สำหรับผู้บกพร่องการมองเห็น
สำหรับบุคคลทั่วไป สมัครเพื่อดาวน์โหลดไฟล์สื่อต่างๆ ภายในเว็บไซต์
ค้นหา
สุขภาวะทางปัญญาหรือการมีจิตวิญญาณในสถานที่ทำงาน คือ ตัวช่วยสำคัญที่มีอิทธิพลในการพัฒนาปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานภายในองค์การหรือการพัฒนาตัวบุคลากรในสถานที่ทำงาน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมการทำงานก็คือ ความฉลาดทางอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ ความสัมพันธ์ทางบวก การเห็นคุณค่าในตนเองและภาวะผู้นำ โดยปัจจัยเหล่านี้จะส่งเสริมหรือส่งผลกระทบต่อการทำงานในองค์รวม องค์การที่สนับสนุนสุขภาวะทางปัญญาและจิตวิญญาณในสถานที่ทำงานจะเป็นองค์การที่ตระหนักรู้ว่าผู้คนไม่ใช่เครื่องจักร แต่เป็นมนุษย์ที่แสวงหาความหมายและเป้าหมายในการทำงาน รวมถึงความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในองค์การ หลักสูตรและคู่มือการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาและจิตวิญญาณในสถานที่ทำงาน จัดทำขึ้นสำหรับผู้ที่สนใจหรือไม่เคยมีความคุ้นเคยในเรื่องนี้มาก่อน เพื่อนำไปปรับใช้พัฒนาให้เกิดแนวคิดเชิงบวกในการทำงานและการเปลี่ยนแปลงการทำงานภายในองค์การให้มีประสิทธิผล
วัยเพชร คือ วัยที่เปรียบได้ดั่ง ”เพชร”ที่ผ่านการเจียระไนด้วยประสบการณ์ แต่ด้วยความถดถอยทางร่างกายจึงทำให้วัยเพชร หรือผู้สูงอายุมีความรอบในการพิจารณาข้อมูลข่าวสารในโลกปัจจุบันน้อยลง "หลักสูตรวัยเพชรรู้เท่าทันสื่อ" เป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติในโครงการสูงวัยไม่เสพสื่ออย่างสุ่มเสี่ยงที่มีเนื้อหาสาระเรื่องการรู้เท่าทันสื่อและวิธีการถ่ายทอดเนื้อหาผ่านกิจกรรม เนื้อหาและวิธีการสอนในแต่ละบทมีลักษณะสั้นกระชับเข้าใจง่าย เพื่อให้ง่ายต่อการเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อและภูมิคุ้มกันในการบริโภคสื่อให้กับผู้สูงอายุให้ปลอดภัยจากการเสพข้อมูลข่าวสารในแต่ละวัน
การให้ที่แท้จริงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การให้วัตถุสิ่งของเสมอไป เวลา แรงกาย ทักษะความรู้ ความสามารถความรัก ความเมตตา หรือแม้แต่ รอยยิ้ม ก็นับว่าเป็นการให้ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมและตัวเราได้ เพียงแค่เรามีจิตอาสาที่ปรารถนาดีไม่นิ่งดูดายต่อสังคมหรือความทุกข์ยากของคนอื่นและพร้อมที่จะสละแรงกายแรงใจใช้สิ่งที่ตัวเองมีเข้าไปแบ่งปันให้กับสังคม นอกจากเราจะได้ช่วยเหลือและสร้างความสุขให้กับสังคมแล้วสิ่งที่เราจะได้รับ คือ การเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆ กับการรู้จักกับความสุขที่เรียบง่าย หัวใจอาสาคู่มือสร้างสุขในงานอาสา หนังสือเล่มนี้จะนำเราไปเปิดประสบการณ์ในมุมมองใหม่ๆ ที่มีคุณค่าที่เราจะได้รับในงานอาสาช่วยเหลือสังคม
บ่อยครั้งที่เราดูละครและเกิดอาการ “อิน” หรือ คล้อยตามพฤติกรรมของตัวละครในเรื่อง เพราะเนื้อหาและบทบาทของตัวละครในบางเรื่องอาจมีความคล้ายคลึงกับโลกแห่งความจริงในสังคม ละครโทรทัศน์ที่เราดูอยู่ทุกคืนจึงมีอิทธิพลโน้มน้าวพฤติกรรมของคนในสังคมได้ง่าย อีกทั้งละครโทรทัศน์เองยังเป็นสื่อที่เข้าถึงกลุ่มคนดูได้ง่ายที่สุด การผลิตละครโทรทัศน์ให้มีคุณภาพที่ดี นอกจากจะให้ความสนุกเพลิดเพลินแล้ว ควรให้ทั้งแง่คิดและสร้างทัศนคติที่ดีต่อคนดูและสังคม หลักสูตรการสร้างสรรค์บทละครโทรทัศน์ เพื่อการสร้างสรรค์ละครโทรทัศน์ในมิติใหม่ ที่สามารถส่งเสริมสังคมให้เกิดปัญญาและชักนำคนดูให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า โดยยังคงไว้ซึ่งความกลมกลืนระหว่างพาณิชย์และศิลปะ เพื่อความสุนทรีย์ในชีวิตของคนในสังคม
หลายคนคงจะไม่เคยรู้มาก่อนว่าตัว “สลอธ” ที่เคลื่อนไหวร่างกายได้สุดแสนจะเชื่องช้านั้น ที่จริงแล้ว พวกเขารู้จักการใช้ชีวิตและรู้สำนึกถึงคุณค่าของธรรมชาติมากกว่ามนุษย์อย่างเราๆ เสียอีก ในโลกของมนุษย์ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยระบบเสรีนิยมและการแข่งขัน เราใช้ชีวิตกันอย่างรีบเร่งเน้นสร้างปริมาณและให้คุณค่ากับวัตถุมากกว่าจิตใจ เพราะมีกรอบความเชื่อแบบเดิมๆ ตามฝั่งตะวันตกว่า ยิ่งมีมากยิ่งสุขมาก แต่ยิ่งเรามีมากก็เท่ากับเราต้องเบียดเบียนธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากขึ้น ถ้าหากเราลองเปลี่ยนกรอบความคิดเดิมให้กลับมาใช้วิถีชีวิตแบบตะวันออก ที่ใช้ชีวิตให้ช้าลง ใจเย็นลง เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติมากขึ้น เราจะค้นพบว่า เราได้สร้างการเบียดเบียนชีวิตอื่นน้อยลง เรามีความสุขง่ายขึ้นและมองเห็นคุณค่าของสิ่งเล็กๆ ได้ง่ายมากขึ้น
ผลงานวิจัยประชาธิปไตยเชิงลึกที่จะทำให้เราเข้าใจความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” ในมิติที่ลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณ พร้อมทั้งจะสร้างประสบการณ์แห่งการตระหนักรู้ในความจริงที่สอดคล้องกันระหว่างโลกภายในและภายนอก ประชาธิปไตยเชิงลึกนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ชุดความคิดทางการเมือง แต่ยังเป็นวิธีการทำงานกับผู้คน วิธีการพัฒนาตนเองในระดับปัจเจกบุคคล รวมถึงเทคนิคและกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพื่อการสร้างชุมชนและสังคมที่เข้มแข็ง
“ชีวิตคือการเดินทางอยู่ทุกขณะจิต” มนุษย์เราเริ่มออกเดินทางตั้งแต่วินาทีแรกที่เราเกิดมาและระหว่างการเดินทางนั้น เราได้เรียนรู้ ได้ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากสิ่งที่เราได้ประสบพบเจอในสังคมและตลอดเวลาเราต้องเผชิญกับสิ่งที่ทำให้เราสับสนหรือแม้กระทั่งรู้สึกหมดคุณค่าในตัวตน แล้วการเดินทางแบบไหนที่จะสร้างคุณค่าและการตระหนักรู้ให้กับเรา? คู่มือเตรียมการเดินทางค้นหาตัวเองในธรรมชาติแห่งป่าเขา หรือ นิเวศภาวนา ฉบับปี 2563 คือ คู่มือเตรียมความพร้อมในการเดินทางกลับสู่บ้านภายในที่จะนำเรากลับไปค้นหาตัวตนและคุณค่าที่แท้จริงของเราอย่างตระหนักรู้และเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เพื่อนำคุณค่าที่เราค้นพบในธรรมชาติกลับมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเราและสังคม
เมื่อพบกับความขัดแย้งเรามักนึกถึงอยู่แค่คำว่า แพ้หรือชนะ กรอบความคิดเหล่านี้ล้วนมาจากจิตใต้สำนึกและมีอิทธิพลต่อท่าทีที่เราสื่อสารกับผู้อื่น การจะเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่การเรียนรู้และเติบโตได้นั้น เราต้องมีความตระหนักรู้ทั้งกาย ใจ ความคิด ความสัมพันธ์ เข้าใจอัตลักษณ์ตัวตนของผู้อื่นและตระหนักรู้ถึงความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ในตัวตนของเรา สัมพันธภาพกับการคลี่คลายความขัดแย้งชุดนี้ จะพาเราเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่การเรียนรู้ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงแก่นแท้และช่วยให้เราตอบรับกับสถานการณ์ความขัดแย้งต่างๆ ด้วย “สติ” และ “ความเข้าใจ”
