สุขภาพคนไทย 2565
รายงานสุขภาพคนไทยปี 2565 ในวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมสุขภาพกาย สุขภาพจิต การศึกษา ชีวิตการทำงาน เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำในสังคมชุมชนและครอบครัวในแง่มุมต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยในระยะสั้นและระยะยาว นอกเหนือจากรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 แล้วก็ยังมีอีก 10 สถานการณ์เด่นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตสุขภาพกายของคนไทยที่เป็นทั้งเรื่องใหม่และที่ยังรอการแก้ไข เช่น การปลดล็อกกัญชา กัญชงและพืชกระท่อม การโฆษณาอาหารเสริมเกินจริง โรงงานหมิงตี้ระเบิดบทเรียนภัยพิบัติจากโรงงานสารเคมี ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและการปรับตัว อนาคตเกษตรไทยกับเกษตรอัจฉริยะ ไทยกับ RECP และ CPTPP ข้อดีและสิ่งที่ต้องระวังและสุดท้ายเรื่องการเมืองบนท้องถนนกับทางออก ซึ่งรายงานเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นต่อไป
รายงานการวิจัยการทบทวนและการสร้างกรอบมโนทัศน์ของสุขภาวะทางปัญญาในคนวัยทำงาน
ปัจจุบันโลกของเรากำลังเผชิญวิกฤตสถานการณ์โลกปั่นป่วนที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งสังคมไทยของเราก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน จากสถานการณ์ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ สงคราม โรคระบาด ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ ปัญหาเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพกายและจิตใจ งานวิจัยการทบทวนและการสร้างกรอบมโนทัศน์ของสุขภาวะทางปัญญาในคนวัยทำงานชุดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับสุขภาวะทางปัญญา ด้วยการใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกและวิเคราะห์เนื้อหาที่สามารถแบ่งกรอบมโนทัศน์ที่เกี่ยวกับสุขภาวะทางปัญญาของคนวัยทำงานในสังคมไทยได้ 3 ประเด็นหลัก คือ การหยั่งรู้ความเป็นจริงทั้งภายในตนเองและโลกภายนอก การสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้อื่นและธรรมชาติ อีกทั้งงานวิจัยชุดนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นชุดกิจกรรมเชิงประสบการณ์ เพื่อพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาและช่วยเหลือเยียวยาคนวัยทำงานในสังคมให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้นได้
รายงานการวิจัยอิทธิพลของสุขภาวะทางปัญญา และจิตวิญญาณในสถานที่ทำงานที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในการทำงานและความผาสุกทางจิต
สุขภาวะทางปัญญาและจิตวิญญาณในสถานที่ทำงานล้วนมีอิทธิพลที่สำคัญต่อการทำงาน ตั้งแต่ในระดับปัจเจกบุคคล คนทำงาน ผู้บริหาร ไปจนถึงระดับองค์การและยังส่งผลลัพธ์ไปถึงสังคมไทยโดยรวม การจะทำงานให้บรรลุเป้าหมายให้สัมฤทธิ์ผลสูงสุดและเกิดความผาสุกร่วมกันในที่สถานที่ทำงาน การมีสุขภาวะทางปัญญาและจิตวิญญาณหรือการตระหนักรู้เท่าทันในตนเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างการมีสุขภาวะทางปัญญาและจิตวิญญาณในสถานที่ทำงาน พร้อมทั้งได้นำผลของการศึกษามาวิเคราะห์ให้เกิดเป็นแนวทางการสร้างการตระหนักรู้ในตัวบุคคลให้เกิดทัศนคติที่ดี มีจิตใจที่สมบูรณ์ เพื่อการดำเนินชีวิตให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในสังคมและช่วยกันเป็นแรงขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมที่มีคุณภาพ
หลักสูตรและคู่มือการฝึกอบรมการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาและจิตวิญญาณในสถานที่ทำงาน
