คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
ชุดกิจกรรมการพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy – MIDL)เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะความเป็นพลเมืองดิจิทัล สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เหมาะสำหรับครูผู้สอนและนักการศึกษาที่ต้องการเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อฯ ให้กับนักเรียน โดยผู้ใช้สามารถนำไปประยุกต์เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์และบริบทที่แตกต่างกันได้
คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับครอบครัวและเด็ก
ทำงานที่บ้านอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูแลลูกน้อยในบ้านด้วย ทำอย่างไรจะดูแลใจกันได้ทั้งครอบครัว? ท่ามกลางสถานการณ์ new normal สิ่งใหม่ที่เราต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ work from home และการเรียนจากบ้านของลูกน้อยในบ้าน ทำให้เราต้องมีบทบาทพร้อมๆ กันในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น เป็นแม่-หัวหน้างาน เป็นพ่อ-เพื่อนในงาน เป็นลูก-นักเรียนออนไลน์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คงส่งผลกับภูมิคุ้มกันทางใจของเราไม่น้อย จนอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งกันเองในฐานะที่เป็นอยู่หรือกับสมาชิกในบ้าน ความสุขประเทศไทยจึงขอเสนอ “คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับครอบครัวและเด็ก” เพื่อให้มีแนวทางที่จะสร้างการอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว พร้อมกับเติมความเข้าใจและรู้จักคนในครอบครัวให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยคู่มือฉบับนี้จะพาเราไปรู้จัก Family O’clock ว่าเราจะจัดการเวลาของทั้งครอบครัวอย่างไร และนำเสนอกิจกรรมที่ครอบครัวสามารถใช้เวลาร่วมกันและสร้างให้รู้จักกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นอย่าง Family Art Talk เป็นต้น
คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับคู่รักที่ต้องอยู่ด้วยกันในสถานการณ์โควิด-19
โควิดทำให้เราพูดกันไม่รู้เรื่อง โกรธกัน ทะเลาะกันง่ายหรือไม่ ไม่อยากให้ความสัมพันธ์ต้องพังลง ทำอย่างไรดี? สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ตอนนี้มีทิศทางที่ดีขึ้นแต่สถานการณ์ของเรากับคนรักตอนนี้เป็นอย่างไร หลังที่ต้องอยู่ด้วยกันแทบจะตลอดเวลาส่งผลให้เราทะเลาะกันเพิ่มหรือไม่ หรือห่างเหินกันมากกว่าเดิมหรือเปล่า? ความสุขประเทศไทยจึงขอเสนอ “คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับคู่รัก” เพื่อแนะนำแนวทางในการดูแลใจ เพิ่มความเข้าใจ เชื่อมสัมพันธ์และสร้างภูมิคุ้มใจเพิ่มให้กันและกัน โดยเนื้อหาในคู่มือฉบับนี้ว่าด้วย เราจะดูแลใจอย่างไรเมื่อความโกรธปรากฏขึ้น จะสื่อสารกับคนรักให้เข้าใจกันมากขึ้นได้อย่างไร และเราจะได้ย้อนเวลาหาความรัก เพื่อดูแลใจและความรักของคนรักไปได้พร้อมๆ กัน
คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับครอบครัวที่ต้องห่างกันในสถานการณ์โควิด-19
