สัมพันธภาพกับการคลี่คลายความขัดแย้ง
เมื่อพบกับความขัดแย้งเรามักนึกถึงอยู่แค่คำว่า แพ้หรือชนะ กรอบความคิดเหล่านี้ล้วนมาจากจิตใต้สำนึกและมีอิทธิพลต่อท่าทีที่เราสื่อสารกับผู้อื่น การจะเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่การเรียนรู้และเติบโตได้นั้น เราต้องมีความตระหนักรู้ทั้งกาย ใจ ความคิด ความสัมพันธ์ เข้าใจอัตลักษณ์ตัวตนของผู้อื่นและตระหนักรู้ถึงความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ในตัวตนของเรา สัมพันธภาพกับการคลี่คลายความขัดแย้งชุดนี้ จะพาเราเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่การเรียนรู้ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงแก่นแท้และช่วยให้เราตอบรับกับสถานการณ์ความขัดแย้งต่างๆ ด้วย “สติ” และ “ความเข้าใจ”
พลานุภาพแห่งการรู้เท่าทันประชาธิปไตยเชิงลึก
ผลงานวิจัยประชาธิปไตยเชิงลึกที่จะทำให้เราเข้าใจความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” ในมิติที่ลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณ พร้อมทั้งจะสร้างประสบการณ์แห่งการตระหนักรู้ในความจริงที่สอดคล้องกันระหว่างโลกภายในและภายนอก ประชาธิปไตยเชิงลึกนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ชุดความคิดทางการเมือง แต่ยังเป็นวิธีการทำงานกับผู้คน วิธีการพัฒนาตนเองในระดับปัจเจกบุคคล รวมถึงเทคนิคและกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพื่อการสร้างชุมชนและสังคมที่เข้มแข็ง
นิเวศวิทยาแนวลึก
บทความที่จะช่วยเปิดโลกทัศน์ของเราให้เข้าใจความหมายของระบบนิเวศวิทยาแนวลึกและเปลี่ยนวิถีความคิดเดิมๆ ของเราที่มีต่อธรรมชาติ เพราะธรรมชาติไม่ได้เกิดมาเพื่อรับใช้มนุษย์ แต่ทุกสรรพสิ่งมีคุณค่าในตัวเองและล้วนมีความเชื่อมโยงกัน มนุษย์เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบนิเวศไม่ได้มีความสำคัญที่สุดในข่ายใย อีกทั้งมนุษย์เองที่นำมาซึ่งวิกฤตสิ่งแวดล้อม แนววิถีคิดเดิมของเราที่มีต่อธรรมชาติไม่สามารถแก้ไขวิกฤตสิ่งแวดล้อมได้ ทางออกของวิกฤตนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงวิถีความคิดเดิมและทำความเข้าใจต่อระบบนิเวศวิทยา ว่าทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติล้วนเชื่อมโยงและต้องพึ่งพาอาศัยกัน
นิเวศภาวนา ค้นหาตนเองในธรรมชาติแห่งป่าเขา
ในโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายทุกคนต่างใช้ชีวิตกันอย่างรีบเร่งเหมือนเครื่องจักร ธรรมชาติและพิธีกรรมเก่าแก่ถูกหลงลืม ถูกลดคุณค่าและถูกมองเป็นเรื่องที่ไกลตัว มนุษย์สมัยใหม่ส่วนใหญ่ถูกหลอมรวมเข้าไปในความสับสนวุ่นวายของสังคมและกำลังเผชิญกับความขัดแย้งในตัวเอง สุดท้ายกลายเป็นสับสนและหาคุณค่าความหมายของตัวเองไม่พบ นิเวศภาวนา ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้คนได้ค้นพบความหมายของชีวิตและบทบาทของตนเองในโลกนี้ โดยผ่านกระบวนการเชื่อมโยงคนเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เพื่อละทิ้งตัวตนเดิม สู่การเปลี่ยนผ่านเข้าชีวิตใหม่อย่างตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในธรรมชาติและคุณค่าที่แท้จริงของตัวเราในโลกนี้
คู่มือวิถีกระบวนกร การจัดกระบวนการเรียนกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มพลังชีวิต
กระบวนกร คือ ผู้ที่มีทั้งศาตสร์และศิลป์ในการจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงลึกและมีพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงทัศนคติและพฤติกรรมของผู้เรียนไปจนถึงความสัมพันธ์ในระดับองค์กรและสังคม คู่มือวิถีกระบวนกรชุดนี้ มีเนื้อหาเข้มข้นเต็มไปด้วยความรู้ที่จะทำให้เข้าถึงความหมายของชีวิตได้อย่างแท้จริง อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยดึงศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวกระบวนกรออกมาใช้สร้างคุณค่าในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ได้อย่างมีความหมาย เพื่อต่อยอดการเปลี่ยนแปลงให้กระจายออกไปสู่วงกว้างในสังคม
