คู่มือแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ 2563
แม้ว่ายุคปัจจุบันเยาวชนไทยเติบโตขึ้นมากับการใช้อินเทอร์เน็ตและมีอิสระในการเข้าถึงสื่อออนไลน์ค่อนข้างมาก อีกทั้งสื่อออนไลน์ยังเป็นตัวกลางในการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลและด้วยความคุ้นชินกับการเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้อย่างอิสระนี้ อาจทำให้หลงลืมเรื่องภัยที่มากับโลกออนไลน์ คู่มือแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ชุดนี้ มีเนื้อหาข้อมูลที่เกี่ยวกับแนวทางป้องกันภัยออนไลน์ในรูปแบบต่างๆและผลสำรวจพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเยาวชนไทย ที่สุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อภัยออนไลน์ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ สำรวจป้องกันและช่วยเหลือเด็กจากภัยออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
คู่มือแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ ฉบับปรับปรุง
Child Online Protection Guideline 1.0 หรือ แนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ ฉบับปรับปรุง ยังคงเข้มข้นด้วยเนื้อหาข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงทางออนไลน์ของเด็กและเยาวชน ที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรระแวดระวังทั้งเรื่องสื่อลามกอนาจารออนไลน์ , การพนันออนไลน์ , ภัยจากเกมออนไลน์ , การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ หรือ Cyber Bullying ซึ่งนอกจากเสนอข้อมูลสถานการณ์ปัญหาเพื่อสร้างความตื่นตัวในการป้องกันแล้ว คู่มือเล่มนี้ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการดูแล และคุ้มครองเด็ก ๆ ไม่ให้ถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วยสื่อออนไลน์ และเสริมสร้างความรู้เท่าทันทางสื่อออนไลน์ให้เด็กมีภูมิคุ้มกันในยุคดิจิทัลนี้อีกด้วย
คู่มือแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ 2562
ผลการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กและเยาวชนกว่า 15,000 คน เมื่อต้นปี 2562 โดย สสส. ร่วมกับศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ พบว่าเด็กส่วนใหญ่ยอมรับในประโยชน์ของอินเทอร์เน็ต โดยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านทางสมาร์ทโฟนและแท็บแล็ตเป็นส่วนใหญ่ในอัตรา 83% ซึ่งใช้เพื่อความบันเทิงและพักผ่อน เป็นเวลา 6-7 ชั่วโมงต่อวัน และ 3 ชั่วโมงต่อวันในการเล่นเกม โดยมีเด็กเชื่อว่าตนเองสามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ เมื่อประสบภัยออนไลน์ได้ 54% รวมถึงสามารถช่วยเหลือเพื่อนได้ 86% อย่างไรก็ตามในโลกยุคดิจิทัลภัยคุกคามจากอินเทอร์เน็ตและมิจฉาชีพมีมาอย่างต่อเนื่องและมีการพัฒนารูปแบบที่น่ากลัวขึ้นอยู่เสมอ เด็ก ๆ จึงต้องรู้เท่าทันภัยบนโลกออนไลน์ พ่อแม่จึงเป็นส่วนสำคัญในการมีบทบาทเลี้ยงลูกด้วยความรัก รับฟังลูกให้มากขึ้น หากิจกรรมใหม่ๆ ที่เพิ่มทักษะชีวิตให้เด็กทดแทนการติดเกม เล่นมือถือ และไม่ถ่ายรูปลูก แชร์ทางอินเทอร์เน็ต เพราะนั้นนับเป็นการละเมิดสิทธิ์เด็กและยังทำให้เด็กไม่ปลอดภัย หนังสือ “แนวทางการปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์” จึงเป็นคู่มือเลี้ยงลูกฉบับยุคดิจิทัลที่พ่อแม่ และผู้ปกครองควรมีไว้ประจำกาย