ต่อสู่กับโควิด-19 อยู่ด้านหน้าแทบขาดใจ อยากกอดครอบครัวแค่ไหนก็ทำไม่ได้ จะบอกรักพวกเขาอย่างไรดี? สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ตอนนี้เหมือนจะโอเค แต่หากมันกลับมาอีกครั้งเราในฐานะผู้ทำหน้าที่เป็นด่านหน้าการต่อสู้กับไวรัสหรือเรามีคนในครอบครัวที่เป็นคนหน้าด่านต่อสู้กับโรคแล้วละก็ เราจะดูแลความรักกันอย่างไรดี ความสุขประเทศไทยจึงขอเสนอ “คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับครอบครัวที่ต้องห่างกัน” สำหรับผู้คนที่ต้องทำหน้าที่ต่อสู้กับโรคโควิด-19 หรือผู้ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกับคนที่ต้องทำหน้าที่ต่อสู้กับโรค ให้สามารถดูแลความรักในชีวิตของเราและส่งกำลังใจดูแลกันและกันได้ไม่ให้ความรักล้มป่วยไปเสียก่อน โดยคู่มือฉบับนี้จะนำเสนอ “ภาษาชูกำลัง (ใจ)” ที่จะทำให้ใจใกล้กันได้แม้กายต้องห่าง อันนำไปสู่วิธีบอกรักแบบพอดีๆ
คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับมหาชน
สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ตอนนี้เหมือนจะโอเค แต่แล้วมันโอเคจริงๆ หรือเปล่าสำหรับฉัน? ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ ภาพรวมของโลก new normal การ์ดอย่าตก โควิดจะกลับมา การเงินส่วนตัว ความสัมพันธ์ในชีวิต การงานของเรา อาจส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ถึงความเครียด สับสน วิตกกังวล ซึ่งหลายครั้งการหมกหมุ่นในอารมณ์และความคิดเหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไร แถมยังซ้ำเติมเราให้อาการหนักขึ้น ความสุขประเทศไทยจึงได้ผลิต “คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับมหาชน” ที่เล่าถึงวิธีสร้าง “ภูมิคุ้มใจ” แบบง่ายๆ ที่เราทุกคนสามารถทำได้ มีแบบฝึกหัดเล็กๆ ที่จะเพิ่มภูมิคุ้มกันทางใจให้กับตัวเราเอง สามารถรักษาใจให้โอเค ท่ามกลางสถานการณ์ที่ต่างๆ ที่ยังไม่โอเคเท่าไรนัก คู่มือฉบับนี้จะพาเราถามใจตัวเองว่ายังโอเคไหม พาไปดูสาเหตุบางอย่างที่ทำให้ภูมิคุ้มใจของเราบกพร่อง รวมถึงวิธีดูแลและสร้างภูมิคุ้มใจบางอย่าง เช่น ฮาวทูนับหนึ่งถึงห้า ล้างมือล้างใจ เป็นต้น
คู่มือ มือเล็ก ๆ เรียนรู้เท่าทันสื่อ
ในช่วงที่โลกของเรากำลังประสบภาวะวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่และมีมาตรการต่าง ๆ ในการรักษาระยะห่างระหว่างกัน “มือเล็ก ๆ เรียนรู้เท่าทันสื่อ” คู่มือที่รวบรวมสาระความรู้ด้านการรู้เท่าทันสื่อ ตลอดจนข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปควรรู้ เพื่อให้มีความรู้เท่าทันสื่อและรับมือรูปแบบสื่อ และช่วงเวลาที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนเป็นหลัก รวมไปถึงกิจกรรมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อวางแนวทางการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กและเยาวชนอย่างเหมาะสม
Care club ชุดเครื่องมือเพื่อการดูแลใจ สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วย
บางครั้งผู้ดูแล...ก็ต้องการการดูแลด้วยเช่นกัน กิจกรรมกลุ่ม Care club เกิดขึ้นเพื่อดูแล “ใจ” ของผู้ดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งกิจกรรมกลุ่มนี้เกิดขึ้นและพัฒนาโดย กลุ่ม Peaceful Death โดยเป้าหมายหลักของกิจกรรมคือ เพื่อสร้างพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลและให้กำลังใจซึ่งกันและกันด้วยความเข้าใจอย่างสร้างสรรค์ ผ่านทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งและการ์ดเกม ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม กิจกรรมนี้เหมาะกับบุคลากรสุขภาพหรือ นักจัดกิจกรรมในชุมชนที่สนใจการดูแล สุขภาวะของผู้ดูแลผู้ป่วย
คู่มือจัดทำข้อเสนอโครงการ เมือง 3 ดีวิถีสุข
