ความตาย ภาวะใกล้ตาย สื่ออย่างไรให้เข้าถึงใจ
วิกฤตที่สุดในชีวิตของมนุษย์ คือการรู้ตัวว่าอยู่ในสภาวะคนใกล้ตาย แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาที่เราเกิดมาทุกคนต้องตาย แต่การสื่อสารกับทั้งผู้ป่วย และผู้ดูแลผู้ป่วย ครอบครัวของผู้ป่วย จะทำอย่างไรให้เพิ่มพลังบวกให้กับชีวิตที่กำลังจะจากไป และที่ยังดำรงอยู่ การฟังอย่างกรุณา ไม่ด่วนตัดสิน พูดชื่นชมในสิ่งดี ๆ ที่เป็นความภาคภูมิใจและความสุขของกันและกัน นั่นคือ การส่งผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้เดินทางจากไปอย่างมีความสุข ส่วนผู้ดูแล ครอบครัว ที่ยังต้องก้าวเดินต่อไปก็จะอยู่กับความทรงจำที่สวยงามที่มีต่อกันตลอดไป
ความตาย พูดได้ พูดถึงความตายอย่างไรดี
ความตายเป็นความจริงของธรรมชาติที่คนเราอย่างไรก็ต้องเจอ เพียงแต่เราจะไม่รู้วันและเวลาที่แน่นอนว่าเมื่อไหร่...ความตายจะเข้ามาทักทายและนำคนที่เรารักหรือแม้กระทั่งตัวเราเองต้องจากครอบครัวไป ในสังคมจึงหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงความตาย เพราะถือว่าเป็นเรื่องเศร้า เรื่องไม่เป็นมงคล แต่แท้จริงแล้วการหาเวลาในการสื่อสารเรื่องความตายในครอบครัว หรือคนรอบข้างเป็นสิ่งที่เราควรสื่อสาร ควรพูด เพื่อใช้ช่วงเวลาในการเตรียมใจ และเตรียมตัวจากไปอย่างสงบทั้งผู้เดินทาง และผู้ส่งผู้เดินทางน็น
คลายโศก
ความสูญเสียจากคนที่เรารักย่อมนำมาซึ่งความโศกเศร้า การจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกนี้ต้องอาศัยระยะเวลา ไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว แต่ทุกชีวิตสามารถฟื้นฟู เยียวยา และดูแลตนเองได้ ขอเพียงเรามีกันและกัน และระลึกไว้เสมอมว่าความตายเป็นความจริงของชีวิต เราทำดีที่สุดแล้วในการส่งคนที่เรารักเดินทางไปสู่เส้นทางใหม่อย่างมีความสุข และเราเองก็ต้องก้าวต่อไปเพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เพื่อดูแลครอบครัวที่ยังอยู่เคียงข้างเรา
แลดู ผู้ดูแล แนวทางเยียวยา ผู้ดูแล ผู้ป่วยระยะท้าย
บางครั้ง “ผู้ดูแล” ผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็ต้องการการดูแล หนังสือ “แลดู ผู้ดูแล” เป็นการสะท้อนประสบการณ์จริงจากแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ และญาติผู้ป่วย ที่รับภาระหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายหรือผู้ป่วยเรื้อรัง ซึ่งมีแนวโน้มประสบความเครียด ความกดดัน และความทุกข์จากการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว อีกทั้งเผชิญกับปัญหาชีวิตด้าน อื่น ๆ ที่เป็นผลตามมาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แนวทางการดูแลผู้ดูแลเหล่านี้ ให้มีคุณภาพีชีวิตที่ดี หลังจากที่เขาหมดภาระหน้าที่ตรงนี้แล้วก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเติมเต็มพลังใจให้พวกเขาก้าวหน้าต่อไปอย่างมีความสุข
เก็บสุข กลางทุกข์
คนที่ต้องเผชิญความเจ็บป่วยระยะสุดท้าย ทั้งผู้ป่วยเอง หรือผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย กระทั่งบุคลากรสุขภาพที่ต้องเกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะสุดท้าย ย่อมหลีกหนีความรู้สึกโศกเศร้าและเจ็บปวดไม่ได้ แต่ทำอย่างไรเราจะพลิกความรู้สึกนั้นให้เป็นพลังใจที่แข็งแกร่งขึ้นมา ใช่ !!! นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เราจะค้นหาความสุข ท่ามกลางความทุกข์ได้ด้วยวิธีไหน ? อย่างไร ? หนังสือเก็บสุข กลางทุกข์ จะพาไปพบคำตอบจากบันทึก 23 เรื่อง จาก 14 ผู้เขียนที่จะแบ่งปันแนวคิดและทัศนคติเชิงบวก แนะวิธีการปฏิบัติตนอย่างมีสติ เตรียมตัวและเตรียมใจในการรับมือ รวมทั้งบอกเล่าการเติมเต็มหัวใจที่โศกเศร้าให้อบอุ่นจากกำลังใจคนรอบข้าง เพื่อส่งแรงหนุนให้เราก้าวข้ามเรื่องราวต่าง ๆ ไปอย่างเข้มแข็ง
ปทานุกรมความตาย
ทุกวันที่คนเราคิดถึงแต่การใช้ชีวิตที่ดี แต่จะมีสักกี่คนที่มองไปยังปั้นปลายของชีวิต ว่าเราควรจะจากไปอย่างสงบหรือตายดีได้อย่างไร ? หนังสือ ปทานุกรมความตาย เป็นการรวบรวมคำศัพท์เกี่ยวกับการเตรียมตัวตาย ที่เราทุกคนสามารถศึกษาและวางแผนเพื่อเผชิญความตายอย่างสงบ เพื่อนำไปสู่การตายดี คือปลอดจากความทุกข์ทรมาน ความวิตกกังวล และความหวาดกลัว พร้อมที่จะเดินทางไปสู่โลกหน้าอย่างสงบสุข
