รวม 40 ประสบการณ์จริง 40 เส้นทางสู่การตื่นรู้ - พศิน อินทรวงค์
พศิน อินทรวงค์ นักคิด นักเขียนและวิทยากรเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเองที่ใช้หลักการสำรวจโลกภายใน กับมุมมอง ความสุขและนิยามของการตื่นรู้ โดยการสำรวจโลกภายในของตัวเอง ด้วยการหลอมรวมสรรพสิ่งทั้งธรรมชาติภายนอกและภายในเข้าด้วยกันและได้เปรียบผู้ที่ตื่นรู้เหมือนดอกไม้ที่ผลิบาน การผลิบานของดอกไม้ทำให้โลกสวยงามน่าอยู่ สงบเย็น เป็นความรื่นรมย์ของโลก เพราะผู้ตื่นรู้ คือ ผู้เบิกบานและมีจิตเมตตา การขัดเกลาความเลวร้ายของตัวเองทำให้ทั้งตัวเราและคนรอบข้างเบาสบาย มีความเข้าใจกับสิ่งรอบข้างมากขึ้นและสร้างปัญหาน้อยลง
รวม 40 ประสบการณ์จริง 40 เส้นทางสู่การตื่นรู้ - วีระกิจ อัชรีวงศ์ไพศาล
คุณวีระกิจ อัชรีวงศ์ไพศาล กับมุมมองการตื่นรู้ที่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิต จากที่เคยเป็นคนอารมณ์ร้อนได้กลายมาเป็นนักเขียนการ์ตูนหมื่นตาธรรมะ เพราะได้หยุดและยืนมองธรรมชาติที่เป็นอาจารย์ที่แสนยิ่งใหญ่ โดยธรรมชาตินั้นได้สอนให้รู้จักปล่อยวางและหันกลับมาสำรวจโลกภายในตัวเอง สอนให้เข้าใจถึงความจริงของชีวิต ซึ่งได้สร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งวิธีคิด มุมมองที่เปิดกว้างมากขึ้นและยอมรับทุกอย่างตามความเป็นจริง อีกทั้งยังรับมือกับความทุกข์ที่เข้ามาในชีวิตได้ดีขึ้น
รวม 40 ประสบการณ์จริง 40 เส้นทางสู่การตื่นรู้ - รศ.นพ. ธวัชชัย กฤษณะประกรกิจ
รศ.นพ. ธวัชชัย กฤษณะประกรกิจ จิตแพทย์และอาจารย์ถ่ายทอดพุทธศาสนาวัชรยานและอติโยคะ-ซกเซ็น กับความจริงของความจริง ด้วยการค้นหาความจริงของชีวิต ทบทวนโลกภายนอกและโลกภายในตัวเอง ที่ได้จากการศึกษาฝึกฝน การทำวิปัสสนา ราชาโยคะ สหัจมรรค และกุณฑลินีโยคะ เพื่อสร้างการตื่นรู้ที่จะช่วยทำให้เห็นความจริงที่ยิ่งใหญ่กว่าจิตสำนึกเดิมที่เคยยึดอยู่ รวมไปถึงรู้จักร่างกายตัวเรา ด้วยศาสตร์ของโยคะศูนย์พลังงานของมนุษย์ ตั้งแต่ระดับจิตใจ อารมณ์และความรู้สึกควบคู่ไปด้วยกัน โดยใช้การภาวนาเป็นตัวเชื่อมมิติของพลังชีวิตจากภายในและภายนอกตัวเรา
รวม 40 ประสบการณ์จริง 40 เส้นทางสู่การตื่นรู้ - นันท์ วิทยดำรง
บทความ “ความสมบูรณ์ของการปรับใจ” ของคุณ นันท์ วิทยดำรง นักเขียน กับมุมมองการตื่นรู้ด้วยการหมั่นสำรวจทบทวนจิตใจความรู้สึกภายในอย่างมีสติและรู้เท่าทัน ด้วยวิธีการการจดบันทึกความรู้สึก ที่ช่วยให้ย้อนกลับไปจำได้อีกครั้งว่าแท้จริงแล้วเราเป็นใคร กลับไปสู่รากหรือแก่นแท้ของการเกิดมาและรู้จักปล่อยวางในสิ่งที่รู้ลง เพื่อทำให้ชีวิตที่ดำเนินต่อไป เต็มไปด้วยความงาม ความเมตตา ความรัก ความสมบูรณ์ทางใจ ในทุกขณะจิต