คู่มือฉบับนี้ เป็นเสมือนเข็มทิศเพื่อให้ชุมชมและสังคม ร่วมกันขับเคลื่อนชุมชนและท้องถิ่นของตนเองสู่ “เมืองสื่อสร้างสรรค์” หรือ “เมือง 3 ดี วิถีสุข” ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบในการมี “สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี” โดยเป็นผสานพลังการทำงานของแผนงานหลักของ สสส. ประกอบด้วย แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน, แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาวะ เบื้องต้นมีพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัดที่ขับเคลื่อน คือ แม่ฮ่องสอน, สุรินทร์ และ เพชรบุรี
คู่มือแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ ฉบับปรับปรุง
Child Online Protection Guideline 1.0 หรือ แนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ ฉบับปรับปรุง ยังคงเข้มข้นด้วยเนื้อหาข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงทางออนไลน์ของเด็กและเยาวชน ที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรระแวดระวังทั้งเรื่องสื่อลามกอนาจารออนไลน์ , การพนันออนไลน์ , ภัยจากเกมออนไลน์ , การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ หรือ Cyber Bullying ซึ่งนอกจากเสนอข้อมูลสถานการณ์ปัญหาเพื่อสร้างความตื่นตัวในการป้องกันแล้ว คู่มือเล่มนี้ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการดูแล และคุ้มครองเด็ก ๆ ไม่ให้ถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วยสื่อออนไลน์ และเสริมสร้างความรู้เท่าทันทางสื่อออนไลน์ให้เด็กมีภูมิคุ้มกันในยุคดิจิทัลนี้อีกด้วย
ลูกรักกับหนังสือเล่มแรก (ฉบับปรับปรุง)
หนังสือคือของขวัญที่งดงามที่สุดที่จะมอบให้แก่ลูกที่อยู่ในวัยกำลังเติบโตและเรียนรู้ ลูกรักกับหนังสือเล่มแรก โดย ระพีพรรณ พัฒนาเวช คู่มือสร้างเสริมพัฒนาการของลูกน้อยด้วยหนังสือ พ่อแม่สามารถเริ่มสร้างการเรียนรู้และฝึกให้เขามีสมาธิได้ด้วยการอ่านหนังสือให้เขาฟัง เพราะเด็กจะจดจ่อกับภาพและน้ำเสียงตลอดเวลาที่เราพูดคุย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นก้าวแรกที่จะนำพาเขาเข้าสู่หนทางแห่งการเรียนรู้ทางด้านภาษา ด้านการอ่านและการเขียน รวมไปถึงพัฒนาการทางด้านอื่นๆ ในขั้นต่อไป อีกทั้งการอ่านหนังสือกับลูกยังเป็นช่วงเวลาแห่งความอบอุ่นที่จะได้ใช้เวลาร่วมกับลูกอย่างมีความสุข
คู่มือแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ 2562
ผลการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กและเยาวชนกว่า 15,000 คน เมื่อต้นปี 2562 โดย สสส. ร่วมกับศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ พบว่าเด็กส่วนใหญ่ยอมรับในประโยชน์ของอินเทอร์เน็ต โดยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านทางสมาร์ทโฟนและแท็บแล็ตเป็นส่วนใหญ่ในอัตรา 83% ซึ่งใช้เพื่อความบันเทิงและพักผ่อน เป็นเวลา 6-7 ชั่วโมงต่อวัน และ 3 ชั่วโมงต่อวันในการเล่นเกม โดยมีเด็กเชื่อว่าตนเองสามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ เมื่อประสบภัยออนไลน์ได้ 54% รวมถึงสามารถช่วยเหลือเพื่อนได้ 86% อย่างไรก็ตามในโลกยุคดิจิทัลภัยคุกคามจากอินเทอร์เน็ตและมิจฉาชีพมีมาอย่างต่อเนื่องและมีการพัฒนารูปแบบที่น่ากลัวขึ้นอยู่เสมอ เด็ก ๆ จึงต้องรู้เท่าทันภัยบนโลกออนไลน์ พ่อแม่จึงเป็นส่วนสำคัญในการมีบทบาทเลี้ยงลูกด้วยความรัก รับฟังลูกให้มากขึ้น หากิจกรรมใหม่ๆ ที่เพิ่มทักษะชีวิตให้เด็กทดแทนการติดเกม เล่นมือถือ และไม่ถ่ายรูปลูก แชร์ทางอินเทอร์เน็ต เพราะนั้นนับเป็นการละเมิดสิทธิ์เด็กและยังทำให้เด็กไม่ปลอดภัย หนังสือ “แนวทางการปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์” จึงเป็นคู่มือเลี้ยงลูกฉบับยุคดิจิทัลที่พ่อแม่ และผู้ปกครองควรมีไว้ประจำกาย