Filter
ประเภทสื่อ
คำค้นหา "คู่มือ" พบ 44 ข้อมูล

หลักสูตรและคู่มือการฝึกอบรมการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาและจิตวิญญาณในสถานที่ทำงาน

สุขภาวะทางปัญญาหรือการมีจิตวิญญาณในสถานที่ทำงาน คือ ตัวช่วยสำคัญที่มีอิทธิพลในการพัฒนาปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานภายในองค์การหรือการพัฒนาตัวบุคลากรในสถานที่ทำงาน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมการทำงานก็คือ ความฉลาดทางอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ ความสัมพันธ์ทางบวก การเห็นคุณค่าในตนเองและภาวะผู้นำ โดยปัจจัยเหล่านี้จะส่งเสริมหรือส่งผลกระทบต่อการทำงานในองค์รวม องค์การที่สนับสนุนสุขภาวะทางปัญญาและจิตวิญญาณในสถานที่ทำงานจะเป็นองค์การที่ตระหนักรู้ว่าผู้คนไม่ใช่เครื่องจักร แต่เป็นมนุษย์ที่แสวงหาความหมายและเป้าหมายในการทำงาน รวมถึงความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในองค์การ หลักสูตรและคู่มือการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาและจิตวิญญาณในสถานที่ทำงาน จัดทำขึ้นสำหรับผู้ที่สนใจหรือไม่เคยมีความคุ้นเคยในเรื่องนี้มาก่อน เพื่อนำไปปรับใช้พัฒนาให้เกิดแนวคิดเชิงบวกในการทำงานและการเปลี่ยนแปลงการทำงานภายในองค์การให้มีประสิทธิผล

หัวใจอาสา คู่มือสร้างสุขในงานอาสา

การให้ที่แท้จริงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การให้วัตถุสิ่งของเสมอไป เวลา แรงกาย ทักษะความรู้ ความสามารถความรัก ความเมตตา หรือแม้แต่ รอยยิ้ม ก็นับว่าเป็นการให้ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมและตัวเราได้ เพียงแค่เรามีจิตอาสาที่ปรารถนาดีไม่นิ่งดูดายต่อสังคมหรือความทุกข์ยากของคนอื่นและพร้อมที่จะสละแรงกายแรงใจใช้สิ่งที่ตัวเองมีเข้าไปแบ่งปันให้กับสังคม นอกจากเราจะได้ช่วยเหลือและสร้างความสุขให้กับสังคมแล้วสิ่งที่เราจะได้รับ คือ การเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆ กับการรู้จักกับความสุขที่เรียบง่าย หัวใจอาสาคู่มือสร้างสุขในงานอาสา หนังสือเล่มนี้จะนำเราไปเปิดประสบการณ์ในมุมมองใหม่ๆ ที่มีคุณค่าที่เราจะได้รับในงานอาสาช่วยเหลือสังคม

คู่มือวิถีกระบวนกร การจัดกระบวนการเรียนกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มพลังชีวิต

กระบวนกร คือ ผู้ที่มีทั้งศาตสร์และศิลป์ในการจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงลึกและมีพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงทัศนคติและพฤติกรรมของผู้เรียนไปจนถึงความสัมพันธ์ในระดับองค์กรและสังคม คู่มือวิถีกระบวนกรชุดนี้ มีเนื้อหาเข้มข้นเต็มไปด้วยความรู้ที่จะทำให้เข้าถึงความหมายของชีวิตได้อย่างแท้จริง อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยดึงศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวกระบวนกรออกมาใช้สร้างคุณค่าในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ได้อย่างมีความหมาย  เพื่อต่อยอดการเปลี่ยนแปลงให้กระจายออกไปสู่วงกว้างในสังคม

คู่มือนิเวศภาวนา เตรียมการเดินทาง ค้นหาตัวเองในธรรมชาติแห่งป่าเขา

“ชีวิตคือการเดินทางอยู่ทุกขณะจิต” มนุษย์เราเริ่มออกเดินทางตั้งแต่วินาทีแรกที่เราเกิดมาและระหว่างการเดินทางนั้น เราได้เรียนรู้ ได้ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากสิ่งที่เราได้ประสบพบเจอในสังคมและตลอดเวลาเราต้องเผชิญกับสิ่งที่ทำให้เราสับสนหรือแม้กระทั่งรู้สึกหมดคุณค่าในตัวตน แล้วการเดินทางแบบไหนที่จะสร้างคุณค่าและการตระหนักรู้ให้กับเรา? คู่มือเตรียมการเดินทางค้นหาตัวเองในธรรมชาติแห่งป่าเขา หรือ นิเวศภาวนา ฉบับปี 2563 คือ คู่มือเตรียมความพร้อมในการเดินทางกลับสู่บ้านภายในที่จะนำเรากลับไปค้นหาตัวตนและคุณค่าที่แท้จริงของเราอย่างตระหนักรู้และเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เพื่อนำคุณค่าที่เราค้นพบในธรรมชาติกลับมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเราและสังคม

