ระวังเครียดมากเสี่ยงโรคร้าย
รู้เท่าทันความเครียดและวิธีป้องกัน เพราะความเครียดส่งผลเสียต่อตนเองและผู้อื่น เป็นบ่อเกิดแห่งโรคร้าย ทั้งโรคหัวใจ โรคซึมเศร้า โรคประสาท หรืออาจทำให้ถึงขั้นคิดทำร้ายตัวเองและผู้อื่น ความเครียดอันตรายมากกว่าที่เราคิด
โรคซึมเศร้า เราควรใกล้ชิด
เรียนรู้ และเข้าใจ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างใกล้ชิดและถูกวิธี เพราะผู้ป่วยไม่ได้อ่อนแอ แต่ความคิดในแง่ลบนั้นเกิดจากสารเคมีและระบบฮอร์โมนในสมองที่เปลี่ยนไป คนใกล้ชิดคือยาใจสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคนี้ ให้หายได้อย่างยั่งยืนเพียงแค่เปิดใจรับฟัง
มะเร็งเต้านม รู้เร็ว รักษาได้
มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย ซึ่งมีโอกาสพบได้มากกว่ามะเร็งปากมดลูกและมะเร็งปอด แต่ความน่ากลัวของมะเร็งเต้านมจะลดลงตามความเร็วในการค้นพบ ยิ่งรู้เร็ว โอกาสรักษาได้ยิ่งมากขึ้น ในผู้ป่วยระยะเริ่มต้นการรักษามีตั้งแต่การผ่าตัดให้หายขาด การใช้ยารักษาและรังสีรักษา ในผู้ป่วยระยะแพร่กระจายวิธีการรักษามีการใช้ยารักษาและรังสีรักษา การตรวจคัดกรองที่เป็นมาตรฐานจะช่วยวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้นได้และยังสามารถตรวจได้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มมีอาการ นอกจากนั้นการตรวจเช็คและสังเกตความผิดปกติด้วยตนเองก็สามารถช่วยทำให้พบความผิดปกติที่เกิดกับเต้านมได้ “มะเร็งเต้านมรักษาได้ หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง”
โรคสมองพิการ C.P.
โรคสมองพิการ C.P. หรือ Cerebral Palsy คือกลุ่มโรคอาการพิการทางสมองอย่างถาวรและคงที่ ส่งผลกระทบทำให้เด็กมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว และอาจมีปัญหาอื่นๆ ที่ซ้ำซ้อน สาเหตุอาจมาจากคุณแม่ติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์ หรือระหว่างคลอดเด็กขาดออกซิเจน รติดเชื้อขณะยังเล็ก หรือเด็กเกิดอุบัติเหตุ เช่น การจมน้ำ สำลักน้ำ การฟื้นฟูดูแลเด็ก C.P. คือการกระตุ้นพัฒนาการทางสมองให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในกิจวัตรประจำวัน การทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง
อุนจิ กำลังบอกอะไรเรา
อุจจาระของคนเรา สามารถบอกถึงสุขภาพภายในได้ คนที่ถ่ายอุจจาระมีลักษณะลอยน้ำ แสดงว่าทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีกากใยเยอะ ส่วนคนที่อุจจาระจม แสดงว่าทานเนื้อสัตว์มากไป และสีของอุจจาระยังบ่งบอกภาวะเสี่ยงของโรคได้เช่น หากมีสีดำและสีแดง แสดงว่าระบบทางเดินอาหารกำลังมีปัญหา ดังนั้นการสังเกตอุจจาระตนเอง ก็จะช่วยตรวจเช็คสุขภาพได้ในระดับหนึ่งด้วย
ภัยอันตรายจากน้ำดื่ม
ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน บางครั้งเวลากระหายน้ำ เราจึงมักหาซื้อน้ำหวานมาดื่ม เพราะสะดวกและดับกระหาย โดยองค์กรอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าคนเราไม่ควรบบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา แต่น้ำหวานที่เราดื่มกัน มีน้ำตาลมากกว่า 10 ช้อนชาขึ้นไปแล้ว จึงเป็นปัญหาระดับชาติว่า น้ำหวานทำให้คนไทยเป็นโรคอ้วนกว่า 44 % และมีภาวะเสี่ยงเกิดเป็นโรคเบาหวานและหัวใจตามมา