สมุนไพรในพระไตรปิฎก
ในยุคปัจจุบันที่คนไทยได้หันกลับมาส่งเสริมการใช้สมุนไพร การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์แผนไทยกันอย่างจริงจังมากขึ้น หนังสือ “สมุนไพรในพระไตรปิฎก” จัดทำขึ้นเพื่อ ค้นคว้า ศึกษาพืชในพระไตรปิฎกและจำแนกพืชตามหลักชื่อทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการปลูกพืชหรือสมุนไพรให้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเป็นการต่อยอดและเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจค้นคว้าสามารถศึกษาเรียนรู้ได้ต่อไป
พระพุทธศาสนากับภูมิปัญญาสุขภาพในสังคมไทย
หนังสือ “พระพุทธสาสนากับภูมิปัญญาสุขภาพในสังคมไทย” เป็นการนำเสนอเนื้อหาสาระความรู้ ที่ได้จากการศึกษาในหลักธรรมคำสอนในคัมภีร์ต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา เพื่อนำเสนอความเข้าใจเกี่ยวกับ “พระธรรมวินัย” และ “พระพุทธศาสนาของชาวบ้าน” ซึ่งเป็นที่มาของการนำภูมิปัญญาสุขภาพในพระไตรปิฎกและภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนท้องถิ่น มาผสมผสานกันจนกลายมาเป็นการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน
การนวดในพระไตรปิฎกและสายธารแห่งการนวดไทย
หนังสือ “การนวดในพระไตรปิฎกและสายธารแห่งการนวดไทย” เล่มนี้เป็นการสืบค้น ประมวลหลักฐาน วิเคราะห์ บันทึกต่าง ๆ ที่เก่าแก่ในพระไตรปิฎกคัมภีร์ ที่ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างพระพุทธศาสนากับการแพทย์แผนไทยและการนวดไทย อีกทั้งการดูแลสุขภาพในทัศนะของพุทธศาสนาและเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเชิงประจักษ์ สำหรับการเรียนรู้และเป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์ พัฒนาภูมิปัญญาการนวดไทยต่อไป
การแพทย์ดั้งเดิมเมียนมา (พม่า) กับพระพุทธศาสนา
หนังสือ ”การแพทย์ดั้งเดิมเมียนมา (พม่า) กับพระพุทธศาสนา” เป็นการศึกษารวบรวมความรู้หลักการในพุทธศาสนาเพื่อใช้เป็นข้อมูลความรู้ในการสื่อสารสาธารณะ ให้เกิดการเรียนรู้บทบาทของพระพุทธศาสนาและการดูแลสุขภาพ โดยจะมุ่งเน้นสำรวจความเหมือนและต่างกันในการนำหลักแนวคิดจากพุทธศาสนามาใช้ในการแพทย์แบบดั้งเดิมของทั้งพม่าและแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งเป็นแนวทางให้กับแวดวงการแพทย์ดั้งเดิมของไทยในการเรียนรู้เข้าใจหลักการและแนวทางปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขว้างมากยิ่งขึ้น
One Moment เปลี่ยนชีวิต
บนโลกใบเดิมใบนี้ มีหลายครั้งหลายคราที่คนเรามักตั้งคำถามกับตนเอง ว่าทำไมโลกในวันนี้จึงดูวุ่นวาย สับสน และอยู่ยากมากขึ้นทุกวัน ปัญหารอบกายที่เกิดขึ้น...เกิดจากใคร ? เกิดจากใจเราที่คิดปรุงแต่งขึ้น หรือเกิดขึ้นเพราะความสัมพันธ์และระบบที่คนในสังคมคาดหวังไว้ แต่มิได้เป็นไปตามหวังจึงก่อเกิดเป็นปัญหาให้ต่างคนต่างเรียกร้องกันไม่จบสิ้น แท้จริงแล้วเราจะสามารถอยู่บนโลกใบเดิมนี้ได้อย่างเป็นสุขได้อย่างไร ? พบการเดินทางภายในกับ 40 ชีวิต 40 จุดเปลี่ยนสู่การตื่นรู้และเข้าใจความจริงของชีวิต เพื่อมองโลกใบเดิมในมุมมองใหม่ที่เป็นหนึ่งเดียวกับความจริงตามธรรมชาติ ลุกออกมาจากกรอบความคิดเดิมที่กักขังจิตใจสู่ความเป็นอิสระทางจิตและความคิดของการตื่นรู้ด้วยตนเองที่ใครก็ทำแทนเราไม่ได้...นอกจากตัวเราเอง
รายงานสรุปการถอดบทเรียนเวที International Conference on Fake News
E-book สรุปการถอดบทเรียนจากเวที International Conference on Fake News ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาข่าวลวงข่าวปลอม โดยได้รวบรวมสรุปสาระสำคัญของการประชุมจากวิทยากรทั้งไทยและต่างประเทศจำนวนกว่า 25 ท่านไว้ในหนังสือเล่มนี้อย่างครบถ้วน เพื่อเป็นการให้ความรู้และเป็นช่องทางหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของพลเมืองและสังคมในการรับมือกับปัญหาข่าวลวงที่ขณะนี้ก้าวสู่ปัญหาระดับโลก