หมอลำหุ่น สื่อศิลปะของกลุ่มออมทอง มหาสารคาม
ปัจจุบันระบบการศึกษาของไทย เน้นเรื่อง “ศาสตร์” แต่ขาดศีลธรรมและจริยธรรม ทำให้คนเราขาดเครื่องมือในการพัฒนาตนเองให้เผชิญหน้ากับกระแสสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีความซับซ้อนของปัญหาทางสังคม กลุ่ม “ออมทอง” จึงริเริ่มถอดองค์ความรู้จากการดำเนินโครงการ “หมอลำหุ่น” เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์นอกห้องเรียนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและค่านิยมเสพติดวัตถุนิยมแก่เยาวชน ให้เยาวชนได้รู้จักเรียนรู้เท่าทันตนเองและคุณค่าของวิถีชุมชนผ่านงานสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชน ที่ผสมผสานเรื่อราวของพระพุทธศาสนาเข้ากับกระบวนการศิลปะบูรณาการหลายแขนง อีกทั้งยังปลูกฝังคุณธรรมและคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เยาวชนได้สืบสานอัตลักษณ์ของชาวอีสานให้ยั่งยืนต่อไป
วิถีไทยเบิ้ง สายใยวัฒนธรรมสายสัมพันธฺ์ชุมชน
วิถีไทยเบิ้ง “สายใยวัฒนธรรม สายสัมพันธ์ชุมชน” กระบวนการถอดบทเรียนการทำงานร่วมกันกว่า 15 ปี ระหว่างกลุ่มแกนนำและผู้ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาความยั่งยืนของชุมชนบนฐานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น : วิถีไทเบิ้งลุ่มแม่น้ำป่าสัก ตำบล โคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดยเนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้เป็นการทบทวนการทำงานและกลั่นประสบการณ์จากการทำงานจริงเพื่อพัฒนาชุมชน โดยมีภูมิปัญญา ประเพณี และวัฒนธรรมชุมชนเป็นสื่อกลาง เพื่อสื่อสารเรื่องราวและบทเรียนจากการทำงานพัฒนาบนฐานวัฒนธรรมของชุมชนไทยเบิ้งโคกสลุง เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจอยากจะขับเคลื่อนงานในลักษณะใกล้เคียงกัน และนำไปปรับประยุกต์เป็นแนวทางในการทำงานที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนตนเองต่อไป
บันไดดนตรีที่บ้านอุ่นรัก
เด็กสมาธิสั้น เด็กพิเศษ หรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่มอาการออทิสติก คือเด็กที่มีข้อจำกัดในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เพราะไม่สามารถพูด อ่าน เขียนเพื่อบอกความต้องการของตนเองได้ หนังสือ “บันไดดนตรีที่บ้านอุ่นรัก” โดยผู้เขียน ไหมลี ได้รวบรวมเรื่องราวและถ่ายทอดการสอนดนตรีสำหรับเด็กพิเศษ ที่เกิดจากความมุ่งมั่นของครูนิ่มผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเด็กออทิสติกและคณะครูผู้สอน “บ้านอุ่นรัก” ซึ่งมีความเชื่อว่า ”ดนตรีบำบัด” จะช่วยทำให้เด็กผ่อนคลาย ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเด็กออทิสติกให้มีทักษะในการสื่อสาร มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัวและคนรอบข้างอย่างมีความสุข สามารถสร้างเอกลักษณ์ของตนเองและมีคุณค่ามากพอที่จะยืนอยู่บนโลกใบนี้
เรื่องเล่าจากโต๊ะ