คู่มือบอร์ดเกม 3ดี ชุมชนสร้างสุข

“เวลา” คือสิ่งมีค่าที่สุดที่พ่อแม่ทุกคนจะให้กับลูกได้ แต่จำนวนปริมาณเวลายังไม่สำคัญเท่ากับ “คุณภาพ” ของเวลาที่เราใช้กับเด็กๆ เราสามารถสร้างเวลาคุณภาพให้เกิดขึ้นกับครอบครัวได้ โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันร่วมกัน คู่มือ บอร์ดเกม ชุด “3 ดี” ออกแบบมาให้เหมาะสำหรับเด็กวัยประถมปลาย (8-12 ปี) การเล่นบอร์ดเกมจะช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ เกิดภาวะ “สมองตื่นตัว หัวใจตื่นรู้” และยังเกิดความสุขจากการได้ใช้เวลาคุณภาพร่วมกันในครอบครัว

คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เนื้อหาบรรจุทั้งแนวคิดเบื้องต้น 8 กิจกรรมการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะพลเมืองเท่าทันสื่ออย่างรอบด้าน ทั้งการเข้าใจตนเอง การรู้เท่าทันอารมณ์​ การเคารพสิทธิ์ผู้อื่น การคำนึงถึงความเสี่ยงและความปลอดภัยในโลกออนไลน์ ฯลฯ ปิดท้ายด้วยแบบวัดประเมินทั้งความรู้และทักษะการรู้เท่าทันสื่อ คู่มือนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเรียนรู้ในครอบครัวและกิจกรรมต่างๆ นอกห้องเรียนสำหรับเด็กในกลุ่มวัยเดียวกัน

คู่มือหลักสูตรการบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย

การที่บุคคลจะเข้าถึงการอยู่ดีและตายดีนั้น แม้จะเป็นเรื่องเฉพาะตน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การดูแลวาระสุดท้ายของชีวิตเป็นเรื่องที่สำคัญมากและจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับทั้งคนในครอบครัว แพทย์ พยาบาล เภสัชกร รวมถึงผู้ที่รับจ้างดูแล คู่มือหลักสูตรการบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายสำหรับผู้ดูแลและนักบริบาลชุดนี้ จึงมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการเผยแพร่แนวทางในการช่วยเหลือผู้ป่วยระยะท้ายให้มีคุณภาพที่ดีและจากไปด้วยดี รวมถึงช่วยให้ครอบครัวเข้าใจยอมรับความพลัดพรากสูญเสียที่เกิดขึ้นได้

คู่มือแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ 2563

แม้ว่ายุคปัจจุบันเยาวชนไทยเติบโตขึ้นมากับการใช้อินเทอร์เน็ตและมีอิสระในการเข้าถึงสื่อออนไลน์ค่อนข้างมาก อีกทั้งสื่อออนไลน์ยังเป็นตัวกลางในการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลและด้วยความคุ้นชินกับการเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้อย่างอิสระนี้ อาจทำให้หลงลืมเรื่องภัยที่มากับโลกออนไลน์ คู่มือแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ชุดนี้ มีเนื้อหาข้อมูลที่เกี่ยวกับแนวทางป้องกันภัยออนไลน์ในรูปแบบต่างๆและผลสำรวจพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเยาวชนไทย ที่สุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อภัยออนไลน์ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ สำรวจป้องกันและช่วยเหลือเด็กจากภัยออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

ชุดกิจกรรมการพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy – MIDL)เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะความเป็นพลเมืองดิจิทัล สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เหมาะสำหรับครูผู้สอนและนักการศึกษาที่ต้องการเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อฯ ให้กับนักเรียน โดยผู้ใช้สามารถนำไปประยุกต์เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์และบริบทที่แตกต่างกันได้

คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับครอบครัวและเด็ก

ทำงานที่บ้านอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูแลลูกน้อยในบ้านด้วย ทำอย่างไรจะดูแลใจกันได้ทั้งครอบครัว? ท่ามกลางสถานการณ์ new normal สิ่งใหม่ที่เราต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ work from home และการเรียนจากบ้านของลูกน้อยในบ้าน ทำให้เราต้องมีบทบาทพร้อมๆ กันในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น เป็นแม่-หัวหน้างาน เป็นพ่อ-เพื่อนในงาน เป็นลูก-นักเรียนออนไลน์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คงส่งผลกับภูมิคุ้มกันทางใจของเราไม่น้อย จนอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งกันเองในฐานะที่เป็นอยู่หรือกับสมาชิกในบ้าน ความสุขประเทศไทยจึงขอเสนอ “คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับครอบครัวและเด็ก” เพื่อให้มีแนวทางที่จะสร้างการอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว พร้อมกับเติมความเข้าใจและรู้จักคนในครอบครัวให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยคู่มือฉบับนี้จะพาเราไปรู้จัก Family O’clock ว่าเราจะจัดการเวลาของทั้งครอบครัวอย่างไร และนำเสนอกิจกรรมที่ครอบครัวสามารถใช้เวลาร่วมกันและสร้างให้รู้จักกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นอย่าง Family Art Talk เป็นต้น

คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับคู่รักที่ต้องอยู่ด้วยกันในสถานการณ์โควิด-19

โควิดทำให้เราพูดกันไม่รู้เรื่อง โกรธกัน ทะเลาะกันง่ายหรือไม่ ไม่อยากให้ความสัมพันธ์ต้องพังลง ทำอย่างไรดี? สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ตอนนี้มีทิศทางที่ดีขึ้นแต่สถานการณ์ของเรากับคนรักตอนนี้เป็นอย่างไร หลังที่ต้องอยู่ด้วยกันแทบจะตลอดเวลาส่งผลให้เราทะเลาะกันเพิ่มหรือไม่ หรือห่างเหินกันมากกว่าเดิมหรือเปล่า? ความสุขประเทศไทยจึงขอเสนอ “คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับคู่รัก” เพื่อแนะนำแนวทางในการดูแลใจ เพิ่มความเข้าใจ เชื่อมสัมพันธ์และสร้างภูมิคุ้มใจเพิ่มให้กันและกัน โดยเนื้อหาในคู่มือฉบับนี้ว่าด้วย เราจะดูแลใจอย่างไรเมื่อความโกรธปรากฏขึ้น จะสื่อสารกับคนรักให้เข้าใจกันมากขึ้นได้อย่างไร และเราจะได้ย้อนเวลาหาความรัก เพื่อดูแลใจและความรักของคนรักไปได้พร้อมๆ กัน

คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับครอบครัวที่ต้องห่างกันในสถานการณ์โควิด-19

ต่อสู่กับโควิด-19 อยู่ด้านหน้าแทบขาดใจ อยากกอดครอบครัวแค่ไหนก็ทำไม่ได้ จะบอกรักพวกเขาอย่างไรดี? สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ตอนนี้เหมือนจะโอเค แต่หากมันกลับมาอีกครั้งเราในฐานะผู้ทำหน้าที่เป็นด่านหน้าการต่อสู้กับไวรัสหรือเรามีคนในครอบครัวที่เป็นคนหน้าด่านต่อสู้กับโรคแล้วละก็ เราจะดูแลความรักกันอย่างไรดี ความสุขประเทศไทยจึงขอเสนอ “คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับครอบครัวที่ต้องห่างกัน” สำหรับผู้คนที่ต้องทำหน้าที่ต่อสู้กับโรคโควิด-19 หรือผู้ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกับคนที่ต้องทำหน้าที่ต่อสู้กับโรค ให้สามารถดูแลความรักในชีวิตของเราและส่งกำลังใจดูแลกันและกันได้ไม่ให้ความรักล้มป่วยไปเสียก่อน โดยคู่มือฉบับนี้จะนำเสนอ “ภาษาชูกำลัง (ใจ)” ที่จะทำให้ใจใกล้กันได้แม้กายต้องห่าง อันนำไปสู่วิธีบอกรักแบบพอดีๆ

keyboard_arrow_up

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่.