คู่มือ Workshop Manual Book
“สื่อ” และ “ศิลปะ” ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสารในทุกยุคสมัย แม้ในปัจจุบันของยุคสื่อดิจิทัล รูปแบบการนำเสนอสื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากสื่อหลักวิทยุโทรทัศน์ มาสู่ Social Media ทว่าการคิดสร้างสรรค์และเทคนิคการผลิตสื่อก็ยังต้องเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการผลิตอย่างต่อเนื่อง คู่มือ Work Shop Manal Book เล่มนี้ จะนำไปสู่การเรียนรู้รูปแบบการผลิตสื่อในทุกรูปแบบ ทั้งข่าว ภาพยนตร์สั้น สารคดี Viral Clip และสื่อดิจิทัลต่าง ๆ ที่ทุกคนสามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสื่อและผู้รับสื่อได้ ด้วยหัวใจของนักสื่อสารสุขภาวะที่ดี
คู่มือมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือ ศพด. เป็นหน่วยงานสำคัญที่ดูแลเด็กปฐมวัย ช่วงอายุตั้งแต่ 0-6 ปี ซึ่งเป็นวัยมหัศจรรย์ของการเรียนรู้และพัฒนาการทั้งด้านสมองและร่างกาย คู่มือมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์เด็กเล็ก ได้ถ่ายทอดแนวทางการสร้างเด็กให้มีสุขภาวะที่ดีรอบด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ และสติปัญญา เพื่อปลูกฝังเด็กให้ “คิดได้ คิดเป็น” และเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม
GIVE MORE (กระเป๋าผ้าห่ม) เกมบันไดความดี โดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
เกมบันไดงูที่ถูกพัฒนามาให้กลุ่มเด็กเร่ร่อนได้เล่น ตามเส้นทางการเล่นจะมีข้อเตือนใจเด็กๆได้ฉุกคิด
บอร์ดเกม เกมสิทธิ - เกมชุมชน โดย คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
โครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมที่น่าอยู่ Concept : ปัญหาที่ดิน ที่มีมาเนิ่นนานในสังคมไทย ไม่ได้เกิดขึ้นจากนักการเมืองหรือนายทุนอย่างที่เราๆ เข้าใจกันเพียงเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบการจัดการ และกระจายทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ในที่สุดการบังคับใช้กฏหมายจึงอาจจะไม่ใช่ทางออกสุดท้ายของปัญหานี้ “เกมสิทธิ์/เกมชุมชน” จึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบของปัญหาที่ดินในวงกว้างผ่านการใช้ “เกมกระดาน” จะเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอด และเชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมรับรู้ต่อปัญหาดังกล่าวมากขึ้น อีกทั้งยกระดับความรู้ให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงแนวทางการป้องกันชุมชนและทรัพยากรของตน ผ่านการเรียนรู้สิทธิชุมชน ซึ่งเป็นสิทธิที่ประชาชนชาวไทยทุกคนพึงมี เพราะเราไม่รู้ว่า เมื่อใดความไม่เป็นธรรมจะเกิดขึ้นกับเราหรือชุมชนของเรา
คู่มือบริโภคศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
คู่มือบริโภคศึกษา ฉบับมัธยมศึกษาตอนต้น เล่มนี้ถูกออกแบบมาสำหรับผู้สอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ใช้งานง่ายแม้เป็นผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะมีคำอธิบายขั้นตอนการสอนอย่างชัดเจน มีใบงานพร้อมใช้งาน อีกทั้งมีข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับผู้สนใจได้ทำการสอน รวมทั้งมีแบบฝึกหัดเพื่อให้ผู้สอนได้ใช้ประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนในแต่ละกิจกรรม การจัดทำคู่มือชุดนี้ได้มีการพัฒนาและตรวจสอบการใช้ในบริบทของการเรียนการสอนจริงมา 3 ขั้นตอน เพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหาและการนำไปใช้งานจริง
รายงานถอดบทเรียนกระบวนการสื่อสารสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนสู่การเป็นพลเมืองประชาธิปไตย
รายงานถอดบทเรียนกระบวนการสื่อสารสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนสู่การเป็นพลเมืองประชาธิปไตย เป็นการศึกษาในโครงการอีสานตุ้มโฮม เพื่ออธิบายถึงกลไก กระบวนการสื่อสารสร้างสรรค์ที่ได้ดำเนินการเพื่อพัฒนาเด็กและ เยาวชนสู่การเป็นพลเมืองประชาธิปไตย มีองค์ประกอบสำคัญคือ ต้นแบบแนวคิด 3 ดี : สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี โดยใช้แนวคิดพลเมืองประชาธิปไตยและแนวคิดการสื่อสารสร้างสรรค์แบบมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน ครอบครัว คนในชุมชน รวมทั้งเครือข่ายท้องถิ่น ซึ่งมีเยาวชนเป็นแกนหลักสำคัญในการดำเนินการ เพื่อนำสู่การการเปลี่ยนแปลงภายในในชุมชนที่ดีขึ้น สามารถขยายผลไปยังชุมชนใกล้เคียงต่อไป
การศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาความรู้เท่าทันสื่อและดิจิทัล สำหรับเด็กและเยาวชนในต่างประเทศ และแนวทางสำหรับประเทศไทย
งานวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาความรู้เท่าทันสื่อและดิจิทัลสำหรับเด็กและเยาวชนในต่างประเทศ เพื่อใช้เสนอเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาความรู้เท่าทันสื่อให้กับเยาวชนไทย โดยมี 6 ประเทศที่เป็นแนวทางในการศึกษา ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา สหภาพยุโรป ประเทศอินเดีย ประเทศออสเตรเลียและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมี 5 ประเด็นที่ค้นพบและสามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาความรู้เท่าทันสื่อให้กับเยาวชนในประเทศไทยได้
องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม
หนังสือองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมเล่มนี้เป็นชุดที่ 2 จากทั้งหมด 4 ชุดองค์ความรู้ เกิดจากการรวบรวมองค์ความรู้จากโครงการต่างๆ ในเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ โดยในเล่มนี้ประกอบไปด้วย 6 องค์ความรู้คือ องค์ความรู้เรื่องการฟ้อนพื้นเมือง องค์ความรู้เรื่องกลองชัยยะมงคล องค์ความรู้เรื่องกลองสะบัดชัย องค์ความรู้เรื่องแคนม้ง องค์ความรู้เรื่องเตหน่า และองค์ความรู้เรื่องการฟ้อนไตประยุกต์ เพื่อให้แต่ละพื้นที่นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานสืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาของตนเองและเป็นเครื่องมือสำหรับสื่อสารกับคนในชุมชนและสังคมต่อไป
องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมประเพณีไทใหญ่
หนังสือองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมประเพณีไทใหญ่เล่มนี้ ประกอบไปด้วยเรื่องราว ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อของชาวไทใหญ่ที่รวบรวมจากการค้นคว้า สืบค้นข้อมูลทั้งจากเอกสารวิชาการและจากการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนไทใหญ่ในโครงการดนตรีหลากเผ่าพันธุ์สร้างสรรค์คนดี โรงเรียนบ้านเวียงหวาย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และของเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมอำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน ประกอบด้วยเรื่องราวต่างๆ ดังนี้ “ประเพณี 12 เดือน” “ประเพณีการเกิด การแต่งงาน การตาย” “ประเพณีกาดหลู่” “การแสดงจ้าดไต” “เฮินไต” และ “ภาษาไทใหญ่” โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้แต่ละพื้นที่นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานสืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาของตนเอง และใช้เป็นเครื่องมือสำหรับสื่อสารให้ความรู้กับคนในชุมชนและเยาวชน ร่วมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจศึกษาองค์ความรู้ภูมิปัญญาต่างๆ ของศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ
องค์ความรู้ด้านประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ
เครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ ได้รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมเดปอทู่ จากชนเผ่าปกาเกอะญอ อ.แม่แจ่ม เชียงใหม่, พิธีกรรมการมัดมือ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่, พิธีกรรมอ้อผญา และนิทานเรื่องแม่กาเผือก มาร้อยเรียงเป็นหนังสือองค์ความรู้ด้านประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติ ผ่านความเชื่อ วิถีชีวิต และความผูกพัน ว่าแท้จริงแล้ว แผ่นดินและแม่น้ำล้วนมีธรรมชาติเป็น “เจ้าของ” มนุษย์เป็นเพียงผู้มาขอใช้ และเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น
วิถีไทยเบิ้ง สายใยวัฒนธรรมสายสัมพันธฺ์ชุมชน
วิถีไทยเบิ้ง “สายใยวัฒนธรรม สายสัมพันธ์ชุมชน” กระบวนการถอดบทเรียนการทำงานร่วมกันกว่า 15 ปี ระหว่างกลุ่มแกนนำและผู้ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาความยั่งยืนของชุมชนบนฐานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น : วิถีไทเบิ้งลุ่มแม่น้ำป่าสัก ตำบล โคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดยเนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้เป็นการทบทวนการทำงานและกลั่นประสบการณ์จากการทำงานจริงเพื่อพัฒนาชุมชน โดยมีภูมิปัญญา ประเพณี และวัฒนธรรมชุมชนเป็นสื่อกลาง เพื่อสื่อสารเรื่องราวและบทเรียนจากการทำงานพัฒนาบนฐานวัฒนธรรมของชุมชนไทยเบิ้งโคกสลุง เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจอยากจะขับเคลื่อนงานในลักษณะใกล้เคียงกัน และนำไปปรับประยุกต์เป็นแนวทางในการทำงานที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนตนเองต่อไป