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด วิถีชีวิตของผู้คนสมัยใหม่เปลี่ยนไปตามตรรกะที่อุบัติขึ้นแม้แต่ในตำบลคลองประสงค์ จังหวัดกระบี่ วิถีชุมชนเดิมเริ่มเปลี่ยนไปเน้นบริโภคนิยม เกิดการแข่งขันและไล่ตามวัตถุนิยมมากขึ้น “เรื่องเล่าจากโต๊ะ” เป็นเรื่องราวที่ปราชญ์ ครูภูมิปัญญา หรือผู้เฒ่าในชุมชน ได้ถ่ายทอดเรื่องราววิถีการดำเนินชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับท้องทะเล บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียงที่ตกทอดเป็นมรดกทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมบ้านเรือนท้องถิ่น จากอดีตกาลที่เป็นเอกลักษณ์จวบจนปัจจุบัน ผ่านกิจกรรมในโครงการศิลปะสร้างสรรค์ โกงกางสร้างสุข ชุมชนสร้างภูมิปัญญา ดำเนินงานโดย กลุ่มละครมาหยา ศูนย์สื่อสารเด็กไทยมุสลิม เพื่อเป็นองค์ความรู้ให้กับหน่วยงาน องค์กร โรงเรียน และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ อีกทั้งสืบสานเอกลักษณ์ของดีในพื้นที่และวิถีชีวิตแห่งความพอเพียงให้ยั่งยืน
เรื่องเก่าเล่าใหม่ถึงหัวใจบางหลวง
เสน่ห์ของประวัติศาสตร์ คือ บทเรียนที่คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ เพื่อเข้าใจวิธีคิด การต่อสู้ ความอดทน ของ“คนสองวัย” ในบางหลวงที่ร่วมกันสืบสานและบันทึกตำนานรวมเรื่องเล่าย่านความหลัง ถ่ายทอดเป็นตำนาน “เสื่อผืน หมอนใบ” ของชาวจีนที่ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกับคนไทยและชาวลาว ที่บ้านบางหลวง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ตั้งแต่ยุคสมัยรัตนโกสินทร์ จนเกิดเป็นแหล่งอารยธรรมผสมผสานระหว่างชาติพันธุ์ ไทย จีน ลาว ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของ ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความสามัคคี ความเรียบง่ายและวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำ ซึ่งเป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัวจวบจนถึงปัจจุบัน
The Boxer
The Boxer ภาพยนตร์สั้นสร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงของ สีนิล สิงห์หนุ่มพัฒนา นักมวยไทยที่มีดีกรีระดับแชมป์ที่ชีวิตพลิกผันดำดิ่งด้วยผลจากยาเสพติด เมื่อต้องอยู่ในเรือนจำ เขาหวนกลับมาจริงจังกับการต่อยมวยอีกครั้ง เพื่อหวังขอให้มีโอกาสขึ้นสังเวียนนอกเรือนจำอีกครั้ง เพื่อขอโอกาสและประกาศให้โลกได้รู้ว่า เขายังมีคุณค่า พร้อมที่จะเป็นนักสู้ กลับมาเป็นคนดีของสังคมอีกครั้งหนึ่ง
วิน เดอะ ทอล์ค
ภาพยนตร์สั้นสะท้อนเรื่องราวของสื่อในยุคปัจจุบันที่หลอกลวงผู้ชม เต็มไปด้วยแง่มุมทางธุรกิจ การขายสินค้า มอมเมาคนให้หลงเชื่อด้วยความเชื่อและไสยศาสตร์ เรื่องราวของรายการ วิน เดอะ ทอล์ค ที่พิธีกรร่วมมือกับวิทยากร แสดงตนเป็นหมอดูทำนายอนาคต หลอกให้หลงเชื่อเพื่อขายสินค้าคือสร้อยลูกประคำ ท้ายภาพยนตร์เปิดเผยให้เห็นเบื้องหลังของการแสดง การประกอบสร้างสื่อที่ทำให้คนดูหลงเชื่ออย่างแนบเนียนเป็นกระบวนการ
ความรักศิลปะบทกวีมีใบไม้เป็นครู
“เพราะความงามคือความจริง” ร่วมเรียนรู้การอยู่ร่วมกันระหว่างชีวิตและธรรมชาติ ที่กลุ่มเด็กรักป่าอีสานใต้ ได้ เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2532 จนเกิดโครงการโรงเรียนเด็กรักป่าขึ้นในปี 2534 เป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติและผืนป่า ที่เชื่อมโยงระหว่างเด็ก ชุมชน และธรรมชาติเข้าหากันอย่างเกื้อกูล มีการสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อปลูกฝังให้ชุมชนรักษ์และเห็นคุณค่าของป่าและธรรมชาติ ด้วยงานศิลปะหลากหลายขนาด เช่น งานวาดภาพ งานเขียนบทกวี ดนตรี กิจกรรมดูนกเดินป่า ทำบาติกย้อมสีธรรมชาติ
สำนึกสุขภาวะ
ด้วยสภาพสังคมไทยทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสสังคมโลก จนอาจทำให้เรามองข้ามความงามในตัวตนและรากเหง้าของเราไป วรรณกรรมชุมชน สำนึกสุขภาวะ กระจกบานเล็กที่สะท้อนวิถีชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น สายใยแห่งบรรพบุรุษที่ได้บ่มเพาะมาอย่างยาวนาน โดยมุ่งหวังปลูกสร้างจิตสำนึกการพึ่งตนเอง ให้แก่คนในพื้นที่โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ให้มองเห็นลึกซึ้งถึงรากเหง้า เข้าถึงปัจจุบันของตัวตนทั้งทางสังคมและวัฒนธรรม ปลูกสำนึกรักในบ้านเกิด หวงแหนในทรัพยากรของชุมชน ผ่านทางกิจกรรมอันได้แก่ ดนตรี กวี ศิลปะ เพื่อสืบทอดเจตนาของบรรพบุรุษด้วยจิตวิญญาณความเป็นชาติไทยต่อไปให้ยั่งยืน
ศิลปะจะมีส่วนร่วมกันสร้างสรรค์สังคมได้อย่างไร
จากภาวะปัญหาสังคมไทยในปัจจุบันที่อยู่ในวิกฤตความเลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ขาดการบูรณการและจิตสำนึกในการสร้างสรรค์พัฒนาสังคม จึงได้เกิดการร่วมมือกันระหว่างสี่ภาครัฐและภาคประชาชนขึ้น ในการใช้พลังศิลปวัฒนธรรมทุกสาขา วรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ คีตศิลป์ และศิลปะการแสดง เพื่อเยียวยาสร้างสรรค์พฤติกรรมและอารมณ์ของผู้คนในสังคม ให้มีความละเอียดอ่อน มีภูมิคุ้มกันและเข้าใจสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่ ทว่า ศิลปะ เพียงอย่างเดียวคงเยียวยาสังคมไม่ได้นัก ต้องมีชีวิต มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมร่วมแรงร่วมใจกัน เพราะการสร้างสรรค์สังคมเป็นหน้าที่ของทุกคน โดยมีศิลปะเป็นเครื่องมือนำไปสู่สังคมที่วาดหวังได้
สื่อศิลปวัฒนธรรมสู่มหาลัยภูมิปัญญาแห่งอีสาน
“คู่มือการใช้สื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชน” โดย เครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน เป็นการถอดแบบบทเรียนกระบวนการการทำงานของ 9 เครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน ที่ได้ดำเนินการแบบแยกส่วนอยู่ในหลายพื้นที่ในภาคอีสาน ทั้งจังหวัด ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา เลย สุรินทร์ และศรีสะเกษ ซึ่งทั้ง 9 เครือข่ายนี้ ได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยการนำสื่อศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าสู่ชุมชน ทั้งละคร หมอลำ หนังประโมทัย การทอผ้า ดนตรี กันตรึม ผญา และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเป็นการฟื้นฟู เยียวยา กล่อมเกลา สร้างสรรค์และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในภาคอีสาน อีกทั้งสร้างสำนึกรักภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นองค์ความรู้สำคัญให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อนำมาปรับใช้พัฒนาบ้านเกิดของตนเองต่อไป