ประเภทสื่อ
สื่อสร้างสรรค์: คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
สื่อสร้างสรรค์: คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
30 กันยายน 2563
โดย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย)
5
ถูกแชร์ทั้งหมด

รายละเอียด

เจาะ 5 ประเด็นสำคัญ ในคู่มือเรียนรู้การเท่าทันสื่อฯ สำหรับวัยรุ่นไทยยุคดิจิทัล

.

ไม่ว่าเราจะอยู่ในเจเนเรชั่นไหน จะใช้เทคโนโลยีมากน้อยเท่าไรก็ตาม มาถึงวันนี้คงต้องยอมรับแล้วว่าสถานการณ์ต่างๆ ในสังคมไทยทุกระดับ กำลังถูกสื่อสารและรับรู้อย่างรวดเร็ว ผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยมเล็กๆ ในมือของทุกคน

.

และสิ่งที่เราจะต้องยอมรับต่อไปก็คือ สังคมไทยยังกำลังเดินหน้าสู่จุดที่ 'โลกเสมือน' อย่างโลกออนไลน์กำลังรุกเข้ามามีบทบาทต่อทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ ความสุข ความทุกข์ ความสัมพันธ์ รวมถึงการก้าวไปสู่การผลักดันประเด็นและเรื่องราวหลายอย่างให้เกิดขึ้นทั้งทางบวกและลบใน 'โลกของความเป็นจริง' ที่เราใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบัน

.

จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่วันนี้มีการจัดทำสื่อที่เรียกว่า 'คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ' ขึ้น โดยเล่มแรกจัดทำขึ้นสำหรับการเรียนรู้ในกลุ่มเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีสถิติการใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์สูงที่สุด

.

เรามา 'แกะกล่องสื่อใหม่' ชิ้นนี้กัน มาดูกันว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในคู่มือเล่มนี้ โดยจะขอสกัดประเด็นเข้มข้นออกมาเป็น 5 ประเด็นสำคัญ กับการตอบคำถามว่า 'ทำไมคู่มือเล่มนี้จึงเหมาะกับวัยรุ่นไทยในยุคดิจิทัล?'

.

ประเด็นที่ 1 'สร้างทักษะ ไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า'

.

สิ่งแรกที่น่าสนใจที่สุดในคู่มือการจัดการเรียนรู้ชิ้นนี้คือ ในคู่มือบรรจุไปด้วย 8 กิจกรรมการเรียนรู้ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างทักษะ (Skill) ให้กับเด็ก เป็นทักษะในการเคารพตัวเอง เคารพผู้อื่น เรียนรู้ทักษะทางอารมณ์ ทักษะการท่องโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย เราจะไม่พบการชี้เฉพาะของปัญหาที่ว่า ถ้าถูกกลั่นแกล้งหรือ Bully ต้องทำอย่างไร? หากมีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาหาต้องระวังอย่างไร? ตอบโต้อย่างไร? ซึ่งถ้าเปรียบกับการดูแลสุขภาพ คู่มือเล่มนี้ก็คล้ายๆ กับการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ดี ได้รับวัคซีนที่จำเป็น ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายมีภูมิต้านทานป้องกันเชื้อโรคต่างๆ ในทำนองเดียวกัน หากเด็กๆ ได้ฝึกฝนทักษะที่จำเป็นในการใช้สื่อออนไลน์ที่บรรจุอยู่ในคู่มือเล่มนี้ เขาก็จะมีภูมิรู้เท่าทันสื่อ สามารถดูแลตนเองจากภัยออนไลน์ที่พลิกแพลงมาในหลากหลายรูปแบบได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยั่งยืนกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องหรือเฉพาะหน้าให้กับเด็กๆ ของเรา

.

ประเด็นที่ 2 'ครบวงจรการเรียนรู้'

.

คู่มือการจัดการเรียนรู้ฯ เล่มนี้ คณะผู้จัดทำเป็นอาจารย์และคุณครูที่คลุกคลีอยู่กับเด็กๆ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กิจกรรมในคู่มือถูกออกแบบ ทดลองและปรับปรุงในห้องเรียนจริงๆ กับเด็กตัวจริงเสียงจริงขณะเดียวกัน ก็มีการออกแบบอย่างสอดคล้องกับหลักการจัดการเรียนรู้ทางทฤษฎีควบคู่กันไป โดยมีทั้งแนวคิดทฤษฎีหลักเพื่อทำความเข้าใจเรื่องของพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ วิธีการใช้ชุดกิจกรรม รายละเอียดของแต่ละกิจกรรมที่ละเอียดและชัดเจน ระบุทั้งสมรรถนะ แนวคิด จุดประสงค์ ตัวบ่งชี้พฤติกรรม รวมถึงการระบุสื่ออุปกรณ์ที่ใช้ ขั้นตอน การปรับประยุกต์อย่างละเอียด ท้ายกิจกรรมมีการประเมินผลการเรียนรู้ที่ชัดเจนทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เรียกได้ว่าคุณครูที่สนใจสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนได้ทันทีอย่างครบถ้วน

.