New Heart New World 3 : พ่อผาย สร้อยสระกลาง
พ่อผาย สร้อยสระกลาง ผู้ใหญ่บ้าน กับมุมมองการ ”ตื่นรู้” ที่ได้จากห้องเรียนในธรรมชาติและจากการดำเนินชีวิตตามรอย..พ่อ ด้วยการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งความพอเพียงนี้ ได้ทำให้พ่อผายค้นพบปรัชญาในการดำเนินชีวิต เห็นคุณค่าของธรรมชาติรอบตัวและค้นพบศักยภาพในตัวตน โดยพ่อผายได้นำคุณค่าและศักยภาพเหล่านี้มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์และเกิดมูลค่าสูงสุด "ต้องมีสติสัมปชัญญะ สติคือมองอนาคตแล้วก็มองไปทางหลัง อดีตที่ผ่านมาทำอะไรบ้าง อนาตจะทำอะไรบ้าง" "พ่อบอกว่า ลูกท่องให้ได้นะ กินอิ่ม นอนอุ่น อยู่ดี หนี้หมด เท่านี้เอง วิชาเศรษฐี พ่อคือใคร พ่อคือในหลวงนี่แหละ พ่อของกระหม่อม แค่นี้เอง เดินตามรอยพ่อ" พ่อผาย สร้อยสระกลาง ผู้ใหญ่บ้าน
New Heart New World 3 : พระไพศาล วิสาโล
พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต กับความหมายของวิถีแห่ง “การตื่นรู้” หรือ “การรู้สึกตัวทั่วพร้อม” ปัจจัยที่นำไปสู่การทำความดี เป็นตัวที่ดึงเราออกมาจากความหลง ความยึดมั่นถือมั่นและความคิดของตัวเราเอง ให้กลับมาพิจารณาตัวตนด้วยสติอย่างรู้เท่าทัน เพื่อลดละปล่อยวางตัวตน ไม่ยึดติดและสร้างศักยภาพในตัวเราในการรับรู้ความเป็นไปของโลก ใช้ชีวิตได้อย่างมีสติรู้เท่าทันความคิดและมีเมตตา สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับทุกสรรพสิ่งได้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างเข้าใจ
New Heart New World 3 : นันท์ วิทยดำรง
คุณ นันท์ วิทยดำรง นักเขียน กับกระบวนการทางความคิด เรื่องราวส่วนประกอบที่ทำให้เรากลายมาเป็นเราจนถึงทุกวันนี้ การสืบค้นจิตใจของมนุษย์และการบันทึกความรู้สึกของตัวเอง เพื่อให้เรากลับมาอยู่กับตัวเอง สำรวจ สังเกตและทบทวนความคิดของเรา ที่เป็นตัวก่อให้เกิด ”อัตตา” ความอยาก การตัดสินผู้คน รวมไปถึงการฝึกปล่อยวาง ลดละตัวตนและรู้เท่าทันความคิดของเรา ซึ่งการรู้เท่าทันความคิดของเราจะเป็นตัวช่วยให้เรามีความสุขกับชีวิต มีจิตใจที่อ่อนโยนและเข้าใจสรรพสิ่งในธรรมชาติมากขึ้น "ผมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องกลับมาอยู่กับตัวเอง จะอยู่กับการเคลื่อนไหวของตัวเองก็ได้ จะอยู่กับใจของตัวเองก็ได้ มันทำให้เราเห็นกระบวนการการเกิดของมัน พอเราเห็นกระบวนการการเกิดของมัน ชำนาญๆขึ้น เราก็จะชำนาญการละวางมันง่ายขึ้น รู้ทันมันง่ายขึ้น ผมไม่ได้หมายความว่าทุกวันนี้มันไม่มีอารมณ์ ไม่ได้ไม่โกรธไม่อะไร แต่เรารู้สึกว่ามันไวขึ้น มันง่ายขึ้น มันมาน้อย มันมาแล้วเดี๋ยวมันก็ไปแล้ว" นันท์ วิทยดำรง นักเขียน
New Heart New World 3 : เฟิร์ส คาริญญ์ยวัฒ ดุรงค์จิรกานต์
