สื่อศิลป์ SE -เพ็ญจมาส ศิริกิจวัฒนา : กับ SE ย่านบ่านซ้าน ภูเก็ต
วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม ย่านบ่านซ้าน จ.ภูเก็ต แม้จะเป็นน้องใหม่ในการก้าวสู่การทำงานร่วมกับ สสส. และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนพื้นที่ต่าง ๆ แต่การเริ่มต้นจาก “ทุนวัฒนธรรม” ที่เป็นเอกลักษณ์ของ จ.ภูเก็ต นับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เกิดความยั่งยืนได้ไม่ยากนัก ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตและความเชื่อของคนภูเก็ตที่มีความหลากหลาย ทั้งการกินของคนภูเก็ตที่กิน วันละ 7 มื้อ เทศกาลถือศีลกินผัก , การเดินที่มีเสน่ห์ด้วย “รถโพถ้อง” สองแถวนำเที่ยว สัมผัสย่านการค้าเก่าที่สำคัญ ของ จ.ภูเก็ต หรือ “อังมอเหลา” คฤหาสน์เก่าของนายเหมือง จ.ภูเก็ต ทุนวัฒนธรรมเหล่านี้ จึงเป็นพลังให้วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม ย่านบ่านซ้าน จ.ภูเก็ต ถูกบอกต่อ และส่งพลังไปสู่วงกว้างได้ในอนาคตอันใกล้นี้ กดลิงค์เพื่อเข้าชมคลิป https://fb.watch/jPZudJKye-/
ประเพณีลอยกระทง - นักข่าวพลเมือง ThaiPBS
งานประเพณีลอยกระทงสืบสานวัฒนธรรม วัดพระธาตุสุพรรณหงส์ บ้านว่าน ตำบลน้ำคำ จังหวัดศรีสะเกษ กิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนทั้งสภาวัฒนธรรมตำบลน้ำคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ สภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ชมรมคนรักในหลวงจังหวัดศรีสะเกษ และนักศึกษาที่มาช่วยกันจัดกิจกรรม ภายในงานมีตลาดนัดโบราณและการประกวดนางนพมาศในกลุ่มผู้สูงอายุ นับเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วมสนุกในการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน
องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมประเพณีไทใหญ่
หนังสือองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมประเพณีไทใหญ่เล่มนี้ ประกอบไปด้วยเรื่องราว ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อของชาวไทใหญ่ที่รวบรวมจากการค้นคว้า สืบค้นข้อมูลทั้งจากเอกสารวิชาการและจากการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนไทใหญ่ในโครงการดนตรีหลากเผ่าพันธุ์สร้างสรรค์คนดี โรงเรียนบ้านเวียงหวาย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และของเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมอำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน ประกอบด้วยเรื่องราวต่างๆ ดังนี้ “ประเพณี 12 เดือน” “ประเพณีการเกิด การแต่งงาน การตาย” “ประเพณีกาดหลู่” “การแสดงจ้าดไต” “เฮินไต” และ “ภาษาไทใหญ่” โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้แต่ละพื้นที่นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานสืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาของตนเอง และใช้เป็นเครื่องมือสำหรับสื่อสารให้ความรู้กับคนในชุมชนและเยาวชน ร่วมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจศึกษาองค์ความรู้ภูมิปัญญาต่างๆ ของศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ
องค์ความรู้ด้านประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ
เครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ ได้รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมเดปอทู่ จากชนเผ่าปกาเกอะญอ อ.แม่แจ่ม เชียงใหม่, พิธีกรรมการมัดมือ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่, พิธีกรรมอ้อผญา และนิทานเรื่องแม่กาเผือก มาร้อยเรียงเป็นหนังสือองค์ความรู้ด้านประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติ ผ่านความเชื่อ วิถีชีวิต และความผูกพัน ว่าแท้จริงแล้ว แผ่นดินและแม่น้ำล้วนมีธรรมชาติเป็น “เจ้าของ” มนุษย์เป็นเพียงผู้มาขอใช้ และเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น
วิถีไทยเบิ้ง สายใยวัฒนธรรมสายสัมพันธฺ์ชุมชน
วิถีไทยเบิ้ง “สายใยวัฒนธรรม สายสัมพันธ์ชุมชน” กระบวนการถอดบทเรียนการทำงานร่วมกันกว่า 15 ปี ระหว่างกลุ่มแกนนำและผู้ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาความยั่งยืนของชุมชนบนฐานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น : วิถีไทเบิ้งลุ่มแม่น้ำป่าสัก ตำบล โคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดยเนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้เป็นการทบทวนการทำงานและกลั่นประสบการณ์จากการทำงานจริงเพื่อพัฒนาชุมชน โดยมีภูมิปัญญา ประเพณี และวัฒนธรรมชุมชนเป็นสื่อกลาง เพื่อสื่อสารเรื่องราวและบทเรียนจากการทำงานพัฒนาบนฐานวัฒนธรรมของชุมชนไทยเบิ้งโคกสลุง เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจอยากจะขับเคลื่อนงานในลักษณะใกล้เคียงกัน และนำไปปรับประยุกต์เป็นแนวทางในการทำงานที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนตนเองต่อไป
เรื่องเก่าเล่าใหม่ถึงหัวใจบางหลวง
เสน่ห์ของประวัติศาสตร์ คือ บทเรียนที่คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ เพื่อเข้าใจวิธีคิด การต่อสู้ ความอดทน ของ“คนสองวัย” ในบางหลวงที่ร่วมกันสืบสานและบันทึกตำนานรวมเรื่องเล่าย่านความหลัง ถ่ายทอดเป็นตำนาน “เสื่อผืน หมอนใบ” ของชาวจีนที่ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกับคนไทยและชาวลาว ที่บ้านบางหลวง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ตั้งแต่ยุคสมัยรัตนโกสินทร์ จนเกิดเป็นแหล่งอารยธรรมผสมผสานระหว่างชาติพันธุ์ ไทย จีน ลาว ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของ ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความสามัคคี ความเรียบง่ายและวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำ ซึ่งเป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัวจวบจนถึงปัจจุบัน