คุณภาพชีวิตเด็ก 2556 (Eng Version)
หนังสือคุณภาพชีวิตเด็ก 2556 ภาคภาษาอังกฤษ จัดทำโดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล แปลจากหนังสือคุณภาพชีวิตเด็ก 2556 ฉบับภาษาไทย เพื่อให้เกิดการเผยแพร่ในวงการวิชาการในระดับสากล ทั้งนี้เนื้อหาในหนังสือนำเสนอข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กในมิติต่าง ๆ ทั้งกาย ใจ อารมณ์ สังคมและปัญญา เพื่อการพัฒนาศักยภาพเด็กในทุกด้านอย่างสมบูรณ์
คุณภาพชีวิตเด็ก 2556 : ฟื้นความฝันการศึกษาให้เด็กไทย
หนังสือเล่มนี้ พาผู้อ่านไปมองภาพและสังเคราะห์ปัญหาระบบการศึกษาไทยในภาพรวมหลากหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ การศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ หรือการศึกษาทางเลือก เพื่อมุ่งเป้าหมายในการกระตุ้นเตือนสังคมให้มองการศึกษาในแง่มุมใหม่ พาการศึกษาไทยไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนอย่างเต็มศักยภาพ และเกิดการเรียนรู้สร้างสรรค์ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน
คุณภาพชีวิตเด็ก 2556
หนังสือคุณภาพชีวิตเด็ก 2556 เป็นฉบับปฐมฤกษ์ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จัดทำขึ้น เพื่อเป็นสื่อกลางนำเสนอข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก โดยได้ทำการรวมรวมข้อมูล วิเคราะห์ และจัดทำองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนให้ครอบครัวและผู้ทำงานด้านเด็กได้มองเห็นประเด็น เกิดองค์ความรู้ เพื่อนำสู่การพัฒนาศักยภาพเด็กไทยอย่างสมบูรณ์
3 ฐาน สานพลังต้นทุนชีวิต : บทเรียนการเสริมสร้างพลังบวก
หนังสือ “3 ฐาน สานพลังต้นทุนชีวิต : บทเรียนการเสริมสร้างพลังบวก” เป็นการถอดบทเรียนการทํางาน “ต้นทุนชีวิต” 3 บริบทสําคัญในชีวิตได้แก่ ต้นทุนชีวิตบริบทครอบครัว บริบทชุมชน และบริบทโรงเรียน ซึ่งเปรียบเสมือนต้นไม้ที่เติบโตจากการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์หยั่งรากลงดิน และเติบโตแตกกิ่งก้านเป็นลําต้นใหญ่ ซึ่งแม้แต่ละบริบทจะมีจุดเน้นต่างกัน แต่เป็นการเชื่อมร้อยต่อกันเป็นห่วงโซ่ ทั้งนี้โดยพื้นฐานของคนเราเกิดมาล้วนมีต้นทุนชีวิต (Life Assets) กันทุกคน ซึ่งต้นทุนเหล่านั้นจะแปรเปลี่ยนสภาพตามสภาวะแวดล้อม และการเรียนรู้ทางสังคม หากเราเข้าใจการสานพลัง 3 ฐานนี้แล้ว ก็จะพัฒนาสู่ต้นทุนชีวิตที่ดีงามให้กับเด็กและเยาวชนต่อไป
คุณภาพชีวิตเด็กปฐมวัย
หนังสือคุณภาพชีวิตเด็กปฐมวัย (ปีที่ 2) นำเสนอประเด็นสำคัญที่น่าห่วงใยและทางออกในการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศไทย ภายใต้ข้อมูลฐานงานวิจัยและวิชาการของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เพื่อการพัฒนาและส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการที่สมวัย นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นบทบาทของครอบครัวในการเลี้ยงดูเด็ก โภชนาการที่เหมาะสมกับเด็ก ความปลอดภัยและป้องกันการการบาดเจ็บและสารพิษในเด็ก โรคติดเชื้อในศูนย์เด็กเล็ก ปัญหาการบริโภคสื่อของเด็ก รวมทั้งสิทธิและความเสมอภาคของเด็กในการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม
เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
หนังสือสรุปผลงานวิจัย 3 เรื่อง เพื่อการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองเด็กและเยาวชนในสื่อยุคดิจิทัล ในรูปแบบที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย ประกอบไปด้วย 1. งานวิจัยประเด็นข้อเสนอนโยบายของหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมต่อประเด็นการแข่งขันอีสปอร์ตในประเทศไทย 2. งานวิจัยประเด็นการขับเคลื่อนการรู้เท่าทันสื่อและดิจิทัลสำหรับเด็กเยาวชนในต่างประเทศและแนวทางสำหรับประเทศไทย และ 3. งานวิจัยประเด็นการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กผ่านสื่อเฟซบุ๊กของสำนักข่าวออนไลน์ เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนตระหนักและรู้เท่าทันสื่อในโลกยุคดิจิทัลอย่างทันท่วงที
เรื่องเล่าจากครูมหัศจรรย์ พลังสร้างสรรค์เด็กปฐมวัย