คุณ เฟิร์ส คาริญญ์ยวัฒ ดุรงค์จิรกานต์ นักร้องนำวง Slot Machine กับมุมมองการตื่นรู้ เป้าหมายและจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต ทั้งเรื่องการทำงานและตัวตน จากคนที่เคร่งเครียดเข้าไม่ถึง ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองและตัวตนด้วยการเปิดใจลดละตัวตน ไม่แบ่งแยก มีความอ่อนโยนและเห็นใจคนรอบข้างมากขึ้น รวมถึงการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้และเข้าใจกับปัญหา เพราะเบื้องหลังของทุกปัญหาและความทุกข์นั้นมีความสุขที่ซ่อนอยู่ "ถ้าสูบน้ำออกจากโลกหมดเลย แผ่นดินมันติดกันหมดเลยนะ เราเองต่างหากที่มาแบ่งกันเอง นี่คือของฉัน นี่คือของเธอ" "มันเริ่มมาจากเราอยากเข้าใจข้างนอกก่อน พอเราอยากเข้าใจข้างนอกเยอะๆ มันก็ย้อนกลับมาว่า ถ้าเราเข้าใจตัวเองมากเท่าไหร่ ผมคิดว่าเราเข้าใจทั้งจักรวาลได้ คือมากกว่าโลกอีก โลกทั้งใบนี้จริงๆแล้วอยู่แค่ที่ตัวเรา" เฟิร์ส คาริญญ์ยวัฒ ดุรงค์จิรกานต์ นักร้อง / ศิลปิน
New Heart New World 3 : เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข
คุณเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาในชีวิต จุดเปลี่ยนของชีวิตที่ได้สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม รวมไปถึงการตื่นรู้ รู้เท่าทันตัวเอง การยอมรับที่จะกลับมาพิจารณาตัวเอง ลองเปิดใจปรับมุมมองและพิจารณาปัญหาด้วยความเข้าใจ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่เริ่มต้นได้จากตัวเอง "ผมเป็นมนุษย์ทั่วไป อยากมีเงิน ทุกวันนี้ก็มีหนี้สิน มีสิ่งที่จะต้องจ่าย แต่ผมก็รู้สึกว่า ถ้าจะต้องยอมทำบางเรื่องที่รู้สึกว่ามันฝืนใจ ถ้าต้องไปช่วยคนที่ผิด มันก็อาจทำให้เรารู้สึกย้อนแย้งในใจเราเอง เราทนไม่ไหวอ่ะ" "เคยทำงานแม้กระทั่งไม่มีเงินจะจ้างเพื่อนร่วมงาน มีผมทำคนเดียว เงินจะลงพื้นที่ยังไม่มีเลย แต่มันไม่ใช่ข้อจำกัดอ่ะ เราเคยลำบากกว่านี้มาแล้ว เคยผ่านอะไรที่โหดร้ายกว่านี้มาแล้ว ดังนั้นนี่มันจิ๊บจ๊อยมาก ท้องเราอิ่มอยู่ เรามีลมหายใจอยู่" เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายฯ มูลนิธิกระจกเงา
New Heart New World 3 : วิศิษฐ์ วังวิญญู
คุณวิศิษฐ์ วังวิญญู นักเขียนและกระบวนกรกับชีวิตในอุดมคติ ยุคสมัยของสังคมที่ให้ความสำคัญกับความคิดในการแก้ปัญหาโดยปราศจากความรักความอ่อนโยนและได้พูดถึงเรื่องราวทั้งสามช่วงของชีวิต ที่เป็นจุดที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตัวตนด้วยการตื่นรู้ “การตื่นรู้นี้” จะทำให้เราหันกลับมาพิจารณาตัวเรา พิจารณาความกระด้างของเรา