คุณภาพชีวิตเด็กปฐมวัย
หนังสือคุณภาพชีวิตเด็กปฐมวัย (ปีที่ 2) นำเสนอประเด็นสำคัญที่น่าห่วงใยและทางออกในการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศไทย ภายใต้ข้อมูลฐานงานวิจัยและวิชาการของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เพื่อการพัฒนาและส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการที่สมวัย นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นบทบาทของครอบครัวในการเลี้ยงดูเด็ก โภชนาการที่เหมาะสมกับเด็ก ความปลอดภัยและป้องกันการการบาดเจ็บและสารพิษในเด็ก โรคติดเชื้อในศูนย์เด็กเล็ก ปัญหาการบริโภคสื่อของเด็ก รวมทั้งสิทธิและความเสมอภาคของเด็กในการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม
โรคาฮาเฮ
“โรคาฮาเฮ” 11 เรื่องสั้น ชวนกันอย่าอ้วน จากผลงานการประกวดในโครงการร่วมสร้างสรรค์สื่อเรื่องสั้นและการ์ตูน “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” โดย 11 นักเขียนกิตติมศักดิ์และเยาวชนในโครงการ ปิ๊งส์ เด็กเฮ้ว นักผลิตสื่อสร้างเสริมสุขภาวะสร้างแรงบันดาลใจฯ ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์เรื่องราวสะท้อนให้สังคมได้ตระหนักถึงอันตรายของความอ้วน ที่เป็นปัญหาระดับโลกและประโยชน์ของการหมั่นออกกำลังกาย ด้วยลีลาการเล่าเรื่องที่หลากหลายและสนุกสนานน่าติดตาม
อ้วนแล้วไปไหน
โรคอ้วนในเด็ก ปัญหาที่ดูเหมือนเล็ก แต่มีวี่แววว่าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต “อ้วนแล้วไปไหน” ผลงานการประกวดการ์ตูนช่อง ระดับประชาชนในโครงการ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” โดยศิลปินนักวาดการ์ตูน เพื่อเผยแพร่แนวคิดเรื่องการดูแลสุขภาพและเป็นกระจกเงาสะท้อนให้สังคมได้ตระหนัก ตื่นตัว ในเรื่องโทษของการบริโภคนิยมและการปล่อยให้เด็กอ้วน อีกทั้งเป็นการสร้างพื้นที่และช่องทางให้แก่นักวาดการ์ตูน ที่มีความสามารถได้สร้างสรรค์ผลงานผ่านเรื่องราวและประเด็นทางสุขภาวะ เพื่อเป็นอีกแรงเสริมพลังผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติค่านิยม ความเข้าใจและพฤติกรรมในสังคมให้ไปสู่สังสุขภาวะสืบไป
ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น
บทความนี้พูดถึงความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งในกลุ่มผู้ใช้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ที่มีจิตใจอ่อนไหวเปราะบาง ผู้ติดสุรายาเสพติดและผู้ป่วยโรคร้ายแรงอื่นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงในการฆ่าตัวตายจากความเปราะบางทางจิตใจและความหุนหันพลันแล่น โดยแนะนำให้เฝ้าระวังและยึดหลัก 4 “อย่า” คือ 1 อย่าท้าทาย 2 อย่าใช้คำพูดเยาะเย้ย 3 อย่านิ่งเฉย 4 อย่าส่งข้อความหรือเผยแพร่ภาพการฆ่าตัวตายเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลอกเลียนแบบ และ 3 “สิ่งที่ควรทำ” คือ 1 ควรห้าม 2 ควรชวนคุยไม่ปล่อยให้อยู่คนเดียว 3 ควรติดต่อหาทางช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด