ร.๙ ในใจชน ตอน เรื่องเล่าชาวบางลำพู (ตอนที่ 2)
ธุรกิจเล็ก ๆ ย่านบางลำพู ยังคงมีความทรงจำที่ยิ่งใหญ่ ถึงครั้งหนึ่งที่เคยมีโอกาสถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ห้าง ต.เง๊กชวน ผู้ผลิตแผ่นเสียงตรากระต่าย ที่เคยอัดเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ ร้านไทยนคร ผู้ผลิตเครื่องถมเงินถวายงานรับใช้ ต่างปลื้มปิติที่ได้รับตราตั้งพระราชทาน นับเป็นเกียรติยศสูงสุดของชีวิตและการดำเนินธุรกิจ และในวันที่คนไทยต้องโศกเศร้าอย่างหาใดเสมอเหมือน ชุมชนย่านบางลำพู ทั้งเจ้าของธุรกิจ ชาวบ้านทุกครัวเรือน และทุกศาสนา ต่างสมัครสมานสามัคคี ร่วมกันเป็นจิตอาสา เจริญรอยตามเบื้องยุคลบาทในการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทน นำอาหารเครื่องดื่ม และบริการอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชนที่เดินทางมาถวายอาลัยพระบรมศพในหลวง รัชกาลทื่ 9 อย่างมิเหน็ดเหนื่อย ต่างร่วมแรงร่วมใจทำความดีถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ศูนย์รวมจิตใจคนไทยอันเป็นที่รักยิ่งตลอดกาล
ร.๙ ในใจชน ตอน เรื่องเล่าชาวบางลำพู (ตอนที่ 1)
การได้เกิดและเติบโตในย่านบางลำพู ที่อยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ยังความปลาบปลื้มมาให้ผู้คนในชุมชนบางลำพู ไม่ว่าจะเป็นการได้มีโอกาสถวายการต้อนรับเมื่อครั้งเสด็จนิวัติผ่านถนนจักรพงษ์ การรับเสด็จเมื่อครั้งพระองค์ทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร การสนับสนุนการแปลคัมภีร์อัลกุรอานให้เป็นภาษาไทย เพื่อเผยแพร่หลักคำสอนให้กับพี่น้องชาวไทยมุสลิม แม้กระทั่งการได้ถวายเสื้อเชิ้ตแด่พระองค์และทราบว่าพระองค์ทรงใช้สวมใส่อย่างคุ้มค่า รวมถึงการนำแนวพระราชดำริโครงการจักรยานเผินน้ำมาผสานกับโครงการกังหันชัยพัฒนา เพื่อคืนความใสสะอาดให้กับคูคลองย่านบางลำพู เหล่านี้คือความประทับใจและจิตวิญญาณของลูกหลานชาวบางลำพู ที่จะดูแลชุมชนของตนเองให้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า และอยู่ในความทรงจำตลอดไป
ร.๙ ในใจชน ตอน ชุมชนนางเลิ้ง
ชุมชนนางเลิ้ง เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่พสกนิกรจากรุ่นสู่รุ่นต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 ด้วยทรงเสด็จมายกช่อฟ้าให้กับวัดแคหรือวัดสุนทรธรรมทาน ซึ่งเป็นเพียงวัดราษฎร์หรือวัดของชาวบ้านธรรมดาๆ ทว่าเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ก็ทรงให้ความสำคัญเสด็จมาชุมชนนางเลิ้งแห่งนี้ เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต ชุมชนนางเลิ้งต่างโศกเศร้าและเสียใจใหญ่หลวงนักเฉกเช่นคนไทยทั่วประเทศ จึงได้จัดการแสดง ละครชาตรี ชุด นางร้องไห้ การแสดงพื้นบ้านซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนนางเลิ้ง ถวายแด่พระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้าย ขับร้องเพื่อส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย โดยมีเนื้อหาพรรณนาในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของคนไทยทั้งผอง
ร.๙ ในใจชน ตอน ถวายจงรักด้วยอักษรา (ตอน 2)
บทประพันธ์ร้อยกรองโดยคุณชมัยภร แสงกระจ่าง ประพันธ์ขึ้นจากใจที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในรัชกาลที่ 9...ในยามที่บ้านเมืองต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แต่ด้วยพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณของพ่อแห่งแผ่นดิน ได้เรียกขวัญและสร้างความสมัครสมานสามัคคีกลับมาสู่แผ่นดินไทยอีกครั้ง ..ทว่ากาลเวลาที่ล่วงผ่าน มิอาจทานกฎแห่งธรรมชาติได้ สิ่งที่คนไทยทั้งแผ่นดินไม่อยากได้ยิน...13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว ต่อแต่นี้คนไทยต้องรักกัน ดูแลกันและกัน ดูแลแผ่นดินของพ่อให้ดีงามดั่งที่พ่อเคยทำมา