ซึ่งเราสามารถเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีความอ่อนโยนมากขึ้นและทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นได้ เมื่อเรามีความสุขมากขึ้น สุขภาพก็จะดีขึ้นตามไปด้วย "ในวัยหนุ่ม ผมรักไม่เป็น ผมคิดว่ารัก มันรักด้วยสมอง เป็นผู้ชายที่ไม่มีความอ่อนโยน - แล้วผมก็ค่อยๆกลับมาเปลี่ยน ทำยังไงจะอ่อนโยน ทำไงจะมีความรักที่ผู้อื่นสัมผัสได้" "พอเราไม่รู้ตัว เราจะกลับไปสู่ความเคยชิน พอเราตื่นรู้ตัวมากขึ้นความกระด้าง ความอะไร เราก็เริ่มเห็น เราก็เลือก ไม่เลือกกระด้าง แต่เลือกความอ่อนโยน" วิศิษฐ์ วังวิญญู นักเขียน / กระบวนกร
New Heart New World 3 : โตมร ศุขปรีชา
คุณโตมร ศุขปรีชา นักเขียน กับการเปิดมุมมองทางความคิด ความทุกข์ ความสุขที่ปะปนกันอยู่ในทุกขณะและการเปลี่ยนมุมมองการมองโลกด้วยการอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยขยายพรมแดนทางความคิด ขยายจิตใจให้กว้างขึ้นและยังทำให้เราค้นพบโลกอีกใบ “ที่ดีกว่า” โลกที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างปราศจากการตัดสิน เพื่อให้เราหันกลับมาดูตัวเองและตั้งคำถามกับโลกในปัจจุบันของเราว่าที่จริงแล้วเป็นอย่างไร "ตอนนั้นมีความสุขมากๆกับทุกอย่าง แต่ทันใดนั้นมันก็พัง เราคิดว่ามีสติ แต่เราไม่มี เห็นทุกข์มาเป็นก้อนๆ แต่มันน่าสนใจที่มันไม่ได้มาตลอดเวลา มันมาเป็นก้อน แล้วก็จะมีบางช่วงที่มันคลายลง ตอนนั้นได้เห็นเลยว่าไม่มีอะไรที่มาแล้วอยู่กับเราไปถาวร" "ชีวิตเป็นทุกข์ ไม่ได้หมายความว่า เรานั่งอยู่ตรงนี้แล้วเราไม่ทุกข์ มันทุกข์อยู่ตลอดเวลา โดยที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว ต่อให้ตอนที่เรามีความสุข มันก็มีความทุกข์อยู่ด้วย" โตมร ศุขปรีชา นักเขียน
New Heart New World 3 : พระโพธินันทะ
พระโพธินันทะ กับหนทางแห่งความว่างเปล่า หรือ “สุญญตา” และการใช้ชีวิตอยู่บนฐานแห่งปัญญาญาณ ด้วยการมองเห็นตัวตนและละทิ้งตัวตนทางความคิด เพราะโลกแห่งความคิด คือ โลกแห่งมายา การทำให้ใจว่างเปล่าด้วย ”การตื่นรู้” ทำได้โดยการสังเกตความคิดและชำเลืองใจของเราอย่างมีสติ ซึ่งจะช่วยให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างรู้เท่าทันความคิดของตัวเราเอง ไม่ยึดติด ไม่แบ่งแยกหรือตัดสิน เพราะเมื่อเราใจว่าง ตัวตนหายไป เราจะรับรู้ได้ว่าทุกสรรพสิ่งเป็นเอกภาพเดียวกันกับเรา "ความคิดสร้างความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมา "ฉัน" "กู" แล้วก็ทำให้เกิดความเปรียบเทียบ ให้ค่าตัดสิน ลงความเห็นที่ขัดแย้ง สูงต่ำ ดำขาว ยาวสั้น เย็นร้อน ถูกผิด แล้วเราก็ยึดติดในความเห็นนี้ ยึดติดในสิ่งที่มากระทบ ใครว่าเราเป็นหมู เป็นหมา เราโกรธใช่ไหม ความยึดติดเหล่านี้แหละ คือปัญหาของชีวิตเรา" พระโพธินันทะ