สุขภาวะทางปัญญาหรือการมีจิตวิญญาณในสถานที่ทำงาน คือ ตัวช่วยสำคัญที่มีอิทธิพลในการพัฒนาปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานภายในองค์การหรือการพัฒนาตัวบุคลากรในสถานที่ทำงาน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมการทำงานก็คือ ความฉลาดทางอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ ความสัมพันธ์ทางบวก การเห็นคุณค่าในตนเองและภาวะผู้นำ โดยปัจจัยเหล่านี้จะส่งเสริมหรือส่งผลกระทบต่อการทำงานในองค์รวม องค์การที่สนับสนุนสุขภาวะทางปัญญาและจิตวิญญาณในสถานที่ทำงานจะเป็นองค์การที่ตระหนักรู้ว่าผู้คนไม่ใช่เครื่องจักร แต่เป็นมนุษย์ที่แสวงหาความหมายและเป้าหมายในการทำงาน รวมถึงความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในองค์การ หลักสูตรและคู่มือการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาและจิตวิญญาณในสถานที่ทำงาน จัดทำขึ้นสำหรับผู้ที่สนใจหรือไม่เคยมีความคุ้นเคยในเรื่องนี้มาก่อน เพื่อนำไปปรับใช้พัฒนาให้เกิดแนวคิดเชิงบวกในการทำงานและการเปลี่ยนแปลงการทำงานภายในองค์การให้มีประสิทธิผล
รายงานการศึกษาการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาและจิตวิญญาณในสถานที่ทำงานของบุคลากรในโรงพยาบาลเอกชน
คู่มืออบรมการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาหรือจิตวิญญาณในสถานที่ทำงานเป็นคู่มือที่ได้ผ่านการศึกษาวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูล จนกลายมาเป็นหลักสูตรที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นคู่มืออบรมการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาในสถานที่ทำงานต่างๆ ได้ เพราะการมีสุขภาวะทางปัญญาหรือจิตวิญญาณในสถานที่ทำงาน คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดต่อองค์การแห่งการเรียนรู้ เพื่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก สร้างความเชื่อมโยงและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นภายในองค์การ หลายคนที่ได้เข้ารับการอบรมเรื่องสุขภาวะทางปัญญาและการมีจิตวิญญาณในสถานที่ทำงานพบว่ามีความพึงพอใจในการทำงานและความผาสุกทางจิตเพิ่มขึ้น มีการตระหนักรู้ถึงตนเอง มองโลกในแง่บวกและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ซึ่งยังรวมไปถึงมีการเชื่อมโยงกับธรรมชาติมากขึ้น
หลักสูตรวัยเพชร รู้ทันสื่อ
วัยเพชร คือ วัยที่เปรียบได้ดั่ง ”เพชร”ที่ผ่านการเจียระไนด้วยประสบการณ์ แต่ด้วยความถดถอยทางร่างกายจึงทำให้วัยเพชร หรือผู้สูงอายุมีความรอบในการพิจารณาข้อมูลข่าวสารในโลกปัจจุบันน้อยลง "หลักสูตรวัยเพชรรู้เท่าทันสื่อ" เป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติในโครงการสูงวัยไม่เสพสื่ออย่างสุ่มเสี่ยงที่มีเนื้อหาสาระเรื่องการรู้เท่าทันสื่อและวิธีการถ่ายทอดเนื้อหาผ่านกิจกรรม เนื้อหาและวิธีการสอนในแต่ละบทมีลักษณะสั้นกระชับเข้าใจง่าย เพื่อให้ง่ายต่อการเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อและภูมิคุ้มกันในการบริโภคสื่อให้กับผู้สูงอายุให้ปลอดภัยจากการเสพข้อมูลข่าวสารในแต่ละวัน
หัวใจอาสา คู่มือสร้างสุขในงานอาสา
การให้ที่แท้จริงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การให้วัตถุสิ่งของเสมอไป เวลา แรงกาย ทักษะความรู้ ความสามารถความรัก ความเมตตา หรือแม้แต่ รอยยิ้ม ก็นับว่าเป็นการให้ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมและตัวเราได้ เพียงแค่เรามีจิตอาสาที่ปรารถนาดีไม่นิ่งดูดายต่อสังคมหรือความทุกข์ยากของคนอื่นและพร้อมที่จะสละแรงกายแรงใจใช้สิ่งที่ตัวเองมีเข้าไปแบ่งปันให้กับสังคม นอกจากเราจะได้ช่วยเหลือและสร้างความสุขให้กับสังคมแล้วสิ่งที่เราจะได้รับ คือ การเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆ กับการรู้จักกับความสุขที่เรียบง่าย หัวใจอาสาคู่มือสร้างสุขในงานอาสา หนังสือเล่มนี้จะนำเราไปเปิดประสบการณ์ในมุมมองใหม่ๆ ที่มีคุณค่าที่เราจะได้รับในงานอาสาช่วยเหลือสังคม
ปัญญาความสุข ในโลกอันผันผวน