คู่มือนิเวศภาวนา เตรียมการเดินทาง ค้นหาตัวเองในธรรมชาติแห่งป่าเขา
“ชีวิตคือการเดินทางอยู่ทุกขณะจิต” มนุษย์เราเริ่มออกเดินทางตั้งแต่วินาทีแรกที่เราเกิดมาและระหว่างการเดินทางนั้น เราได้เรียนรู้ ได้ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากสิ่งที่เราได้ประสบพบเจอในสังคมและตลอดเวลาเราต้องเผชิญกับสิ่งที่ทำให้เราสับสนหรือแม้กระทั่งรู้สึกหมดคุณค่าในตัวตน แล้วการเดินทางแบบไหนที่จะสร้างคุณค่าและการตระหนักรู้ให้กับเรา? คู่มือเตรียมการเดินทางค้นหาตัวเองในธรรมชาติแห่งป่าเขา หรือ นิเวศภาวนา ฉบับปี 2563 คือ คู่มือเตรียมความพร้อมในการเดินทางกลับสู่บ้านภายในที่จะนำเรากลับไปค้นหาตัวตนและคุณค่าที่แท้จริงของเราอย่างตระหนักรู้และเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เพื่อนำคุณค่าที่เราค้นพบในธรรมชาติกลับมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเราและสังคม
การสื่อสารด้วยความกรุณา
หลายครั้งที่การสื่อสารของเรานำไปสู่การเข้าใจผิดและเกิดความขัดแย้งระหว่างเราและผู้ที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วย ซ้ำร้ายบางความสัมพันธ์ต้องพังลงเพราะการสื่อสารที่ผิดพลาดไม่ตรงความต้องการและความรู้สึกของเราที่ต้องการจะสื่อ ทว่าการจะสื่อสารให้ตรงตามความรู้สึกของแต่ละฝ่ายนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน การสื่อสารด้วยความกรุณาและการฟังอย่างลึ้งซึ้งด้วยหัวใจ จึงมีความสำคัญและเป็นหัวใจหลักของการสื่อสารที่จะช่วยทลายกำแพงอคติทางความคิด เพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายเข้าใจกันและกันให้ลึกไปกว่าคำพูดและเข้าถึงความต้องการของทุกฝ่าย
การจัดระบบชุมชนในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ
ในเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่ซัดเข้าฝั่งไทยเมื่อปี 2547 ได้สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล และในความสูญเสียนั้นก็ยังมีปัญหาเรื่องการยึดครองที่ดินของนายทุนตามเข้ามาซ้ำเติมชาวบ้านอีกระลอกหนึ่ง ซึ่งสร้างผลกระทบแก่ชาวบ้านและชุมชนชาวพื้นเมืองทางภาคใต้อย่างรุนแรงไม่ต่างไปกว่าคลื่นยักษ์ แต่วิกฤตปัญหานี้ได้กลายเป็นโอกาสให้เกิดการริเริ่ม การจัดระบบชุมชน โดยการจัดระบบดังกล่าว เป็นการฟื้นฟูรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองทางภาคใต้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในการต่อสู้เพื่อสิทธิของตน รวมถึงสร้างจิตสำนึกแก่คนในสังคมให้มองชนพื้นเมืองอย่างเท่าเทียมและเข้าใจสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์
การจัดระบบชุมชน และขบวนการทางสังคม
ยิ่งสังคมมีความเจริญก้าวหน้ามากเท่าไร ช่องว่างและความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนในสังคมยิ่งมีให้เห็นมากขึ้น ผู้คนเคยชินกับการแข่งขันและให้คุณค่ากับวัตถุมากกว่าเรื่องของจิตใจและคุณธรรม ชุมชนเก่าแก่ในประเทศไทยและในหลายประเทศต้องผจญกับการถูกไล่ที่เพื่อการพัฒนาเมือง ทั้งนี้เพราะมีเหตุปัจจัยมาจากระบบเสรีนิยมที่ให้คุณค่ากับการแข่งขันและการค้าอย่างเสรี การจัดระบบชุมชนและขบวนการทางสังคม ไม่เพียงแค่เข้ามาช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่คนในชุมชนในการต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเท่านั้น แต่ยังให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกเรื่องความเท่าเทียมแก่กลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม ซึ่งถือเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและปรับสมดุลการครอบครองทรัพยากรในโลกได้จริง