ศิลปะจะมีส่วนร่วมกันสร้างสรรค์สังคมได้อย่างไร
จากภาวะปัญหาสังคมไทยในปัจจุบันที่อยู่ในวิกฤตความเลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ขาดการบูรณการและจิตสำนึกในการสร้างสรรค์พัฒนาสังคม จึงได้เกิดการร่วมมือกันระหว่างสี่ภาครัฐและภาคประชาชนขึ้น ในการใช้พลังศิลปวัฒนธรรมทุกสาขา วรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ คีตศิลป์ และศิลปะการแสดง เพื่อเยียวยาสร้างสรรค์พฤติกรรมและอารมณ์ของผู้คนในสังคม ให้มีความละเอียดอ่อน มีภูมิคุ้มกันและเข้าใจสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่ ทว่า ศิลปะ เพียงอย่างเดียวคงเยียวยาสังคมไม่ได้นัก ต้องมีชีวิต มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมร่วมแรงร่วมใจกัน เพราะการสร้างสรรค์สังคมเป็นหน้าที่ของทุกคน โดยมีศิลปะเป็นเครื่องมือนำไปสู่สังคมที่วาดหวังได้
สื่อศิลปวัฒนธรรมสู่มหาลัยภูมิปัญญาแห่งอีสาน
“คู่มือการใช้สื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชน” โดย เครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน เป็นการถอดแบบบทเรียนกระบวนการการทำงานของ 9 เครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน ที่ได้ดำเนินการแบบแยกส่วนอยู่ในหลายพื้นที่ในภาคอีสาน ทั้งจังหวัด ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา เลย สุรินทร์ และศรีสะเกษ ซึ่งทั้ง 9 เครือข่ายนี้ ได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยการนำสื่อศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าสู่ชุมชน ทั้งละคร หมอลำ หนังประโมทัย การทอผ้า ดนตรี กันตรึม ผญา และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเป็นการฟื้นฟู เยียวยา กล่อมเกลา สร้างสรรค์และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในภาคอีสาน อีกทั้งสร้างสำนึกรักภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นองค์ความรู้สำคัญให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อนำมาปรับใช้พัฒนาบ้านเกิดของตนเองต่อไป
โรคาฮาเฮ
“โรคาฮาเฮ” 11 เรื่องสั้น ชวนกันอย่าอ้วน จากผลงานการประกวดในโครงการร่วมสร้างสรรค์สื่อเรื่องสั้นและการ์ตูน “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” โดย 11 นักเขียนกิตติมศักดิ์และเยาวชนในโครงการ ปิ๊งส์ เด็กเฮ้ว นักผลิตสื่อสร้างเสริมสุขภาวะสร้างแรงบันดาลใจฯ ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์เรื่องราวสะท้อนให้สังคมได้ตระหนักถึงอันตรายของความอ้วน ที่เป็นปัญหาระดับโลกและประโยชน์ของการหมั่นออกกำลังกาย ด้วยลีลาการเล่าเรื่องที่หลากหลายและสนุกสนานน่าติดตาม
อ้วนแล้วไปไหน
โรคอ้วนในเด็ก ปัญหาที่ดูเหมือนเล็ก แต่มีวี่แววว่าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต “อ้วนแล้วไปไหน” ผลงานการประกวดการ์ตูนช่อง ระดับประชาชนในโครงการ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” โดยศิลปินนักวาดการ์ตูน เพื่อเผยแพร่แนวคิดเรื่องการดูแลสุขภาพและเป็นกระจกเงาสะท้อนให้สังคมได้ตระหนัก ตื่นตัว ในเรื่องโทษของการบริโภคนิยมและการปล่อยให้เด็กอ้วน อีกทั้งเป็นการสร้างพื้นที่และช่องทางให้แก่นักวาดการ์ตูน ที่มีความสามารถได้สร้างสรรค์ผลงานผ่านเรื่องราวและประเด็นทางสุขภาวะ เพื่อเป็นอีกแรงเสริมพลังผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติค่านิยม ความเข้าใจและพฤติกรรมในสังคมให้ไปสู่สังสุขภาวะสืบไป
Spark U ปลุกใจคุณ ปลุกใจเมืองอีสาน
Spark U ปลุกใจคุณ ปลุกใจเมืองอีสาน เป็นการรวบรวม สรุปบทเรียนและองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการ Spark U ปลุกใจเมืองอีสาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ดี สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี จากตัวอย่างจริงของพื้นที่ปฏิบัติการใน 3 จังหวัด คือ ขอนแก่น เลย มหาสารคาม ลงรายละเอียดใน 5 พื้นที่กรณีศึกษาอันเป็นผลงานการสืบเสาะ ค้นหา และสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยเยาวชนในพื้นที่ เพื่อหวังเป็นตัวจุดสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมในวงกว้างต่อไป
ความฝันความหวังความสุขของเด็กเมืองขอนแก่น
เอกสารสรุปการจัดกิจกรรมในโครงการ ปฏิบัติการเปลี่ยนเมือง ภาคอีสาน ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นภายใต้ชื่อกิจกรรม 'โครงการ 4 ป. ภูมิใจไทอีสาน (ปลุก ปรับ เปลี่ยน ปลื้ม)' เนื้อหากิจกรรมเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนใน 3 พื้นที่คือ สถานพินิจเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่น, ชุมชนเทพารักษ์ ริมทางรถไฟในเขตเทศบาลนครขอนแก่น, ชุมชนสาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น นำเสนอความคิดภายใต้แนวคิด 'ความสุข ความฝัน และความหวัง' ว่าลึก ๆ แล้วแท้จริงเด็ก ๆ ต้องการอะไร โดยผลที่ได้ออกมานั้น เด็ก ๆ ในแต่ละพื้นที่ต่างสะท้อนมุมมองออกมาตามบริบทสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ของตัวเองได้อย่างน่าสนใจ เป็นข้อมูลที่ส่งต่อให้ผู้ใหญ่ได้นำไปดำเนินการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ เพื่อตอบโจทย์เด็กและเยาวชนให้ได้ตรงจุดอย่างแท้จริง
แก่นสาระและสุนทรียภาพหนังสือเด็กปฐมวัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพเด็กและสังคมไทย
หนังสือรวบรวมบทวิจัย และวิเคราะห์ หนังสือภาพ 108 เล่มที่เด็กปฐมวัยควรอ่าน ซึ่งคัดสรรขึ้นจากแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เพื่อเป็นแนวทาให้ผู้มีบทบาทในการส่งเสริมการอ่าน อาทิ นักเขียน นักสร้างสรรค์ภาพ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ ได้มีแนวทางในการจัดทำหนังสือภาพที่ดี เพื่อเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสให้กับเด็ก ๆ ต่อไป โดยเนื้อหางานวิจัยจะเน้นแก่นสาระ ด้านแนวคิด เนื้อหา และการนำเสนอ และสุนทรียภาพด้านการออกแบบรูปเล่ม รวมถึงความสละสลวยของภาษา