ท่ามกลางโลกอันผันผวน มีขึ้นมีลง มีเรื่องวุ่นวายที่เข้ามากระทบจิตใจของเราตลอดเวลา ทุกคนต่างดิ้นรนไขว่คว้าหาความสุขมาเติมเต็มช่องว่างภายใน ซึ่งความสุขที่เราหามาได้นั้นก็ล้วนแต่เป็นความสุขที่เบี่ยงเบนความทุกข์ได้เพียงแค่ชั่วครู่เท่านั้น ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะมีความรู้สึก “เป็นสุข” ได้เพียงแค่ครู่เดียว ทั้งๆ ที่เรากลับใช้เวลาวิ่งตามความสุขเหล่านี้กันแทบจะทั้งชีวิต การสร้างสุขภาวะทางปัญญาเพื่อให้เกิดการตื่นรู้และรู้เท่าทันตนเองและความไม่แน่นอนของโลก จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะช่วยเรารับมือกับโลกยุคนี้ หนังสือเรื่อง “ปัญญาความสุข ในโลกอันผันผวน” บทเรียนแห่งความสำเร็จจากภารกิจสร้างสังคมสุขภาวะด้วยการขับเคลื่อนงานสุขภาวะทางปัญญา หนังสือเล่มนี้จะพาเราไปค้นพบความหมายของสุขภาวะทางปัญญาและนอกจากจะทำให้เราเข้าใจว่าทำไมเราถึงต้องการสุขภาวะทางปัญญาแล้ว ยังทำให้เรารู้อีกว่าที่จริงแล้วความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ใกล้กว่าที่เราคิด
อรุโณทัยแห่งการตื่นรู้ สู่การขยายมวลความสุข
รู้หรือไม่ว่าในวันวันหนึ่งเราใช้สมองส่วนไหนในการดำรงชีวิตมากที่สุด สมองส่วนหน้าส่วนที่ใช้สติปัญญาไตร่ตรอง ส่วนกลางส่วนของความรู้สึก หรือว่าส่วนหลังที่เป็นส่วนที่ดึกดำบรรพ์ที่สุดเพียงเพื่อเอาชีวิตรอดไปวันๆ อรุโณทัยแห่งการตื่นรู้สู่การเคลื่อนขยายมวลความสุข โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นหนังสือที่พูดถึงการสร้างสุขภาวะทางปัญญา เพื่อการตื่นรู้ในระดับจุลภาคไปสู่ระดับมหภาค ด้วยการใช้สมองส่วนหน้าที่เป็นส่วนของมนุษย์ขั้นสูงในการเข้าถึงความเป็นจริง เพื่อให้เรารู้เท่าทันตนเองและเข้าใจความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโลก รวมถึงการสร้างสังคมแห่งการตื่นรู้หรือสังคมยุคสมองส่วนหน้า ซึ่งเราทุกคนล้วนเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งหรือหนึ่งในมวลสารแห่งความสุขที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมไปสู่สังคมแห่งอารยะ
ฉลาดทำบุญ โครงการปันกันอิ่ม
ในแต่ละวันเราทำบุญแบบไหนกันบ้าง คลิปวิดีโอ “ฉลาดทำบุญ” โครงการปันกันอิ่ม โครงการดีๆ ที่ทำให้เราได้เห็นอีกมุมหนึ่งของสังคมที่มีน้ำใจและเต็มใจที่จะแบ่งปันความสุขให้ผู้อื่นเพื่อบรรเทาทุกข์ โดยมีทั้งร้านอาหารและร้านน้ำที่มองเห็นว่าการแบ่งปัน คือ การทำบุญรูปแบบหนึ่งและสนใจเข้าร่วมโครงการ เพราะได้ทั้งทำบุญและได้ความสุขใจเมื่อเห็นผู้อื่นอิ่มท้อง พร้อมทั้งได้เชิญชวนร้านค้าต่างๆ ให้เข้าร่วมโครงการ เพื่อสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน เพราะการให้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้สังคมมีความสุข
มุมมองแนวคิดเรื่อง บุญ กับ จิตอาสา โดย พระไพศาล วิสาโล
เมื่อเรานึกถึงการทำบุญเรามักจะนึกถึงแต่การให้ทานโดยเฉพาะการเข้าวัดทำบุญกับพระสงฆ์ ทว่าการทำบุญนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการสละทรัพย์เท่านั้น แต่การสละเวลาและแรงกายในการช่วยเหลือผู้อื่นหรือสัตว์ที่เจ็บป่วยก็นับเป็นการทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนาเช่นกัน คลิปเสียง มุมมองแนวคิดเรื่อง บุญ กับ จิตอาสา โดย พระอาจารย์ ไพศาล วิสาโล ซึ่งพระอาจารย์ไพศาลได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการทำบุญไว้ว่า เพียงแค่เรามีจิตที่อาสาเราก็สามารถทำบุญหรือช่วยเหลือผู้อื่นได้ การทำบุญที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนานั้นคือการทำบุญที่ให้ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านและนำมาซึ่งความปิติที่ได้บรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้อื่น รวมทั้งเกิดปัญญาแก่ผู้ให้เพราะผู้ให้จะรู้สึกว่ามีอัตตาตัวตนที่น้อยลง
การดูแลผู้สูงวัยช่วงโควิด
อินโฟกราฟิก เคล็ด(ไม่)ลับสำหรับการดูแลสุขภาพผู้สูงวัยช่วงโควิด19 กับหลายแนวทางง่ายๆ อยู่บ้านอย่างไรให้มีคุณภาพ เช่น ชวนกันออกกำลังกายเบาๆ ภายในบริเวณบ้าน เดินแกว่งแขน ปลูกต้นไม้ เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมองและร่างกาย เลือกทานอาหารที่ปรุงสุก เน้นอาหารจำพวกโปรตีนและผักผลไม้หลากสีเพื่อสร้างภูมิคุ้นกัน ที่สำคัญคือ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่กังวลไปกับข่าวสารมากจนเกินไปและการ์ดอย่าตก ควรสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างจากคนที่มาเยี่ยมทุกครั้งและควรหมั่นล้างมือ