ประเด็นที่ 3 'เรียนรู้ คิดวิเคราะห์ ไม่ท่องจำ'

.

จุดเด่นที่สุดของคู่มือนี้ที่เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์เลยก็คือ แต่ละกิจกรรมในคู่มือถูกออกแบบมาให้เด็กๆ เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลาย ในระหว่างการทำกิจกรรมเด็กจะได้รับมอบหมายภารกิจต่างๆ มีการจับคู่ จับกลุ่ม ใช้ความคิด แสดงความเห็น อภิปราย รับฟัง วิเคราะห์ และสรุปร่วมกัน ตลอดทั้งคู่มือไม่มีบทเรียนของการท่องจำ ไม่มีบทสรุปด้านเดียวจากผู้สอน มีเพียงขั้นตอนและแนวทางการทำกิจกรรมที่จะช่วยนำทางการจัดการเรียนรู้ให้ไปสู่จุดสุดท้ายที่เด็กจะได้บทสรุปจากการดำเนินกิจกรรมร่วมกันทั้งชั้นเรียน ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ การได้ใช้เวลาทบทวนความคิด และกลั่นกรองออกมาเป็นข้อสรุปด้วยตนเองนั้น จะทำให้จดจำได้ยั่งยืนและยาวนานกว่าการท่องจำ และยังทำให้บรรยากาศห้องเรียนเต็มไปด้วยความสนุกและท้าทาย

.

ประเด็นที่ 4 'ผู้ใหญ่ เด็ก เดินไปด้วยกัน'

.

ต่อเนื่องมาจากประเด็นที่ 3 เมื่อคู่มือถูกออกแบบให้เป็นการเรียนรู้ ไม่ใช่การท่องจำ ดังนั้น บทสรุปและสิ่งที่ได้มาในแต่ละกิจกรรมจึงแตกต่าง แปลกใหม่ไปทุกครั้งของการเรียนรู้ แม้จะสรุปออกมาคล้ายกัน แต่สถานการณ์ที่เปลี่ยน รายละเอียดความคิดเห็นของผู้เรียนที่แตกต่างย่อมไม่มีทางซ้ำกัน กิจกรรมทั้ง 8 กิจกรรมในคู่มือเล่มนี้ สร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ไปด้วยกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อเด็กได้พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น ผู้ใหญ่จะได้มีโอกาสฟัง เปิดใจ เข้าใจเด็ก ขณะเดียวกัน เป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ใหญ่จะได้แลกเปลี่ยน นำเสนอความคิดเห็นในอีกแง่มุมหนึ่งที่เด็กอาจจะยังไม่ทันมองกลับไป เพื่อเป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน

.

ประเด็นที่ 5 'ประยุกต์ใช้ได้ในครอบครัว'

.

แม้จุดประสงค์หลักเบื้องต้นของคู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเล่มนี้ จะถูกออกแบบเพื่อนำไปใช้ในระบบการศึกษา ให้คุณครูได้นำไปใช้กับเด็กๆ ในห้องเรียนก็ตาม แต่ทั้ง 8 กิจกรรมในคู่มือ หากตัดรายละเอียดในส่วนที่มีความเป็นวิชาการมากๆ ออกไป ก็จะเห็นว่าเราสามารถหยิบยกกิจกรรมนี้ไปใช้ในเรียนรู้ในครอบครัวได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับตามในคู่มือก็ได้

.

ตัวอย่างเช่น กิจกรรม 'เหตุผลหรืออารมณ์' ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ทำกิจกรรมได้เข้าใจข้อจำกัดทางการสื่อสารและรับรู้ทางอารมณ์ในโลกออนไลน์ เช่น การส่งสติ้กเกอร์หมายความว่าอย่างไร การใช้ถ้อยคำสั้นๆ ตอบรับทางไลน์ คำว่า "อืม" คำเดียวอธิบายความรู้สึกหรืออารมณ์ได้มากน้อยแค่ไหน ฯลฯ เป็นสิ่งที่กิจกรรมนี้ต้องการให้ผู้ทำกิจกรรมได้ตระหนักและมองเห็น ซึ่งกิจกรรมลักษณะนี้ ครอบครัวสามารถหยิบยกไปเปิดประเด็นเรียนรู้และพูดคุยร่วมกันได้เช่นกัน เพราะเชื่อว่าในทุกบ้าน ก็น่าจะมีประสบการณ์การต้องคาดเดาอารมณ์จากสติ้กเกอร์หรือถ้อยคำการสนทนาผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ที่คลาดเคลื่อน ตกหล่น หรือสับสนด้วยเช่นกัน

 

**คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จัดทำโดย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ร่วมกับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)**

keyboard_arrow_up

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่.