรหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี และดูแลตนเองให้แข็งแรง
รู้ตัวไหมว่า คุณ (อาจ) เป็นมะเร็ง
สัญญาณต่อไปนี้อาจเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าคุณอาจเป็นมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นถ่ายเป็นมูกเลือด, เป็นแผลที่เดิมและหายยาก, ไอมีเสมหะปนเลือดเรื้อรัง, น้ำหนักตัวลด อ่อนเพลีย, เป็นไข้เรื้อรัง ปวดเมื่อยตามตัว, เจอก้อนเนื้อที่เต้านมหรืออวัยวะอื่นๆ หากพบอาการเหล่านี้ ให้รีบไปพบแพทย์ และควรหมั่นดูแลตนเอง กินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ
10 เทคนิคเดินทางด้วยรถตู้อย่างปลอดภัย
รถตู้โดยสาร เป็นอีกทางเลือกของการเดินทางที่สะดวกในปัจจุบัน เทคนิคการเดินทางรถตู้อย่างปลอดภัยคือ ต้องเลือกโดยสารรถตู้ทะเบียนสีเหลืองที่มีป้ายบอกระยะทางวิ่งที่ชัดเจน พนักงานขับรถสุภาพ ไม่ขับเร็วเกินไป ไม่ควรโดยสารรถตู้ที่เกินระยะทาง 300 กิโลเมตรขึ้นไป เพราะพนักงานขับรถอาจมีอาการอ่อนเพลีย ทำให้เกิดอันตรายบนท้องถนนได้ และที่สำคัญผู้โดยสารต้องขึ้น – ลง รถตู้ที่ป้ายจอด หรือจุดจอดเท่านั้น รวมถึงคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง
กินผักผลไม้เยอะๆ แต่ไม่รู้ต้องเยอะแค่ไหน
ในแต่ละวันเราต้องกินผักและผลไม้ให้ได้ 400 กรัมขึ้นไป โดยมีวิธีการคำนวณปริมาณการกินที่เหมาะสมคือ ในจานอาหารของเราต่อ 1 วัน ให้มีผัก 4-6 ส่วน ซึ่ง 1 ส่วนของผักเท่ากับ 1 ทัพพี ส่วนผลไม้ ให้มี 1-2 ส่วน โดยให้เป็นผลไม้ที่หลากหลาย ไม่ควรเป็นผลไม้รสหวานมาก 1 ส่วนของผลไม้ ถ้าเป็นสตรอเบอรี่ องุ่น ให้มี 8-10 ลูก ถ้าเป็นกลุ่มกล้วย ส้ม แค่ 1 ลูกพอ ส่วนผลไม้ใหญ่ เช่น แตงโม มะละกอ สับปะรด ให้กิน 6-8 ชิ้น