ยิ่งสังคมมีความเจริญก้าวหน้ามากเท่าไร ช่องว่างและความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนในสังคมยิ่งมีให้เห็นมากขึ้น ผู้คนเคยชินกับการแข่งขันและให้คุณค่ากับวัตถุมากกว่าเรื่องของจิตใจและคุณธรรม ชุมชนเก่าแก่ในประเทศไทยและในหลายประเทศต้องผจญกับการถูกไล่ที่เพื่อการพัฒนาเมือง ทั้งนี้เพราะมีเหตุปัจจัยมาจากระบบเสรีนิยมที่ให้คุณค่ากับการแข่งขันและการค้าอย่างเสรี การจัดระบบชุมชนและขบวนการทางสังคม ไม่เพียงแค่เข้ามาช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่คนในชุมชนในการต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเท่านั้น แต่ยังให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกเรื่องความเท่าเทียมแก่กลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม ซึ่งถือเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและปรับสมดุลการครอบครองทรัพยากรในโลกได้จริง
โรคภัยไข้เจ็บของมนุษย์ที่ปรากฏให้เห็นทางกายภาพ ที่จริงแล้ว บางสาเหตุของอาการมีที่มาจากปมที่ฝังลึกในจิตใจ และปมเหล่านี้มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่สร้างความกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง จนส่งผลให้ร่างกายสร้างปฏิกิริยาตอบโต้ หรือ เกราะป้องกันตัว เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับอดีต อาจจะปรากฏให้เห็นในรูปแบบความผิดปกติต่างๆ ทางร่างกาย หรือ รูปแบบนิสัยบางอย่าง แต่กลไกทางสมองของมนุษย์เองก็มีศักยภาพในการเยียวยารักษาตัวเองได้เช่นกัน เพราะกายกับจิตมีความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียว การเยียวยารักษาปมที่ฝังในจิตใจจึงต้องเริ่มจากการฝึกฝนให้ตัวเองกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ ละทิ้งความคิดที่สร้างอคติ ยอมรับตัวตนและการช่วยเหลือจากผู้อื่น เพื่อปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากความทุกข์และการใช้ชีวิตในรูปแบบเดิมๆ
หลายๆ คนอาจจะไม่เคยคิดคำนวณจำนวนไฟฟ้าที่เราใช้ในชีวิตประจำวันว่าเราใช้ไปมากน้อยเท่าไร อีกทั้งอาจจะไม่ได้นึกไปไกลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้ไฟฟ้าของเราในแต่ละวัน ในประเทศไทยเมื่อมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทางรัฐก็ต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเท่ากับทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรเพิ่มขึ้นและยังไม่นับผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมาในภายหลัง เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมชุดนี้ มาพร้อมกับเกร็ดความรู้ในเรื่องผลกระทบในการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างสิ้นเปลืองและวิธีการประหยัดพลังงาน ที่เราในฐานะผู้บริโภคสามารถนำไปศึกษาและประยุกต์ใช้งานได้จริง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประเทศของเราและช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติได้อีกทาง
คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เนื้อหาบรรจุทั้งแนวคิดเบื้องต้น 8 กิจกรรมการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะพลเมืองเท่าทันสื่ออย่างรอบด้าน ทั้งการเข้าใจตนเอง การรู้เท่าทันอารมณ์ การเคารพสิทธิ์ผู้อื่น การคำนึงถึงความเสี่ยงและความปลอดภัยในโลกออนไลน์ ฯลฯ ปิดท้ายด้วยแบบวัดประเมินทั้งความรู้และทักษะการรู้เท่าทันสื่อ คู่มือนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเรียนรู้ในครอบครัวและกิจกรรมต่างๆ นอกห้องเรียนสำหรับเด็กในกลุ่มวัยเดียวกัน
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่.