“ครู” คือมนุษย์มหัศจรรย์ที่น่าทึ่ง ความรักและเอาใจใส่ของครูต่อเด็ก ส่งพลังความเปลี่ยนแปลงมาสู่เด็ก ครอบครัว และชุมชน “เรื่องเล่าจากครูมหัศจรรย์ : พลังสร้างสรรค์เด็กปฐมวัย” เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ของครูปฐมวัย ในโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยมีสุขภาวะดีครบทุกด้านและเติบโตเป็นพลเมืองเด็กที่มีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ ผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ภายใต้ แนวคิด ๓ ดี สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี โดยมีการถ่ายทอดความรู้ พัฒนาศักยภาพและสร้างแรงบันดาลใจให้กับครูปฐมวัย ให้มีความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้และสร้างเสริมประสบการณ์แก่เด็กๆ พร้อมไปกับสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน เพื่อร่วมพัฒนาให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ร่วมกันของเด็กๆ และชุมชน
อ่อลางมอแกน
“อ่อลางมอแกน” โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุข ศสส. เป็นการถอดบทเรียนองค์ความรู้และถ่ายทอดเรื่องราวกระบวนการการใช้สื่อศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นมาบูรณาการเพื่อพัฒนาเยาวชนและชุมชนชาวมอแกนในพื้นที่จังหวัดพังงาและจังหวัดระนอง ในโครงการเด็กอันดามันสร้างสุข (อ่อลางมอแกน) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของปราชญ์พื้นบ้านชาวมอแกน ศิลปิน แกนนำชุมชนมอแกน คณะทำงานเยาวชนมอแกน องค์กรภาครัฐและภาคเอกชน โดยได้นำการละคร สื่อศิลปะพื้นบ้านมาเป็นตัวเชื่อมร้อยมิติสุขภาวะทางสังคมในชุมชน เพื่อให้เกิดพัฒนาการและการสืบสานทางวัฒนธรรมในกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน อีกทั้งสร้างสำนึกรักภูมิปัญญาท้องถิ่น อัตลักษณ์และเสริมสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์ให้แก่เหล่าเยาวชนมอแกน
องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม
หนังสือองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมเล่มนี้เป็นชุดที่ 2 จากทั้งหมด 4 ชุดองค์ความรู้ เกิดจากการรวบรวมองค์ความรู้จากโครงการต่างๆ ในเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ โดยในเล่มนี้ประกอบไปด้วย 6 องค์ความรู้คือ องค์ความรู้เรื่องการฟ้อนพื้นเมือง องค์ความรู้เรื่องกลองชัยยะมงคล องค์ความรู้เรื่องกลองสะบัดชัย องค์ความรู้เรื่องแคนม้ง องค์ความรู้เรื่องเตหน่า และองค์ความรู้เรื่องการฟ้อนไตประยุกต์ เพื่อให้แต่ละพื้นที่นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานสืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาของตนเองและเป็นเครื่องมือสำหรับสื่อสารกับคนในชุมชนและสังคมต่อไป
องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมประเพณีไทใหญ่
หนังสือองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมประเพณีไทใหญ่เล่มนี้ ประกอบไปด้วยเรื่องราว ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อของชาวไทใหญ่ที่รวบรวมจากการค้นคว้า สืบค้นข้อมูลทั้งจากเอกสารวิชาการและจากการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนไทใหญ่ในโครงการดนตรีหลากเผ่าพันธุ์สร้างสรรค์คนดี โรงเรียนบ้านเวียงหวาย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และของเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมอำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน ประกอบด้วยเรื่องราวต่างๆ ดังนี้ “ประเพณี 12 เดือน” “ประเพณีการเกิด การแต่งงาน การตาย” “ประเพณีกาดหลู่” “การแสดงจ้าดไต” “เฮินไต” และ “ภาษาไทใหญ่” โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้แต่ละพื้นที่นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานสืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาของตนเอง และใช้เป็นเครื่องมือสำหรับสื่อสารให้ความรู้กับคนในชุมชนและเยาวชน ร่วมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจศึกษาองค์ความรู้ภูมิปัญญาต่างๆ ของศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ
องค์ความรู้ด้านประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ
เครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ ได้รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมเดปอทู่ จากชนเผ่าปกาเกอะญอ อ.แม่แจ่ม เชียงใหม่, พิธีกรรมการมัดมือ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่, พิธีกรรมอ้อผญา และนิทานเรื่องแม่กาเผือก มาร้อยเรียงเป็นหนังสือองค์ความรู้ด้านประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติ ผ่านความเชื่อ วิถีชีวิต และความผูกพัน ว่าแท้จริงแล้ว แผ่นดินและแม่น้ำล้วนมีธรรมชาติเป็น “เจ้าของ” มนุษย์เป็นเพียงผู้มาขอใช้ และเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น