ร.๙ ในใจชน ตอน ถวายจงรักด้วยอักษรา (ตอนที่ 1)
คุณชมัยภร แสงกระจ่าง ได้ถ่ายทอดความจงรักภักดีต่อในหลวง รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ครั้งผู้เขียนยังวัยเยาว์ ผ่านเรื่องราวอันแสนประทับใจที่เล่าผ่านคุณยาย ว่าพระองค์ทรงเป็นพระราชาที่ต้องกราบไหว้จากหัวใจ ด้วยซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถ ทรงเป็นนักสู้ที่ยิ่งใหญ่ สู้กับความปวดร้าวของชาวไทย สู้กับความยากไร้ของแผ่นดิน โครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ได้บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ปวงประชาราษฎร์ในแผ่นดินของพระองค์ให้อยู่เย็นเป็นสุขมาตลอด 60 ปีที่ทรงครองราชย์ และพระองค์ยังทรงงานหนักโดยมิหยุดหย่อน ตราบที่พระวรกายยังแข็งแรง พระองค์ทรงดูแลทุกข์สุขของพสกนิกรของพระองค์เสมอมา
ร.๙ ในใจชน ตอน เรื่องของปู่ทูแซะ
“เป็นครูใช่ไหม? ขอฝากเด็ก ๆ ด้วยนะ ช่วยสอนให้เขาเป็นคนดี” พระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ครูมิตร ครู กศน. อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ได้ยึดมั่นในพระราชดำรัสนี้ และเดินตามรอยเท้าพ่อเสมอ ครูมิตร มีโอกาสสอนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ชาวเขาชาวดอยได้อ่านออกเขียนได้ เพื่อดำรงชีวิตอย่างไม่ลำบาก วันหนึ่งครูมิตรได้พบลูกศิษย์ ชื่อ อากาโหล ซึ่งเป็นทายาทของปู่ทูแซะ ผู้เฒ่าชาวอาข่าที่สมัยหนุ่มได้ต่อสู้กับกองกำลังขุนส่า เพื่อปกป้องบ้านเกิดไม่ให้ถูกยึดเป็นพื้นที่ผลิตยาเสพติด ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงทราบเรื่องจึงมาชื่นชม และพระราชทานนามสกุลให้ครอบครัวนี้ว่า พนานุรักษ์ แปลว่า ฝากป่าให้ดูแล เรื่องราวนี้ย้ำเตือนให้ครูมิตรและคนไทยทุกหมู่เหล่า ทั้งชาวไร่ชาวนา ชาวเขาชาวดอย ได้ตระหนักว่าในหลวงทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ และฝากฝังให้ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตา ดูแลซึ่งกันและกันเสมอ
ร.๙ ในใจชน ตอน แสงสว่างกลางใจชน
แม้จะเกิดมาเป็นผู้บกพร่องทางสายตา ทว่าพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาที่มีต่อปวงชนชาวไทยของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งได้ยินได้ฟังผ่านเหตุการณ์ที่ประสบพบเจอด้วยตนเอง หรือเรื่องเล่าที่รุ่นพี่ ณ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ เล่าสืบต่อกันมา เปรียบเสมือนแสงสว่างกลางใจ ที่ส่องประกายความรัก ความเมตตา และความอ่อนโยนให้เด็ก ๆ และผู้พิการทางสายตาได้ยึดเป็นหลักใจ หลักชัย ในการดำเนินชีวิตก้าวตามรอยเท้าพ่อหลวงของปวงชน
ร.๙ ในใจชน ตอน เรื่องเล่าของในหลวงกับชายถอดเสื้อ
แนวทางคิดในทำงานของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” อาจเสมือนคำพูดที่สวยหรู แต่เมื่อคุณเสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้ทำหน้าที่สื่อมวลชน ได้ลงพื้นที่ทำข่าว และมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณลุงดิลก ศิริวิลลภ ล่ามประจำพระองค์ในหลวง รัชกาลที่ 9 จึงได้รับรู้เหตุการณ์ที่ในหลวงทรงลงพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซาก ทำมาหากินลำบาก ในหลวงทรงเข้าถึงชาวบ้านทุกชนชั้น แม้กระทั่งคุณลุงที่ไม่ได้สวมเสื้อ และวิ่งหนีเมื่อเห็นในหลวง พระองค์ก็มิทรงถือสา และพูดคุยถึงปัญหาต่างๆ อย่างเข้าใจ เพื่อนำมาพัฒนา เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพราชดำริ จ.นราธิวาส ในการบรรเทาทุกข์ให้ประชากรได้มีพื้นที่ทำกินไม่ลำบากอีกต่อไป